บาลีวันละคำ

ประชาภิวัฒน์ (บาลีวันละคำ 574)

ประชาภิวัฒน์

อ่านว่า ปฺระ-ชา-พิ-วัด

ประกอบด้วย ประชา + อภิ + วัฒน์

ประชา” รูปคำสันสกฤตเป็น “ปฺรชา” บาลีเป็น “ปชา” (ปะ-ชา) นักเรียนบาลีมักแปลกันว่า “หมู่สัตว์” ทำให้ผู้ไม่คุ้นสำนวนบาลีเข้าใจไปว่าหมายถึงสัตว์เดรัจฉาน แต่ความจริงหมายถึง หมู่คน, คน, ผู้คน, รุ่นของคน, ผู้สืบตระกูล, ลูกหลาน, สัตว์โลก, มนุษยชาติ

ปชา” แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกิดมาต่างกันไป” ซึ่งเป็นคำแปลที่ตรงตามสัจธรรม เพราะท่านว่าผู้คนแม้จะมีจำนวนเป็นพันล้านก็ไม่เหมือนกันเลยแม้แต่คนเดียว

อภิ” (อะ-พิ) เป็นคำอุปสรรค รากศัพท์เดิมมีความหมายว่า อ้อมรอบ (around), โดยรอบ (round about), ทั้งสองข้าง (on both sides), เข้าครอบครองเป็นเจ้าของหรือเป็นใหญ่ (coming by, overcoming), มีอำนาจเหนือ (mastering) ความหมายที่เข้าใจกันคือ เหนือ, ทับ, ยิ่ง, ข้างบน, เพิ่มขึ้น, มากมาย, ใหญ่หลวง

ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า

อภิ : คําประกอบหน้าศัพท์ที่มาจากภาษาบาลีและสันสกฤต มีความหมายว่า ยิ่ง, วิเศษ, เหนือ, เช่น อภิรมย์ = ยินดียิ่ง, อภิญญาณ = ความรู้วิเศษ, อภิมนุษย์ = มนุษย์ที่เหนือมนุษย์ทั้งหลาย”

วัฒน์” บาลีเป็น “วฑฺฒน” (วัด-ทะ-นะ) แปลว่า การเพิ่มขึ้น, การยกให้สูง, การบำรุง, การเพิ่มเติม, การทำให้เจริญขึ้น, การทำให้ยาวออกไป (ฝรั่งแปลว่า increasing, augmenting, fostering; increase, enlargement, prolongation) ความหมายที่เราคุ้นกันก็คือ “ความเจริญ

ประชา + อภิ + วัฒน์ = ประชาภิวัฒน์ อาจแปลความหมายได้หลายนัย เช่น –

1. ความเจริญอย่างยิ่งโดยประชาชน (= ประชาชนช่วยกันทำให้เจริญ)

2. ความเจริญอย่างยิ่งของประชาชน (= มีผู้อื่นมาทำให้เจริญ หรือประชาชนอาจช่วยกันทำด้วยก็ได้)

3. ความเจริญอย่างยิ่งเหนือประชาชน (= มีผู้อื่นมาเสวยสุขเสวยผลแห่งความเจริญอยู่เหนือประชาชน)

: ค่าของคำ อยู่ที่ทำเพื่อใคร

—————————

(คำถามของ Nonglak Ch)

11-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย