อุโปสถิกภัต (บาลีวันละคำ 3,995)
อุโปสถิกภัต
1 ในบิณฑบาตที่เป็นอดิเรกลาภ
…………..
ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ:-
(1) อาหาร: ปิณฑิยาโลปโภชนะ = โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต
(2) เครื่องนุ่งห่ม: บังสุกุลจีวร = ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว
(3) ที่อยู่อาศัย: รุกขมูลเสนาสนะ = ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้
(4) ยารักษาโรค: ปูติมุตตเภสัช = ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง
ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวเฉพาะหมวดอาหารมี 7 อย่าง คือ:-
(1) สังฆภัต = ภัตถวายสงฆ์
(2) อุทเทสภัต = ภัตถวายภิกษุที่สงฆ์คัดเลือกให้
(3) นิมันตนภัต = ภัตในกิจนิมนต์
(4) สลากภัต = ภัตถวายตามสลาก
(5) ปักขิกภัต = ภัตถวายในปักษ์
(6) อุโปสถิกภัต = ภัตถวายในวันอุโบสถ์
(7) ปาฏิปทิกภัต = ภัตถวายในวันปาฏิบท
ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้
…………..
“อุโปสถิกภัต” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถิ-กะ-พัด ประกอบด้วยคำว่า อุโปสถิก + ภัต
(๑) “อุโปสถิก”
อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก อุโปสถ + อิก ปัจจัย
(ก) “อุโปสถ” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถะ รากศัพท์มาจาก อุป (คำอุปสรรค = เข้าไป, ใกล้, มั่น) + วสฺ (ธาตุ = อยู่) + อถ ปัจจัย, แปลง อะ ที่ (อุ)-ป กับ ว-(สฺ) เป็น โอ (อุป + วสฺ > อุโปส)
: อุป + วสฺ = อุปวสฺ > อุโปส + อถ = อุโปสถ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ธรรมเป็นที่เข้าจำ”, “กาลเป็นที่เข้าจำ” (คือเข้าไปอยู่โดยการถือศีลหรืออดอาหาร) (2) “กาลเป็นที่เข้าถึงการอดอาหารหรือเข้าถึงศีลเป็นต้นแล้วอยู่”
“อุโปสถ” ในภาษาบาลีมีความหมาย 4 อย่าง –
(1) การสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุกกึ่งเดือน = อุโบสถกรรม (biweekly recitation of the Vinaya rules by a chapter of Buddhist monks; the days for special meetings of the order, and for recitation of the Pāṭimokkha)
(2) การอยู่จำรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = อุโบสถศีล (observance; the observance of the Eight Precepts; the Eight Precepts observed by lay devotees on Uposatha days)
(3) วันสวดปาติโมกข์ของพระสงฆ์ และวันรักษาศีล 8 ของอุบาสกอุบาสิกา = วันอุโบสถ (Uposatha days)
(วันอุโบสถของพระสงฆ์ คือ ขึ้น 15 ค่ำ, แรม 15 ค่ำ หรือ 14 ค่ำเมื่อเดือนขาด, วันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกาเพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ)
(4) สถานที่สงฆ์ทำสังฆกรรม เรียกเต็มศัพท์ว่า “อุโปสถาคาร” หรือ “อุโปสถัคคะ” = โรงอุโบสถ คือที่เราเรียกว่า “โบสถ์” (the Uposatha hall; consecrated assembly hall)
“อุโปสถ” ใช้ในภาษาไทยว่า “อุโบสถ”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อุโบสถ ๑ : (คำนาม) เรียกสถานที่ที่พระสงฆ์ประชุมกันทําสังฆกรรมเช่นสวดพระปาติโมกข์ อุปสมบท ว่า โรงอุโบสถ หรือ อุโบสถ, เรียกย่อว่า โบสถ์; (ภาษาปาก) เรียกวันพระว่า วันอุโบสถ; เรียกการแสดงพระปาติโมกข์ของพระสงฆ์ทุก ๆ กึ่งเดือน คือ ในวันขึ้น ๑๕ ค่ำ และวันแรม ๑๕ ค่ำ หรือวันแรม ๑๔ ค่ำ ในเดือนขาด ว่า การทําอุโบสถ; เรียกการรักษาศีล ๘ ของคฤหัสถ์ว่า การรักษาอุโบสถ. (ป. อุโปสถ; ส. อุโปษธ, อุปวสถ).”
(ข) อุโปสถ + อิก = อุโปสถิก (อุ-โป-สะ-ถิ-กะ) แปลว่า “ประกอบด้วยวันอุโบสถ” “เกี่ยวกับวันอุโบสถ” ฯลฯ
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อุโปสถิก” ว่า
(1) belonging to the Uposatha, on every U., i. e. every fortnight (อันเป็นวันอุโบสถ, ทุก ๆ วันอุโบสถ, คือทุก ๆ กึ่งเดือน)
(2) observing the Sabbath, fasting (ผู้รักษาอุโบสถ, ผู้รักษาศีล 8, ผู้อดอาหาร)
หมายเหตุ: คำแปลของพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ที่ว่า i. e. every fortnight (คือทุก ๆ กึ่งเดือน) เป็นคำแปลที่เล็งถึงวันอุโบสถของพระสงฆ์ คือวันประชุมฟังพระปาติโมกข์ ซึ่งกำหนดทุกๆ กึ่งเดือน หรือ 15 วันครั้ง แต่ในกรณีที่เป็นวันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกา เพิ่มอีกสองวัน คือ ขึ้นและแรม 8 ค่ำ
“อุโปสถิก” ในคำว่า “อุโปสถิกภัต” นี้ เล็งถึงวันอุโบสถของอุบาสกอุบาสิกา จึงต้องเป็นทุกๆ 7 หรือ 8 วัน คือเดือนละ 4 วัน ไม่ใช่ทุกๆ กึ่งเดือน คือเดือนละ 2 วัน
อนึ่ง ถ้าเป็นทุกๆ กึ่งเดือน ก็จะไปซ้ำกับ “ปักขิกภัต” = อาหารที่ถวายในปักษ์ คือเดือนละ 2 วัน ซึ่งแยกเป็นภัตอีกชนิดหนึ่งอยู่แล้ว
(๒) “ภัต”
บาลีเป็น “ภตฺต” อ่านว่า พัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ต ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภชฺ + ต = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ”
(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ต ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น อ (ภุ > ภ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ
: ภุชฺ + ต = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน”
ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง)
บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
“ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”
บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”
อุโปสถิก + ภตฺต = อุโปสถิกภตฺต (อุ-โป-สะ-ถิ-กะ-พัด-ตะ) แปลว่า “ภัตที่ถวายในวันอุโบสถ” หมายถึง อาหารที่ถวายแก่สงฆ์ทุกวันพระ
“อุโปสถิกภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “อุโปสถิกภัต” อ่านว่า อุ-โป-สะ-ถิ-กะ-พัด
คำว่า “อุโปสถิกภัต” ยังไม่ได้เก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
ขยายความ :
คำว่า “อุโปสถิกภัต” คำบาลีท่านใช้ว่า “อุโปสถิกํ” (อุโปสะถิกัง) คำแปลเดิมท่านแปลว่า “ภัตถวายในวันอุโบสถ”
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต มีคำว่า “อุโปสถิกะ” และ “อุโปสถิกภัต”อธิบายไว้ว่า –
………………….
อุโปสถิกะ, อุโปสถิกภัต: อาหารที่เขาถวายในวันอุโบสถ คือ วันพระ ในเดือนหนึ่งสี่วัน, เป็นของจำพวกสังฆภัตหรืออุทเทสภัตนั่นเอง แต่มีกำหนดวันเฉพาะ คือ ถวายเนื่องในวันอุโบสถ.
………………….
“อุโปสถิกํ > อุโปสถิกะ” ในที่นี้ใช้เป็น “อุโปสถิกภัต” เพื่อให้เข้าชุดกับคำต้น และให้คำในชุดนี้ลงท้ายด้วยคำว่า “-ภัต” เสมอกัน
“อุโปสถิกภัต” จัดอยู่ในจำพวกอาหารที่ทายกกำหนดวันถวาย การกำหนดวันถวายอาหารนั้นอาจปรารภเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง เทียบได้กับคนที่รวมตัวกันเป็นกลุ่ม-เช่นเป็นเพื่อนร่วมเรียนมาด้วยกัน-กำหนดนัดหมายกันว่า เดือนหนึ่งนัดพบกัน รับประทานอาหารร่วมครั้งหนึ่ง อย่างนี้เป็นต้น
กรณีนี้ ทายกกำหนดนัดหมายกันว่า จัดอาหารไปถวายพระสงฆ์ทุกวันอุโบสถคือวันพระ อาหารที่ถวายตามกำหนดนี้ เรียกว่า “อุโปสถิกภัต” = ภัตที่ถวายในวันอุโบสถ
…………..
ดูก่อนภราดา!
เมื่อประมาณ 200 ปีมาแล้ว กะเหรี่ยงคนหนึ่งได้มาเที่ยวเมืองไทย เขาเห็นคนไทยไปทำบุญที่วัดทุกวันพระ เห็นคนไทยเริงร่า มีหน้าตาสดชื่นแจ่มใสเต็มไปด้วยความสุขที่ได้ไปวัด ได้ถวายทาน รักษาศีล เจริญภาวนา กะเหรี่ยงไม่รู้จักว่าสถานที่ที่คนไทยไปทำบุญนั้นเรียกว่าอะไร เขาได้กล่าวคำอันแสดงถึงสัจจะไว้ว่า –
: คนคริสเตียน ไปเชิร์ชทุกวันอาทิตย์
: คนมะหะหมัด ไปมัสยิดทุกวันศุกร์
: คนสยาม ไปสวนสนุกทุกวันพระ
ดูก่อนภราดา!
ถ้ากะเหรี่ยงคนนั้นยังมีชีวิตอยู่ และได้กลับมาเที่ยวเมืองไทยอีกในวันนี้ เขาคงจะดีใจที่คำกล่าวของเขายังคงเป็นความจริงอยู่จนถึงทุกวันนี้!
#บาลีวันละคำ (3,995)
21-5-66
…………………………….
…………………………….