บาลีวันละคำ

อบาย (บาลีวันละคำ 3,999)

อบาย

1 ในภพภูมิของคนทุศีล

…………..

ภพภูมิที่คนทุศีลจะเข้าถึง คือไปอุบัติ มี 4 ภูมิ คือ –

(1) อปาย = ภูมิที่ไม่มีความเจริญ 

(2) ทุคฺคติ = ภูมิที่มีแต่ความลำบาก 

(3) วินิปาต = ภูมิที่มีแต่ความพินาศ

(4) นิรย = ภูมิที่มีแต่ความเร่าร้อน

…………..

อบาย” ภาษาไทยอ่านว่า อะ-บาย

บาลีเป็น “อปาย” อ่านว่า อะ-ปา-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อป (คำอุปสรรค = ปราศจาก, ไม่มี) + อิ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ปัจจัย, ลบ , แปลง อิ เป็น , ทีฆะ อะ ที่ -(ย) เป็น อา (อย > อาย)

: อป + อิ > อย + = อปย > อปาย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะเป็นเหตุให้ไปปราศจากความสุข

(2) อป (คำอุปสรรค = ปราศจาก, ไม่มี) + อย (ความสุข, ความเจริญ, ความดี, บุญ), ทีฆะ อะ ที่ -(ย) เป็น อา (อย > อาย)

: อป + อย = อปย > อปาย แปลตามศัพท์ว่า “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากความสุข” “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากความเจริญ” “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากความดี” “ภาวะหรือภพภูมิที่ปราศจากบุญ

(3) (ไม่, ไม่มี) + ปาย (ความเจริญ), แปลง เป็น

: + ปาย = นปาย > อปาย แปลตามศัพท์ว่า “ภพที่ไม่มีความเจริญ

อปาย” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ – 

(1) การแยกออกจากกัน, ความสูญเสีย (separation, loss)

(2) การสูญหาย (เกี่ยวกับทรัพย์สมบัติ) (loss [of property]) 

(3) การรั่วไหล, การไหลออกไป (เกี่ยวกับน้ำ) (leakage, out flow [of water]) 

(4) การกระทำพลั้งพลาด, การพลาดพลั้งในเรื่องความประพฤติ (lapse, falling away in conduct) 

(5) ภูมิชั่วคราวของความสูญเสีย และความทุกข์ร้อนภายหลังจากตายไป [คือ อบายภูมิที่เต็มไปด้วยความทุกข์ทรมานอันคนผู้ก่อกรรมชั่วจะต้องไปภายหลังจากตายไป] (a transient state of loss and woe after death) 

ความหมายในทางธรรมที่เข้าใจกัน คือ ความเสื่อม, ความฉิบหาย, ภพภูมิหรือกำเนิดที่ไม่มีโอกาสเจริญบุญกุศล 

อปาย” ภาษาไทยใช้ทับศัพท์ว่า “อบาย” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

อบาย, อบาย– : (คำนาม) ที่ที่ปราศจากความเจริญ; ความฉิบหาย. (ป.).”

ขยายความ :

คำที่อยู่ในชุดเดียวกับ “อบาย” มี 4 คำ คือ “อปาย  ทุคฺคติ  วินิปาต  นิรย” เป็นภพภูมิที่คนย่ำยีศีลธรรมจะไปบังเกิด อันเป็น 1 ในโทษ 5 ประการที่จะเกิดแก่ผู้ย่ำยีศีลธรรม (ทุสฺสีโล = ผู้ทุศีล, สีลวิปนฺโน = ผู้มีศีลวิบัติ) ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคำสอนของศาสนาสาปแช่งให้เป็นเช่นนั้น หากแต่เพราะการกระทำของเขาชักนำให้เป็นไปเอง

…………..

พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาโปรดอุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิในแคว้นมคธว่า คนทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมมีโทษ 5 ประการ คือ –

(1) ปมาทาธิกรณํ  มหตึ  โภคชานึ  นิคจฺฉติ  ฯ

โภคทรัพย์เสื่อมสิ้นไปเพราะเหตุที่ประมาทมัวเมาละเมิดศีล

(2) ปาปโก  กิตฺติสทฺโท  อพฺภุคฺคจฺฉติ  ฯ

ชื่อเสียงอันอันชั่วร้ายย่อมระบือไป

(3) ยญฺญเทว  ปริสํ  อุปสงฺกมติ  ยทิ  ขตฺติยปริสํ  ยทิ  พฺราหฺมณปริสํ  ยทิ  คหปติปริสํ  ยทิ  สมณปริสํ  อวิสารโท  อุปสงฺกมติ  มงฺกุภูโต  ฯ

อยู่ในที่ประชุมใดๆ ก็หาความสง่างามบมิได้ (ความตามพระบาลีว่า เข้าไปหาบริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน)

(4) สมฺมูโฬฺห  กาลํ  กโรติ  ฯ

เป็นผู้หลงทำกาลกิริยา คือเวลาตายก็หลงเลอะ

(5) กายสฺส  เภทา  ปรมฺมรณา  อปายํ  ทุคฺคตึ  วินิปาตํ  นิรยํ  อุปปชฺชติ  ฯ

แตกกายทำลายขันธ์แล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ที่มา: เภสัชชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 68

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้ายังไม่ได้เป็นโสดาบัน

: ก็ยังมีวันที่จะได้ไปอบายภูมิ

#บาลีวันละคำ (3,999)

25-5-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *