กาลกิริยา (บาลีวันละคำ 3,986)
กาลกิริยา
แปลว่า “ทำกาล” คือทำอะไรที่นึกไม่ถึง
แต่สิ่งนั้นนึกหรือไม่นึกก็มาถึง
อ่านว่า กา-ละ-กิ-ริ-ยา
ประกอบด้วยคำว่า กาล + กิริยา
(๑) “กาล”
บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ก-(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล)
: กลฺ + ณ = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน
“กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :
(1) เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)
(2) เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)
(3) มรณกาล, ความตาย (time of death, death)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาล ๑, กาล– : (คำนาม) เวลา, คราว, ครั้ง, หน. (ป., ส.).”
(๒) “กิริยา”
อ่านว่า กิ-ริ-ยา รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, แปลง อะ ที่ ก-(รฺ) เป็น อิ (กรฺ > กิรฺ), ลง อิ อาคม ที่ (ก)-ร (กรฺ > กิรฺ > กิริ) + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์
: กรฺ > กิรฺ + อิ = กิริ + ณฺย = กิริณฺย > กิริย + อา = กิริยา แปลตามศัพท์ว่า “การกระทำ” ความหมายทั่วไป คือ การกระทำ, การปฏิบัติ, กรรม; การที่กระทำลงไป (action, performance, deed; the doing)
“กิริยา” ตามความหมายพิเศษ คือ การสัญญา, การสาบาน, การอุทิศ, การตั้งใจ, คำปฏิญาณ; ความยุติธรรม (promise, vow, dedication, intention, pledge; justice)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กิริยา : (คำนาม) การกระทำ; อาการที่แสดงออกมาทางกาย, มารยาท, เช่น กิริยานอบน้อม กิริยาทราม. (ป.).”
กาล + กิริยา = กาลกิริยา (กา-ละ-กิ-ริ-ยา) แปลตามศัพท์ว่า “กระทำซึ่งกาละ”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กาลกิริยา” ว่า “fulfilment of one’s time” i. e. death (“การกระทำกาละ” คือความตาย)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า –
…………..
กาลกิริยา : “การกระทำกาละ”, การตาย, มรณะ.
…………..
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“กาลกิริยา : (คำนาม) ความตาย เช่น ถึงซึ่งกาลกิริยา. (ป.).”
ขยายความ :
ค่าว่า “กาล” ที่หมายถึง “ความตาย” นั้น ไม่เป็นที่คุ้นหรือรู้จักกันในหมู่คนไทยและในภาษาไทย แต่ในภาษาบาลี “กาล” ในความหมายพิเศษหมายถึง “ความตาย” อีกด้วย
“กาล” ที่หมายถึง “ความตาย” ที่นักเรียนบาลีคุ้นกันดี เช่น :
– กาลํ กโรติ = “เขาทำกาล = เขาอิ่มต่อเวลา” (“he does his time=he has fulfilled his time”)
– กาลกต = ความตาย (death)
ในภาษาไทย “กาล” ที่หมายถึง ความตาย ที่พอจะผ่านหูผ่านตากันอยู่บ้าง แต่ส่วนมากไม่คุ้น ก็ “กาลกิริยา” คำนี้ และมีเก็บไว้ในพจนานุกรมฯ ด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: พระพุทธศาสนาสอนให้ระลึกถึงความตาย
: แต่ไม่ได้สอนให้นั่งๆ นอนๆ รอความตาย
#บาลีวันละคำ (3,986)
12-5-66
…………………………….
…………………………….