บาลีวันละคำ

สลากภัต [2] (บาลีวันละคำ 3,993)

สลากภัต [2]

1 ในบิณฑบาตที่เป็นอดิเรกลาภ

…………..

ปัจจัยเครื่องอาศัยของบรรพชิตในพระพุทธศาสนา เมื่อแรกที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติ มี 4 อย่าง ที่เราเรียกรู้กันว่า “จตุปัจจัย” หรือ “ปัจจัยสี่” คือ:-

(1) อาหาร: ปิณฑิยาโลปโภชนะ = โภชนะที่ได้มาด้วยกำลังปลีแข้ง คือเที่ยวบิณฑบาต

(2) เครื่องนุ่งห่ม: บังสุกุลจีวร = ผ้านุ่งห่มทำจากผ้าที่เขาทิ้งแล้ว 

(3) ที่อยู่อาศัย: รุกขมูลเสนาสนะ = ที่อยู่อาศัยคือโคนไม้ 

(4) ยารักษาโรค: ปูติมุตตเภสัช = ยารักษาโรคคือน้ำมูตรดอง 

ต่อมา ทรงอนุญาตปัจจัยพิเศษในแต่ละอย่างเพิ่มขึ้นจากเดิม เรียกว่า “อดิเรกลาภ” กล่าวเฉพาะหมวดอาหารมี 7 อย่าง คือ:-

(1) สังฆภัต = ภัตถวายสงฆ์

(2) อุทเทสภัต = ภัตถวายภิกษุที่สงฆ์คัดเลือกให้

(3) นิมันตนภัต = ภัตในกิจนิมนต์

(4) สลากภัต = ภัตถวายตามสลาก

(5) ปักขิกภัต = ภัตถวายในปักษ์

(6) อุโปสถิกภัต = ภัตถวายในวันอุโบสถ์

(7) ปาฏิปทิกภัต = ภัตถวายในวันปาฏิบท 

ถ้ามีภัตเหล่านี้เกิดขึ้น จะไม่ต้องออกบิณฑบาตก็ได้ 

…………..

สลากภัต” อ่านว่า สะ-หฺลาก-กะ-พัด ประกอบด้วยคำว่า สลาก + ภัต

(๑) “สลาก

รูปคำเดิมในบาลีเป็น “สลากา” อ่านว่า สะ-ลา-กา รากศัพท์มาจาก สลฺ (ธาตุ = หวั่นไหว) + อาก ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์ 

: สลฺ + อาก = สลาก + อา = สลากา แปลตามศัพท์ว่า “ไม้ที่สั่นไหว” หรือ “ขยับได้” (ตรงกันข้ามกับติดตายอยู่กับที่ หรือแข็งทื่อ)

สลากา” ในบาลีใช้ในความหมายหลายอย่าง (บางความหมายไม่ได้เป็นไปตามรากศัพท์) ดังต่อไปนี้ :

(1) ธนู, ลูกดอก (an arrow, a dart)

(2) ไม้, หมุด, ราว (a small stick, peg, thin bar)

(3) ใบหญ้า (blade of a grass)

(4) โครงร่ม (ribs of a parasol)

(5) ดินสอ, ไม้เล็กๆ (ใช้ในเวลาทาตาด้วยน้ำมัน) (a pencil, small stick [used in painting the eyes with collyrium])

(6) เข็มชนิดหนึ่ง (a kind of needle)

(7) เครื่องมือศัลยกรรมอย่างหนึ่ง (a kind of surgical instrument, a stick of caustic)

(8 ) ไม้ตีฆ้อง (a gong stick)

(9) องคชาต (membrum virile)

(10) ไม้สลากที่ใช้ในเวลาลงคะแนนและแจกอาหาร, การออกเสียง, ฉลาก (a ticket consisting of slips of wood used in voting and distributing food, vote, lot)

อย่างไรก็ตาม “สลากา” ในความหมายที่เข้าใจทั่วไปคือ :

(๑) การลงคะแนนเพื่อให้ได้ตัวผู้มีสิทธิ์หรือผู้เป็นตัวการ เช่นในกรณีสิ่งของมีจำกัด แต่ผู้มีสิทธิ์จะได้รับมีหลายคน

(๒) กรรมวิธีสุ่มเลือก เช่นในกรณีสิ่งของมีครบตัวผู้รับ แต่ชนิดและคุณภาพต่างกัน ใครจะได้ของชิ้นไหน เป็นไปตามสลากที่จับ

บาลี “สลากา” ในภาษาไทยใช้เป็น “สลาก” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

สลาก : (คำนาม) สิ่งเช่นติ้ว ตั๋ว หรือแผ่นกระดาษเล็ก ๆ เป็นต้น ซึ่งทําเป็นเครื่องหมายกําหนดไว้เนื่องในการเสี่ยงโชคเสี่ยงทายเป็นต้น เช่น สลากภัต; ป้ายบอกชื่อยา ใช้ปิดขวดยารักษาโรค เรียกว่า สลากยา, ฉลาก ก็ว่า. (ป.; ส. ศลาก).”

(๒) “ภัต” 

บาลีเป็น “ภตฺต” อ่านว่า พัด-ตะ รากศัพท์มาจาก –

(1) ภชฺ (ธาตุ = เสพ, คบหา) + ปัจจัย, แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภชฺ + = ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของเป็นเครื่องเสพ” 

(2) ภุชฺ (ธาตุ = กลืนกิน, ใช้สอย) + ปัจจัย, แปลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น (ภุ > ), แปลง ชฺ เป็น ตฺ

: ภุชฺ + = ภุชต > ภชต > ภตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ของที่จะพึงกลืนกิน” 

ข้อความบางแห่งในคัมภีร์ คำว่า “ภตฺต” หมายถึง “ข้าวสุก” โดยเฉพาะ แต่โดยทั่วไป “ภตฺต” หมายถึง อาหาร (ไม่จำกัดว่าจะต้องเป็นข้าว)

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ภตฺต” (นปุงสกลิงค์) ว่า food, nourishment, meal, feeding (อาหาร, ของบำรุงเลี้ยงร่างกาย, อาหารที่เป็นมื้อ, การเลี้ยง) 

บาลี “ภตฺต” สันสกฤตเป็น “ภกฺต

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –

ภกฺต : (คำวิเศษณ์) อันมีความภักดีต่อ; อันเอาใจใส่; อันหุงหรือต้มแล้ว; attached to; attentive to; cooked or boiled; – (คำนาม) อาหาร; ข้าวอันหุงหรือต้มแล้ว; food; cooked or boiled rice.”

บาลี “ภตฺต” ภาษาไทยใช้เป็น “ภัต” และ “ภัตร” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ภัต, ภัต-, ภัตร : (คำนาม) อาหาร, ข้าว. (ป. ภตฺต).”

สลากา + ภตฺตลบสระหน้า” คือ อา ที่ (สลา)-กา (สลากา > สลาก

สลากา + ภตฺต = สลากาภตฺต > สลากภตฺต (สะ-ลา-กะ-พัด-ตะ) แปลว่า “ภัตที่ถวายตามสลาก” หมายถึง อาหารที่ถวายแก่ภิกษุโดยวิธีจับสลาก

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สลากภตฺต” ว่า food to be distributed by tickets (อาหารที่แจกโดยการจับสลาก) 

สลากภตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “สลากภัต” อ่านว่า สะ-หฺลาก-กะ-พัด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

สลากภัต : (คำนาม) อาหารแห้งหรือผลไม้ถวายพระโดยวิธีจับฉลาก เช่น สลากภัตข้าวสาร สลากภัตทุเรียน. (ป. สลากภตฺต).”

ขยายความ :

คำว่า “สลากภัต” คำบาลีท่านใช้ว่า “สลากภตฺตํ” (สะลากะภัตตัง) คำแปลเดิมท่านแปลว่า “ภัตถวายตามสลาก

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “สลากภัต” ไว้ว่า –

………………….

สลากภัต: อาหารถวายตามสลาก หมายถึงเอาสังฆภัตอันทายกเข้ากันถวาย ต่างคนต่างจัดมา เป็นของต่างกัน เขามักทำในเทศกาลที่ผลไม้เผล็ดแล้วถวายพระด้วยวิธีจับสลาก. 

………………….

อภิปราย :

ต้นเหตุเดิมของสลากภัตก็คือ ทายกหลายบ้านจัดอาหารหลายแบบ มาถึงวัดแล้ว คนนั้นก็อยากถวายพระนี้ คนนี้ก็อยากถวายพระนั้น ตกลงกันไม่ได้ ข้างพระเองเห็นอาหารแล้วก็อาจเกิดความรู้สึกวิสัยสามัญ รูปนั้นก็อยากฉันของทายกนี้ รูปนี้ก็อยากฉันของทายกนั้น 

เพื่อตัดปัญหาจึงใช้วิธีจับสลาก ทายกจับชื่อพระหรือพระจับชื่อทายกก็แล้วแต่จะจัดการกัน ใครจับได้ใครก็ถวายตามที่จับได้ หมดปัญหา

สลากภัตนี้ในเมืองไทยยังทำกันอยู่ แต่พลิกแพลงไปจนกลายเป็นของพิเศษตามฤดูกาล กล่าวคือ พื้นที่ไหนมีผลไม้ชนิดไหนชุกชุม พอถึงฤดูผลไม้ออกดกดาษดื่น ก็นัดหมายกันนำผลไม้นั้นไปถวายพระเป็น “สลากภัต” 

พอพูดว่า “สลากภัต” ก็เป็นที่เข้าใจกันว่าถวายผลไม้ตามฤดูกาล เวลาถวายจริงก็มีผลไม้อื่นๆ ผสมไปด้วย และมีของฉันของใช้ถวายพร้อมกันไปด้วย แต่มีผลไม้เป็นหน้าเป็นตา

วิธีจัดก็คือ แต่ละบ้านจัดผลไม้และสิ่งของประกอบเป็นเฉพาะของตนๆ นำไปที่วัด ตั้งแยกกันเป็นกองๆ ประมาณว่าจำนวนกองเท่ากับจำนวนพระที่จะจับสลาก เจ้าของนั่งประจำกองของใครของมัน กรรมการวัดกำหนดหมายเลขของแต่ละกอง ทำหมายเลขที่เรียกว่า “สลาก” ใส่พานเตรียมให้พระจับ 

เมื่อพระลงศาลา ทำพิธีไหว้พระ รับศีล กล่าวคำถวายสลากภัตแล้วถวายสลากที่เตรียมไว้ให้พระจับ พระอนุโมทนาเสร็จส่วนที่เป็นพิธีการ 

ต่อจากนั้นก็เปิดสลาก พระจับได้สลากหมายเลขอะไรก็ไปรับถวายสลากภัตตามหมายเลขนั้น หรือเจ้าของจะยกสลากภัตของตนไปประเคนพระที่จับได้ก็แล้วแต่จะสะดวก เป็นช่วงเวลาที่มีบรรยากาศวุ่นวายนิดๆ สนุกสนานหน่อยๆ ไปในตัว เป็นสีสันอย่างหนึ่งของบุญสลากภัต

สมัยก่อน สลากภัตวัดต่างๆ มักจัดไม่พร้อมกัน แต่หมุนเวียนกัน วัดนี้จัดนิมนต์พระวัดโน้นมาร่วมจับสลากด้วย วัดโน้นจัดก็นิมนต์พระวัดนี้ไปร่วมด้วย เป็นทำนองแขกกันไปแขกกันมา เป็นการแสดงน้ำใจไมตรีทั้งในหมู่ชาววัดต่างวัดและในระหว่างชาวบ้านต่างถิ่น

สรุปว่า สลากภัตของเดิมเป็นการถวายอาหารตามปกติ แต่สลากภัตที่ทำกันในเมืองไทยเป็นการถวายผลไม้ตามฤดูกาล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: จะไปสวรรค์ ต้องทำบุญให้มาก

: ใช้วิธีจับสลากไม่ได้ผล

#บาลีวันละคำ (3,993)

19-5-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *