บาลีวันละคำ

ทุคติ (บาลีวันละคำ 4,000)

ทุคติ

1 ในภพภูมิของคนทุศีล

…………..

ภพภูมิที่คนทุศีลจะเข้าถึง คือไปอุบัติ มี 4 ภูมิ คือ –

(1) อปาย = ภูมิที่ไม่มีความเจริญ 

(2) ทุคฺคติ = ภูมิที่มีแต่ความลำบาก 

(3) วินิปาต = ภูมิที่มีแต่ความพินาศ

(4) นิรย = ภูมิที่มีแต่ความเร่าร้อน

…………..

ทุคติ” ภาษาไทยอ่านว่า ทุก-คะ-ติ

บาลีเป็น “ทุคฺคติ” (ค ควาย 2 ตัว มีจุดใต้ คฺ ตัวหน้า) อ่านว่า ทุก-คะ-ติ รากศัพท์มาจาก ทุ + คติ

(ก) “ทุ” เป็นคำอุปสรรค นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย

(ข) “คติ” อ่านว่า คะ-ติ รากศัพท์มาจาก คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + ติ ปัจจัย, ลบ มฺ ที่สุดธาตุ (คติ > )

: คมฺ + ติ = คมติ > คติ (อิตถีลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “การไป” “ภูมิอันเหล่าสัตว์ต้องไป ด้วยการเข้าถึงตามกรรมดีกรรมชั่ว” “ที่เป็นที่ไป” หมายถึง ที่ไป, ที่อยู่, ที่เกิดใหม่, ภพภูมิที่จะต้องไปเกิด

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “คติ” ในเชิงขยายความไว้น่าสนใจ ขอยกมาเสนอดังนี้ –

(1) going, going away, (opp. āgati coming); direction, course, career (การไป, การจากไป, (ตรงข้าม “อาคติ” การมา); ทิศทาง, แนว, วิถีชีวิต)

(2) going away, passing on; course, esp after death, destiny, as regards another (future) existence (การจากไป, การผ่านไป; ทางไป, โดยเฉพาะหลังจากตายไป, ชะตากรรม, ที่เกี่ยวกับภพ (อนาคต) อื่น)

(3) behaviour, state or condition of life, sphere of existence, element, especially characterized as sugati & duggati, a happy or an unhappy existence (ความประพฤติ, ภาวะหรือฐานะของความเป็นอยู่, ขอบเขตของภพ, ความเป็นอยู่, ธาตุ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งบรรยายลักษณะเป็น “สุคติ” และ “ทุคฺคติ”, ความเป็นอยู่อันสุขสบายหรือเป็นทุกข์)

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกความหมายของ “คติ” ไว้ดังนี้ –

(1) การไป, ทางไป, ความเป็นไป, ทางดำเนิน, วิธี, แนวทาง, แบบอย่าง 

(2) ที่ไปเกิดของสัตว์, ภพที่สัตว์ไปเกิด, แบบการดำเนินชีวิต มี 5 คือ :

๑. นิรยะ = นรก 

๒. ติรัจฉานโยนิ = กำเนิดดิรัจฉาน 

๓. เปตติวิสัย = แดนเปรต 

๔. มนุษย์ = สัตว์มีใจสูงรู้คิดเหตุผล 

๕. เทพ = ชาวสวรรค์ ตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกา ถึง อกนิษฐพรหม

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “คติ” ไว้ 2 คำ บอกไว้ดังนี้ – 

(1) คติ ๑ : (คำนาม) การไป; ความเป็นไป. (ป.). 

(2) คติ ๒ : (คำนาม) แบบอย่าง, วิธี, แนวทาง. (ป.).

ทุ + คติ ซ้อน คฺ ระหว่างอุปสรรคกับศัพท์หลัง

: ทุ + คฺ + คติ = ทุคฺคติ (ทุก-คะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า (1) “คติที่ชั่ว” (2) “คติแห่งความทุกข์” (3) “ภูมิเป็นที่ตั้งแห่งทุกข์” (4) “ภูมิที่มีคติชั่วร้าย” 

ทุคฺคติ” หมายถึง ชีวิตมีความทุกข์; อาณาจักรแห่งความยากเข็ญ (a miserable existence; a realm of misery)

ทุคฺคติ” ภาษาไทยใช้เป็น “ทุคติ” (ตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ทุคติ : (คำนาม) ภูมิที่ถือว่าไปเกิดแล้วมีความทุกข์ความลําบาก, นรก. (ป. ทุคฺคติ).”

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “ทุคติ” ไว้ดังนี้ –

…………..

ทุคติ : คติไม่ดี, ทางดำเนินที่ไม่ดีมีความเดือดร้อน, ที่ไปเกิดอันชั่ว หรือที่ไปเกิดของผู้ทำกรรมชั่ว, แดนกำเนิดที่ไม่ดี มากไปด้วยความทุกข์ มี ๓ ได้แก่ นรก ดิรัจฉาน เปรต; คติที่ไม่ดี คือ ทุคติ ๓ นี้ ตรงข้ามกับคติที่ดี คือ สุคติ ๒ (มนุษย์ และ เทพ) รวมทั้งหมดเป็น คติ ๕ 

ที่ไปเกิดหรือแดนกำเนิดไม่ดีนี้ บางทีเรียกว่า อบาย หรืออบายภูมิ (แปลว่า แดนซึ่งปราศจากความเจริญ) แต่อบายภูมินั้นมี ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย ดิรัจฉาน, เหตุให้จำนวนไม่เท่ากันนั้น มีคำอธิบาย ดังที่อรรถกถาบางแห่งกล่าวไว้ว่า (อุ.อ.๑๔๕; อิติ.อ.๑๔๕) ในกรณีนี้ รวมอสุรกาย เข้าในจำพวกเปรตด้วย จึงเป็นทุคติ ๓; ตรงข้ามกับ สุคติ.

อนึ่ง ในความหมายที่ลึกลงไป ถือว่า นรก เปรต จนถึงติรัจฉาน ที่เป็นทุคติก็โดยเทียบว่ามีทุกข์เดือดร้อนกว่าเทวะและมนุษย์ แต่กำเนิดหรือแดนเกิดทั้งหมดทั้งสิ้น แม้แต่ที่เรียกว่าสุคตินั้น ไม่ว่าจะเป็นเทวดา หรือพรหมชั้นใดๆ ก็เป็นทุคติ ทั้งนั้น (เนตฺติ.๖๑/๔๕; ๑๐๖/๑๐๕) เมื่อเทียบกับนิพพาน เพราะคติเหล่านั้นยังประกอบด้วยทุกข์ หรือเป็นคติของผู้ที่ยังมีทุกข์.

…………..

คำที่อยู่ในชุดเดียวกับ “ทุคติ” มี 4 คำ คือ “อปาย  ทุคฺคติ  วินิปาต  นิรย” เป็นภพภูมิที่คนย่ำยีศีลธรรมจะไปบังเกิด อันเป็น 1 ในโทษ 5 ประการที่จะเกิดแก่ผู้ย่ำยีศีลธรรม (ทุสฺสีโล = ผู้ทุศีล, สีลวิปนฺโน = ผู้มีศีลวิบัติ) ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคำสอนของศาสนาสาปแช่งให้เป็นเช่นนั้น หากแต่เพราะการกระทำของเขาชักนำให้เป็นไปเอง

…………..

พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาโปรดอุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิในแคว้นมคธว่า คนทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมมีโทษ 5 ประการ คือ –

(1) ปมาทาธิกรณํ  มหตึ  โภคชานึ  นิคจฺฉติ  ฯ

โภคทรัพย์เสื่อมสิ้นไปเพราะเหตุที่ประมาทมัวเมาละเมิดศีล

(2) ปาปโก  กิตฺติสทฺโท  อพฺภุคฺคจฺฉติ  ฯ

ชื่อเสียงอันอันชั่วร้ายย่อมระบือไป

(3) ยญฺญเทว  ปริสํ  อุปสงฺกมติ  ยทิ  ขตฺติยปริสํ  ยทิ  พฺราหฺมณปริสํ  ยทิ  คหปติปริสํ  ยทิ  สมณปริสํ  อวิสารโท  อุปสงฺกมติ  มงฺกุภูโต  ฯ

อยู่ในที่ประชุมใดๆ ก็หาความสง่างามบมิได้ (ความตามพระบาลีว่า เข้าไปหาบริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน)

(4) สมฺมูโฬฺห  กาลํ  กโรติ  ฯ

เป็นผู้หลงทำกาลกิริยา คือเวลาตายก็หลงเลอะ

(5) กายสฺส  เภทา  ปรมฺมรณา  อปายํ  ทุคฺคตึ  วินิปาตํ  นิรยํ  อุปปชฺชติ  ฯ

แตกกายทำลายขันธ์แล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ที่มา: เภสัชชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 68

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทุศีลเข้าสิ

: เดี๋ยวก็รู้ว่าทุคติเป็นฉันใด

#บาลีวันละคำ (4,000)

26-5-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *