ปักขิกภัต (บาลีวันละคำ 3,994)
ปักขิกภัต
1 ในบิณฑบาตที่เป็นอดิเรกลาภ
…………..
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ:-
(1) อาหาร: ปิณฑิยาโลปโภชนะ = โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต
(2) เครื่องนุ่งห่ม: บังสุกุลจีวร = ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว
(3) ที่อยู่อาศัย: รุกขมูลเสนาสนะ = ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้
(4) ยารักษาโรค: ปูติมุตตเภสัช = ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง
ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวเฉพาะหมวดอาหารมี 7 อย่าง คือ:-
(1) สังฆภัต = ภัตถวายสงฆ์
(2) อุทเทสภัต = ภัตถวายภิกษุที่สงฆ์คัดเลือกให้
(3) นิมันตนภัต = ภัตในกิจนิมนต์
(4) สลากภัต = ภัตถวายตามสลาก
(5) ปักขิกภัต = ภัตถวายในปักษ์
(6) อุโปสถิกภัต = ภัตถวายในวันอุโบสถ์
(7) ปาฏิปทิกภัต = ภัตถวายในวันปาฏิบท
ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้
…………..
“ปักขิกภัต” อ่านว่า ปัก-ขิ-กะ-พัด ประกอบด้วยคำว่า ปักขิก + ภัต
(๑) “ปักขิก”
เขียนแบบบาลีเป็น “ปกฺขิก” อ่านว่า ปัก-ขิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก ปกฺข + อิก ปัจจัย
(ก) “ปกฺข” อ่านว่า ปัก-ขะ รากศัพท์มาจาก ปจฺ (ธาตุ = สุก) + ข ปัจจัย, แปลง จฺ ที่ ปจฺ เป็น ก (ปจฺ > ปกฺ)
: ปจฺ + ข = ปจฺข > ปกฺข (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “กาลเป็นเหตุสุกแห่งสิ่งที่เป็นอยู่” = ระยะเวลาครึ่งเดือน
“ปกฺข” ยังมีรากศัพท์มาจากธาตุตัวอื่นอีกหลายนัย เพื่อเป็นการเสริมความรู้ ขอนำความหมายของ “ปกฺข” ตามนัยต่างๆ มาแสดงไว้ ดังนี้ –
(1) ด้านข้างของร่างกาย, สีข้าง, ปีก, ขนนก (side of the body, flank, wing, feathers)
(2) ปีกข้างหนึ่งของบ้าน (wing of a house)
(3) ปีกนก (wing of a bird)
(4) ด้านข้าง, ส่วน (side, party, faction)
(5) ครึ่งเดือนทางจันทรคติ, หนึ่งปักษ์ (one half of the lunar month, a fortnight)
(6) ทางเลือก, คำแถลงของฝ่ายหนึ่งที่มีต่ออีกฝ่ายหนึ่ง (alternative, statement)
(7) (คุณศัพท์) ร่วมกับ, ผู้เข้าร่วมเป็นพวก, ลูกศิษย์หรือลูกน้อง (associated with, a partisan, adherent)
(8 ) (ในคำว่า “หตปกฺข”) ผู้ถูกบาดเจ็บ ฯลฯ เข้าที่ข้างหนึ่ง, เป็นอัมพาตไปข้างหนึ่ง, คนพิการ (one who is struck on one side, paralysed on one side, a cripple)
บาลี “ปกฺข” สันสกฤตเป็น “ปกฺษ” เราใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ปักษ์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายในภาษาไทยไว้ดังนี้ –
“ปักษ-, ปักษ์ : (คำนาม) ฝ่าย, ข้าง, เช่น ปักษ์ใต้, กึ่งของเดือนจันทรคติ คือ เดือนหนึ่งมี ๒ ปักษ์ ข้างขึ้นเรียก ศุกลปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายขาว หมายเอาแสงเดือนสว่าง) ข้างแรมเรียก กาฬปักษ์ (แปลว่า ฝ่ายดํา หมายเอาเดือนมืด), ครึ่งเดือน เช่น หนังสือรายปักษ์. (ส.; ป. ปกฺข).”
(ข) ปกฺข + อิก = ปกฺขิก (ปัก-ขิ-กะ) แปลว่า “ประกอบด้วยปักษ์” “เกี่ยวกับปักษ์” ฯลฯ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ปกฺขิก” ว่า belonging or referring to the [2] lunar fortnights, fortnightly, for a fortnight or in the [specified] fortnight of the month (เป็นของ หรือเกี่ยวกับปักษ์ทางจันทรคติ [2 ปักษ์], เป็นรายปักษ์, เป็นเวลาหนึ่งปักษ์หรือในปักษ์ [ที่กำหนดไว้] ของเดือน)
(๒) “ภัต”
บาลีเป็น “ภตฺต” อ่านว่า พัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง)
บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”
บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”
ปกฺขิก + ภตฺต = ปกฺขิกภตฺต (ปัก-ขิ-กะ-พัด-ตะ) แปลว่า “ภัตที่ถวายในปักษ์” หมายถึง อาหารที่ถวายแก่สงฆ์ตามกำหนดในรอบปักษ์ คือ 15 วันครั้งหนึ่ง
“ปกฺขิกภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปักขิกภัต” อ่านว่า ปัก-ขิ-กะ-พัด
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ยังไม่ได้เก็บคำว่า “ปักขิกภัต” ไว้
ขยายความ :
คำว่า “ปักขิกภัต” คำบาลีท่านใช้ว่า “ปกฺขิกํ” (ปักขิกัง) เขียนเป็นคำไทยว่า “ปักขิกะ” คำแปลเดิมท่านแปลว่า “ภัตถวายในปักษ์”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ปักขิกะ” ไว้ว่า –
………………….
ปักขิกะ: อาหารที่เขาถวายปักษ์ละครั้ง คือสิบห้าวันครั้งหนึ่ง.
………………….
“ปกฺขิกํ > ปักขิกะ” ในที่นี้ใช้เป็น “ปักขิกภัต” เพื่อให้เข้าชุดกับคำต้น และให้คำในชุดนี้ลงท้ายด้วยคำว่า “-ภัต” เสมอกัน
“ปักขิกภัต” จัดอยู่ในจำพวกอาหารที่ทายกกำหนดวันถวาย การกำหนดวันถวายอาหารนั้นอาจปรารภเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เทียบได้กับคนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม-เช่นเป็นเพื่อนร่วมเรียนมาด้วยกัน-กำหนดนัดหมายกันว่า เดือนหนึ่งนัดพบกัน รับประทานอาหารร่วมครั้งหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น
กรณีนี้ ทายกกำหนดนัดหมายกันว่า ครึ่งเดือนจัดอาหารไปถวายพระสงฆ์ครั้งหนึ่ง อาหารที่ถวายตามกำหนดนี้ เรียกว่า “ปักขิกภัต” = ภัตที่ถวายในปักษ์
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ทำงานหาเงิน ให้นึกว่าจะอยู่ไปได้ร้อยปี
: ทำบุญหาความดี ให้นึกว่าจะตายวันตายพรุ่ง
#บาลีวันละคำ (3,994)
20-5-66
…………………………….
…………………………….