บาลีวันละคำ

รามคำแหง (บาลีวันละคำ 564)

อุภัยเจษฎุทิศ

(สืบเนื่องมาจาก “ชมัยมรุเชฐ”)

อ่านว่า อุ-ไพ-เจด-สะ-ดุ-ทิด

อ่านตามหลักคำสมาสว่า อุ-ไพ-ยะ-เจด-สะ-ดุ-ทิด

ประกอบด้วย อุภัย + เจษฏา + อุทิศ

อุภัย” บาลีเป็น “อุภย” (อุ-พะ-ยะ) คำในชุดนี้มีอีก 2 คำ คือ “อุภ” (อุ-พะ) และ “อุโภ” (อุ-โพ) แปลว่า ทั้งคู่, ทั้งสอง, ทั้งสองประการ (หลักนิยมของคำนี้ในภาษาบาลีไม่ได้เน้นที่จำนวน 2 แต่เน้นที่ความเป็นคู่ เช่น บิดากับมารดา สามีกับภรรยา มือทั้งสอง เท้าทั้งสอง ดวงตาทั้งคู่)

เจษฎา” (เจด-สะ-ดา) บาลีเป็น “เชฏฺฐ” (เชด-ถะ) สันสกฤตเป็น “เชฺยษฺฐ” แปลว่า เลิศ, ยอด, พี่ชายหรือพี่สาวคนโต (ดูเพิ่มเติมที่ “ชมัยมรุเชฐ” บาลีวันละคำ (565) 2-12-56)

พจน.42 มีคำว่า “เจษฎา” แปลว่า ผู้เป็นใหญ่ที่สุด, พี่ และมีคำว่า “เชษฐา” (นิยมใช้ในบทกลอน) แปลว่า พี่ชาย, คู่กับ กนิษฐา คือ น้องสาว

เจษฎา” กลายมาจาก “เชษฐา” นั่นเอง

อุทิศ” บาลีเป็น “อุทฺทิสฺส” (อุด-ทิด-สะ) สันสกฤตเป็น “อุทฺทิศฺย” ภาษาไทยใช้ว่า “อุทิศ” (อุ-ทิด) ไม่ตามทั้งบาลีทั้งสันสกฤต

อุทิศ” ในภาษาไทยมีความหมายว่า –

1. “ให้, ยกให้” เช่น ขออุทิศส่วนบุญให้แก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว

2. “ทําเพื่อ” เช่น เพลงนี้อุทิศเพื่อเธอ, หนังสือเล่มนี้อุทิศแด่คุณพ่อและคุณแม่

3. “สละให้โดยเจาะจง” เช่น ชีวิตนี้ขออุทิศให้แก่แผ่นดิน

(ดูเพิ่มเติมที่ “อุทฺทิสฺส” บาลีวันละคำ (167) 22-10-55)

อุภัย + เจษฏา + อุทิศ = อุภัยเจษฎุทิศ (-ฎา + อุ– = ฎู (มีสระ อุ ใต้ ชฎา) อ่านว่า ดุ-) แปลว่า “อุทิศให้แด่พี่ทั้งสอง”

อุภัยเจษฎุทิศ” เป็นชื่อสะพานข้ามคลองขื่อหน้า ถนนซางฮี้ (ปัจจุบันคือถนนราชวิถี) กรุงเทพมหานคร

สะพานนี้สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ขณะดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช กรมขุนสงขลานครินทร์ มีพระดำริให้ก่อสร้างขึ้นใน พ.ศ.2452 เนื่องจากทรงเจริญพระชนมายุ 17 พรรษา เสมอด้วยพระชนมายุของสมเด็จพระเชษฐา 2 พระองค์ คือ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฏราชกุมาร และ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าสมมุติวงศ์วโรทัย กรมขุนศรีธรรมราชธำรงฤทธิ์ ซึ่งสวรรคตและสิ้นพระชนม์ไปแล้ว จึงมีพระประสงค์จะสร้างสะพานให้เป็นถาวรวัตถุอุทิศถวาย

ปัจจุบันสะพานนี้ไม่มีแล้ว ชื่อของสะพานได้กลายเป็นชื่อสี่แยก คือ แยกอุภัยเจษฎุทิศ (อักษรอังกฤษที่ป้ายสะกดว่า Uphaichetsaduthit)

พระราชปณิธานอันเป็นอมตวาจาของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก ผู้สร้างสะพาน “อุภัยเจษฎุทิศ” ก็คือ –

——————-

ขอให้ถือประโยชน์ส่วนตัวเป็นที่สอง

ประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์เป็นกิจที่หนึ่ง

ลาภ ทรัพย์ และเกียรติยศ จะตกแก่ท่านเอง

ถ้าท่านทรงธรรมะแห่งอาชีพไว้ให้บริสุทธิ์

——————-

: ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ท่านทำประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์อย่างบริสุทธิ์ใจ

คนที่มาไล่ท่านก็คือโจร

: ถ้าพิสูจน์ได้ว่า ท่านทำประโยชน์ตนบนประโยชน์ของเพื่อนมนุษย์

ท่านก็กำลังเป็นโจรเสียเอง

———————-

(สนองคำเสนอของ Pornthep Praditchaikul)

บาลีวันละคำ (569)

6-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย