บาลีวันละคำ

นิรยะ (บาลีวันละคำ 4,002)

นิรยะ

1 ในภพภูมิของคนทุศีล

…………..

ภพภูมิที่คนทุศีลจะเข้าถึง คือไปอุบัติ มี 4 ภูมิ คือ –

(1) อปาย = ภูมิที่ไม่มีความเจริญ 

(2) ทุคฺคติ = ภูมิที่มีแต่ความลำบาก 

(3) วินิปาต = ภูมิที่มีแต่ความพินาศ

(4) นิรย = ภูมิที่มีแต่ความเร่าร้อน

…………..

นิรยะ” ภาษาไทยอ่านว่า นิ-ระ-ยะ

นิรยะ” เขียนแบบาลีเป็น “นิรย” อ่านว่า นิ-ระ-ยะ รากศัพท์มาจาก นิ + อาคม + อย

(๑) “นิ” 

เป็นศัพท์จำพวก “อุปสรรค” นักเรียนบาลีในเมืองไทยท่องกันว่า “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก” 

อภิปรายแทรก :

อาจารย์ผู้สอนบาลีแสดงความเห็นว่า อุปสรรคตัวนี้เป็น “นิ” (สระ อิ) ตัวหนึ่ง เป็น “นี” (สระ อี) ตัวหนึ่ง คือ “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก” แต่เนื่องจากตำราพิมพ์ผิด “นี” ตัวหลังพิมพ์เป็น “นิ” กลายเป็น “นิ” ทั้ง 2 ตัว แล้วไม่ได้แก้ 

ลองตรองดูก็ประหลาดอยู่ ถ้าเป็น “นิ” เหมือนกันทั้ง 2 ตัว ไฉนจึงแยกเป็น “นิ = เข้า, ลง, นิ = ไม่มี, ออก” ทำไมจึงไม่ว่า “นิ = เข้า, ลง, ไม่มี, ออก” รวดเดียวไปเลย 

อาจารย์ผู้สอนบาลีรุ่นใหม่จึงยุติว่า “นิ” ตัวหลังต้องเป็น “นี” คือต้องเป็น “นิ = เข้า, ลง” และ “นี = ไม่มี, ออก

ถ้ายุติดังว่านี้ อุปสรรคตัวนี้ก็คือ “นี” = ไม่มี, ออก รัสสะ อี เป็น อิ 

(๒) “อย” 

อ่านว่า อะ-ยะ รากศัพท์มาจาก อยฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + (อะ) ปัจจัย

: อยฺ + = อย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “เหตุให้ถึงสมบัติต่างๆ” (2) “ภาวะที่แช่มชื่น” (3) “แดนที่มาแห่งความสุข” หมายถึง ความเจริญ; ความสุข; บุญ, ความดี

นิ + อย ลง อาคมระหว่างอุปสรรคกับนาม (นิ + + อย)

: นิ + + อย = นิรย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “ภพที่ปราศจากผลที่น่าปรารถนา” (2) “ภพที่มีการไปที่น่าติเตียน” (3) “ภพที่ปราศจากความเจริญ” (4) “ภพที่ไม่มีความสุข” 

นิรย” หมายถึง นรก, นิรยะ, สถานที่ลงโทษและทรมานซึ่งทดแทนกรรมชั่วที่ก่อไว้ (purgatory, hell, a place of punishment & torture, where sin is atoned)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นิรย– : (คำแบบ) (คำนาม) นรก. (ป.).”

และมีคำว่า “นิรยบาล” บอกไว้ว่า 

นิรยบาล : (คำนาม) ผู้คุมนรก. (ป.).”

นิรยะ” เป็นคำที่เราไม่คุ้น คำที่เราคุ้นกันดีคือ “นรก

ขยายความ :

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “นิรยะ” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

นิรยะ : นรก, ภพที่ไม่มีความเจริญ, ภูมิที่เสวยทุกข์ของคนผู้ทำบาปตายแล้วไปเกิด (ข้อ ๑ ในทุคติ ๓, ข้อ ๑ ในอบาย ๔) ดู นรก, คติ.

…………..

ที่คำว่า “นรก” บอกไว้ดังนี้ –

…………..

นรก : เหวแห่งความทุกข์, ที่อันไม่มีความสุขความเจริญ, ภาวะเร่าร้อนกระวนกระวาย, ที่ไปเกิดและเสวยความทุกข์ของสัตว์ผู้ทำบาป (ข้อ ๑ ในทุคติ ๓, ข้อ ๑ ในอบาย ๔).

…………..

คำที่อยู่ในชุดเดียวกับ “นิรยะ” มี 4 คำ คือ “อปาย  ทุคฺคติ  วินิปาต  นิรย” เป็นภพภูมิที่คนย่ำยีศีลธรรมจะไปบังเกิด อันเป็น 1 ในโทษ 5 ประการที่จะเกิดแก่ผู้ย่ำยีศีลธรรม (ทุสฺสีโล = ผู้ทุศีล, สีลวิปนฺโน = ผู้มีศีลวิบัติ) ทั้งนี้ ไม่ใช่เพราะคำสอนของศาสนาสาปแช่งให้เป็นเช่นนั้น หากแต่เพราะการกระทำของเขาชักนำให้เป็นไปเอง

…………..

พระผู้มีพระภาคตรัสเทศนาโปรดอุบาสกอุบาสิกาชาวตำบลบ้านปาฏลิในแคว้นมคธว่า คนทุศีล มีศีลวิบัติ ย่อมมีโทษ 5 ประการ คือ –

(1) ปมาทาธิกรณํ  มหตึ  โภคชานึ  นิคจฺฉติ  ฯ

โภคทรัพย์เสื่อมสิ้นไปเพราะเหตุที่ประมาทมัวเมาละเมิดศีล

(2) ปาปโก  กิตฺติสทฺโท  อพฺภุคฺคจฺฉติ  ฯ

ชื่อเสียงอันอันชั่วร้ายย่อมระบือไป

(3) ยญฺญเทว  ปริสํ  อุปสงฺกมติ  ยทิ  ขตฺติยปริสํ  ยทิ  พฺราหฺมณปริสํ  ยทิ  คหปติปริสํ  ยทิ  สมณปริสํ  อวิสารโท  อุปสงฺกมติ  มงฺกุภูโต  ฯ

อยู่ในที่ประชุมใดๆ ก็หาความสง่างามบมิได้ (ความตามพระบาลีว่า เข้าไปหาบริษัทใดๆ เช่น ขัตติยบริษัท พราหมณบริษัท คหดีบริษัท สมณบริษัท ย่อมเป็นผู้ครั่นคร้าม ขวยเขิน)

(4) สมฺมูโฬฺห  กาลํ  กโรติ  ฯ

เป็นผู้หลงทำกาลกิริยา คือเวลาตายก็หลงเลอะ

(5) กายสฺส  เภทา  ปรมฺมรณา  อปายํ  ทุคฺคตึ  วินิปาตํ  นิรยํ  อุปปชฺชติ  ฯ

แตกกายทำลายขันธ์แล้วย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก

ที่มา: เภสัชชขันธกะ วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 5 ข้อ 68

…………..

ดูก่อนภราดา!

: รูปหล่อหรือซกมก

: ก็ตกนรกได้พอๆ กันนะจ๊ะ

#บาลีวันละคำ (4,002)

28-5-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *