วินิบาต (บาลีวันละคำ 4,001)
วินิบาต
1 ในภพภูมิของคนทุศีล
…………..
ภพภูมิที่คนทุศีลจะเข้าถึง คือไปอุบัติ มี 4 ภูมิ คือ –
(1) อปาย = ภูมิที่ไม่มีความเจริญ
(2) ทุคฺคติ = ภูมิที่มีแต่ความลำบาก
(3) วินิปาต = ภูมิที่มีแต่ความพินาศ
(4) นิรย = ภูมิที่มีแต่ความเร่าร้อน
…………..
“วินิบาต” ภาษาไทยอ่านว่า วิ-นิ-บาด
บาลีเป็น “วินิปาต” อ่านว่า วิ-นิ-ปา-ตะ รากศัพท์มาจาก วิ (คำอุปสรรค = วิเศษ, พิเศษ, แจ้ง, ต่าง) + นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง) + ปตฺ (ธาตุ = ตกไป) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, ทีฆะ อะ ที่ ป-(ตฺ) เป็น อา (ปตฺ > ปาต)
: วิ + นิ + ปตฺ = วินิปตฺ + ณ = วินิปตณ > วินิปต > วินิปาต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “การตกไปโดยวิเศษ” (2) “ภพเป็นที่ผู้ทำกรรมชั่วตกไปไร้อำนาจ” (3) “ภพเป็นที่ตกไปพินาศมีอวัยวะน้อยใหญ่แหลกเหลว”
หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “วินิปาต” ว่า วินิบาต, การต้องโทษ, ภพที่ต้องโทษ, ภพที่รับทุกข์
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “วินิปาต” ว่า ruin, destruction; a place of suffering, state of punishment (ความพินาศ, การทำลาย; สถานที่มีความทุกข์, สถานะแห่งการทำโทษ)
“วินิปาต” ในบาลีใช้ในภาษาไทยเป็น “วินิบาต” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“วินิบาต : (คำนาม) การทําลาย, การฆ่า, เช่น วินิบาตกรรม; ภพที่ต้องโทษ, ภพที่รับทุกข์, เช่น ทุคติวินิบาต. (ป., ส.).”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “วินิบาต” ไว้ดังนี้ –
…………..
วินิบาต : “โลกหรือวิสัยเป็นที่ตกไปแห่งสัตว์อย่างไร้อำนาจ [คือช่วยตัวเองไม่ได้เลย]”, “แดนเป็นที่ตกลงไปพินาศย่อยยับ”, สภาพตกต่ำ, ภพคือภาวะแห่งชีวิตที่มีแต่ความตกต่ำเสื่อมถอยย่อยยับ; อรรถกถาทั้งหลาย (เช่น วินย.อ.๑/๑๘๗) แสดงความหมายไว้ ๒ นัย คือ พูดแบบรวมๆ ก็เป็นไวพจน์คำหนึ่งของนรก นั่นเอง แต่ถ้าแยกความหมายออกไปต่างหาก ก็หมายถึงกำเนิดอสุรกาย.
…………..
คำที่อยู่ในชุดเดียวกับ “วินิบาต” มี 4 คำ คือ “อปาย ทุคฺคติ วินิปาต นิรย” เป็นภพภูมิที่คนย่ำยีศีลธรรมจะไปบังเกิด อันเป็น 1 ในโทษ 5 ประการที่จะเกิดแก่ผู้ย่ำยีศีลธรรม (ทุสฺสีโล = ผู้ทุศีล, สีลวิปนฺโน = ผู้มีศีลวิบัติ) ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคำสอนของศาสนาสาปแช่งให้เป็นเช่นนั้น หากแต่เพราะการกระทำของเขาชักนำให้เป็นไปเอง
…………..
พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาโปรดอุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิในแคว้นมคธว่า คนทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมมีโทษ 5 ประการ คือ –
(1) ปมาทาธิกรณํ มหตึ โภคชานึ นิคจฺฉติ ฯ
โภคทรัพย์เสื่อมสิ้นไปเพราะเหตุที่ประมาทมัวเมาละเมิดศีล
(2) ปาปโก กิตฺติสทฺโท อพฺภุคฺคจฺฉติ ฯ
ชื่อเสียงอันอันชั่วร้ายย่อมระบือไป
(3) ยญฺญเทว ปริสํ อุปสงฺกมติ ยทิ ขตฺติยปริสํ ยทิ พฺราหฺมณปริสํ ยทิ คหปติปริสํ ยทิ สมณปริสํ อวิสารโท อุปสงฺกมติ มงฺกุภูโต ฯ
อยู่ในที่ประชุมใดๆ ก็หาความสง่างามบมิได้ (ความตามพระบาลีว่า เข้าไปหาบริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน)
(4) สมฺมูโฬฺห กาลํ กโรติ ฯ
เป็นผู้หลงทำกาลกิริยา คือเวลาตายก็หลงเลอะ
(5) กายสฺส เภทา ปรมฺมรณา อปายํ ทุคฺคตึ วินิปาตํ นิรยํ อุปปชฺชติ ฯ
แตกกายทำลายขันธ์แล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก
ที่มา: เภสัชชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 68
…………..
ดูก่อนภราดา!
: แค่ทำชั่วจนศีลธรรมพินาศ
: ก็เป็นวินิบาตตั้งแต่ยังเป็นๆ
#บาลีวันละคำ (4,001)
27-5-66
…………………………….
…………………………….