จับสึก (บาลีวันละคำ 4,322)
จับสึก
บาลีว่าอย่างไร
คำบาลีที่มีความหมายตรงกับคำว่า “จับสึก” ในภาษาไทย คือคำว่า “นาสน” อ่านว่า นา-สะ-นะ รากศัพท์มาจาก นส (ธาตุ = ไม่เห็น) + เณ ปัจจัย, ลบ ณ, + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบสระหน้า คือ เอ ที่ เส (นเสน > นสน),ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (นสฺ > นาส)
: นสฺ + เณ = นสเณ > นเส + ยุ > อน = นเสน > นสน > นาสน แปลตามศัพท์ว่า “การทำให้ไม่เห็น” (คือให้ออกไป ไม่ให้เห็นตัวอีก)
นาสน + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ ได้รูปเป็น “นาสนา” ก็มี
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “นาสน” ว่า การนาสนะ, การให้สึก, การให้สละสมณเพศ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นาสน” ว่า destruction, abandoning, expulsion (การทำลาย, การยกเลิก, การขับไล่)
มีคำบาลีที่มีความหมายทำนองเดียวกับ “นาสน” อีก 2 คำ คือ “นิสฺสารณ” และ “ปพฺพาชน”
“นิสฺสารณ” อ่านว่า นิด-สา-ระ-นะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = ไม่มี, ออก) + สรฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + เณ ปัจจัย, ลบ ณ, + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ) แล้วแปลง น เป็น ณ, ซ้อน สฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (นิ + สฺ + สรฺ), ลบสระหน้า คือ เอ ที่ เร (นิสฺสเรน > นิสฺสรน), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (สรฺ > สาร)
: นิ + สฺ + สรฺ = นิสฺสรฺ + เณ = นิสฺสรเณ > นิสฺสเร + ยุ > อน = นิสฺสเรน > นิสฺสรน > นิสฺสรณ > นิสฺสารณ แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมเป็นเหตุให้ออกไป” หมายถึง การขับออกจากหมู่
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิสฺสารณ” ว่า going or driving out, expulsion (การออกไปหรือขับออก, การไล่ออก)
“ปพฺพาชน” อ่านว่า ปับ-พา-ชะ-นะ รากศัพท์มาจาก ป (คำอุปสรรค = ทั่ว, ข้างหน้า, ก่อน, ออก) + วชฺ (ธาตุ = ไป, ถึง), แปลง ว เป็น พ (วชฺ > พชฺ), ซ้อน พฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ (ป + พฺ + พชฺ), + เณ ปัจจัย, ลบ ณ, + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลบสระหน้า คือ เอ ที่ เช (ปพฺพเชน > ปพฺพชน), ทีฆะ อะ ต้นธาตุเป็น อา (พชฺ > พาช)
: ป + พฺ + วช > พชฺ = ปพฺพชฺ + เณ = ปพฺพชเณ > ปพฺพเช + ยุ > อน = ปพฺพเชน > ปพฺพชน > ปพฺพาชน แปลตามศัพท์ว่า “การให้ออกไป” หมายถึง การขับออกจากหมู่
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปพฺพาชน” ว่า keeping out or away, removing, banishment, exiling (การกันออกไป, การปลดออก, การกำจัด, การขับออก, การเนรเทศ)
“นาสน” เขียนแบบคำไทยเป็น “นาสนะ”
“นิสฺสารณ” เขียนแบบคำไทยเป็น “นิสารณะ” (ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง)
“ปพฺพาชน” เขียนแบบคำไทยเป็น “ปัพพาชนะ”
“นาสนะ” และ “นิสารณะ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
“ปัพพาชนะ” มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ –
“ปัพพาชนะ : (คำแบบ) (คำนาม) การขับไล่. (ป.).”
อภิปรายขยายความ :
ถ้าดูตามคำแปล จะเห็นว่า “นาสนะ” “นิสารณะ” และ “ปัพพาชนะ” มีความหมายเพียง “ขับออกจากหมู่” เท่านั้น ดูเหมือนจะไม่ตรงกับคำว่า “จับสึก”
“จับสึก” ตามที่เรานึกเป็นภาพ คือไปจับกุมตัวมา แล้วถอดจีวรออกจากตัว ต้องทำอย่างนี้จึงจะเป็นการ “จับสึก”
ภิกษุถูกบังคับให้ถอดจีวรออกจากตัวก็ดี คนอื่นมายื้อแย่งจีวรออกจากตัวก็ดี ถูกบังคับให้กล่าวคำลาสิกขาโดยไม่ได้สมัครใจก็ดี การกระทำดังกล่าวนี้ตัวภิกษุนั้นมิได้มีความประสงค์หรือเต็มใจที่สละเพศภิกษุแต่ประการใดทั้งสิ้น และแม้ถูกกระทำบังคับเช่นนั้น จิตใจก็ยังต้องการดำรงเพศภิกษุอยู่ตลอดเวลา
การกระทำดังกล่าวนี้ ตรงกับที่เราเข้าใจกันว่า นี่คือการ “จับสึก”
ถามว่า ภิกษุที่ถูกกระทำดังว่านี้ เป็นอันพ้นจากสมณเพศตามพระธรรมวินัยหรือไม่?
โปรดศึกษาตรวจสอบหลักพระธรรมวินัย
การคิดเอาเอง การพูดไปตามความเข้าใจเอาเอง ไม่ใช่คำตอบที่ยุติ
เมื่อมีภิกษุประพฤติเลวทรามต่ำช้าจนไม่เป็นที่ประสงค์ของหมู่คณะหรือของสังคม หลักพระธรรมวินัยท่านใช้วิธี “ขับออกจากหมู่” ซึ่งดูเหมือนจะไม่ใช่วิธีแก้ปัญหา คือคนทั่วไปจะคิดว่า ขับออกจากวัดนี้ ก็ไปอยู่วัดโน้นได้อีก
แต่คำว่า “หมู่” นั้น ท่านหมายถึงคณะสงฆ์ทั้งหมด หรือพูดให้ถึงที่สุดก็ย่อมหมายถึงวิถีชีวิตสงฆ์นั่นเอง “ขับออกจากหมู่” จึงหมายถึงขับออกจากวิถีชีวิตสงฆ์
หมายความว่า มีผู้ดำรงวิถีชีวิตสงฆ์อยู่ที่ไหน ภิกษุที่ประพฤติเลวทรามต่ำช้าไปขออยู่ที่นั่น ก็ขับออกจากที่นั่นทุกแห่งไป ใช้สำนวนสมัยใหม่ก็ตรงกับที่พูดกันว่า คณะสงฆ์ไม่ต้อนรับ
บุคคลผู้ประพฤติเลวทรามต่ำช้าจนไม่เป็นที่ประสงค์ของหมู่คณะหรือของสังคมนั้น จะไปแสดงตัวว่าเป็นภิกษุอยู่ที่ไหน ก็ย่อมเป็นที่รู้กันทั่วไปว่า ผู้นี้คือบุคคลที่คณะสงฆ์ไม่ต้อนรับ เขาจะเป็นภิกษุอยู่ในพระศาสนานี้ได้อย่างไร
นี่คือผลที่ประสงค์ของการลงโทษด้วยวิธี “ขับออกจากหมู่”
…………..
ยังมีผู้เข้าใจสับสนไปว่า ภิกษุจะถูกลงโทษถึงขั้น “จับสึก” (“ขับออกจากหมู่”) ได้ จะต้องกระทำความผิดฐานล่วงละเมิดอาบัติปาราชิกเท่านั้น ดังจะให้เข้าใจว่า แม้กระทำความผิดฐานล่วงละเมิดอาบัติปาราชิกแล้ว แต่ถ้ายังไม่ถูก “จับสึก” ก็ยังคงเป็นภิกษุอยู่ จะขาดจากความเป็นภิกษุก็ต่อเมื่อถูกจับสึกแล้วเท่านั้น
โปรดทราบว่า เข้าใจเช่นนั้นผิดพลาดลาดเคลื่อนจากหลักพระธรรมวินัย
ภิกษุที่ประพฤติล่วงละเมิดอาบัติปาราชิก ไม่ต้องถูกลงโทษด้วยการ “จับสึก” เลย เพราะการล่วงละเมิดอาบัติปาราชิกนั้นเป็นเหตุให้ขาดจากความเป็นภิกษุในทันทีที่ความผิดสำเร็จ พูดเป็นสำนวนว่า ผู้กระทำได้จับตัวเองสึกไปเรียบร้อยแล้ว จึงไม่ต้องให้ใครมาจับสึกอีก
อุปมาเหมือนผู้กระทำความผิดที่มีโทษถึงขั้นต้องถูกประหารชีวิต แต่ได้ฆ่าตัวตายไปแล้วเมื่อทำผิดสำเร็จ จึงไม่ต้องเอาไปประหารชีวิตซ้ำอีก
ความเข้าใจคลาดเคลื่อนยังมีสืบต่อไปอีกว่า ในเมื่ออาบัติปาราชิกเท่านั้นที่ภิกษุจะถูกลงโทษจับสึกได้ เมื่อภิกษุประพฤติล่วงละเมิดอาบัติอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ปาราชิก จึงไม่สมควรที่จะถูก “จับสึก” ซึ่งย่อมจะหมายความว่า ภิกษุแม้จะประพฤติเลวทรามต่ำช้าสักเพียงไร ถ้ายังไม่ถึงขั้นอาบัติปาราชิกแล้ว ก็ยังสมควรที่จะครองสมณเพศอยู่ต่อไปได้
ถ้าใช้หลักการนี้ ก็จะมีภิกษุที่ประพฤติเลวทรามต่ำช้าสารพัดเต็มไปทั้งสังฆมณฑลอย่างแน่นอน
เราต้องการให้เป็นอย่างนั้นหรือ?
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทะเลซัดเศษสวะขึ้นฝั่งฉันใด
: พระธรรมวินัยก็ซัดผู้ประพฤติเลวทรามออกไปฉันนั้น
#บาลีวันละคำ (4,322)
12-4-67 4,322
…………………………….
…………………………….