ราชมังคลากีฬาสถาน (บาลีวันละคำ 575)
ราชมังคลากีฬาสถาน
อ่านว่า ราด-ชะ-มัง-คะ-ลา-กี-ลา-สะ-ถาน
ประกอบด้วย ราช + มังคล + กีฬา + สถาน
“ราช” แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน” เช่น ราชการ (การงานของรัฐบาลหรือของพระเจ้าแผ่นดิน) ราชทัณฑ์ (อาญาพระเจ้าแผ่นดิน, โทษหลวง)
“มังคล” บาลีเป็น “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) ใช้ในภาษาไทยว่า “มงคล” (มง-คน) แปลว่า มีฤกษ์งามยามดี, รุ่งเรือง, มีโชคดี, มหกรรมหรืองานฉลอง, ลางดี, ศุภมงคล, งานรื่นเริง (ฝรั่งแปลว่า auspicious, prosperous, lucky, festive; good omen, auspices, festivity)
ตามหลักพระพุทธศาสนา “มงฺคล-มงคล” หมายถึง ธรรมที่นำมาซึ่งความสุขความเจริญ
“กีฬา” แปลว่า การเล่น, ความสนุกเพลิดเพลิน ใช้ทับศัพท์ว่า กีฬา (คำนี้สันสกฤตเป็น กฺรีฑา)
พจน.42 บอกไว้ว่า
“กีฬา : กิจกรรมหรือการเล่นเพื่อความสนุกเพลิดเพลิน เพื่อความแข็งแรงของร่างกาย หรือเพื่อผ่อนคลายความเคร่งเครียดทางจิต”
“สถาน” บาลีเป็น “ฐาน” (ถา-นะ) ใช้ในความหมายหลายอย่าง เช่น สถานที่, เขตแคว้น, ตำบล, แหล่ง, ที่อาศัย, ฐานะ, การตั้งอยู่, การดำรงอยู่, การหยุดอยู่, การยืน, ที่ตั้ง, ตำแหน่ง, เหตุ, โอกาส
พจน.42 บอกความหมายของ “สถาน” ไว้ว่า
– ที่ตั้ง เช่น สถานเสาวภา สถานพยาบาล สถานพักฟื้น สถานบริบาลทารก
– ถ้าใช้ประกอบคำอื่นหมายถึง ที่, แหล่ง, เช่น โบราณสถาน ศาสนสถาน ฌาปนสถาน ปูชนียสถาน สังเวชนียสถาน
– ประการ เช่น มีความผิดหลายสถาน
ราช + มังคล + กีฬา + สถาน = ราชมังคลากีฬาสถาน แปลตามศัพท์และภูมิหลังของสถานที่ว่า “สถานที่เล่นกีฬาอันสืบเนื่องมาแต่งานมงคลของพระราชา”
“ราชมังคลากีฬาสถาน” เป็นชื่อสนามกีฬาขนาดใหญ่ ภายในสนามกีฬาหัวหมาก (เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร) ของการกีฬาแห่งประเทศไทย สร้างขึ้นเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 5 รอบ 5 ธันวาคม พ.ศ.2530 และ พระราชพิธีรัชมังคลาภิเษก พ.ศ.2531
ข้อสังเกต
1. คำว่า “มงฺคล” (มัง-คะ-ละ) ในบาลีเมื่อนำมาใช้ในภาษาไทยควรเป็น “มงคล” (มง-คน) ตามที่ใช้ทั่วไป หรือหากจะคงเสียง “มัง-” ก็ควรเป็น “มังคัล” (มัง-คัน) หรือ “มังคล” (มัง-คน) แต่ในที่นี้เป็น “มังคลา” น่าจะตัดมาจากคำว่า “มังคลาภิเษก” ประการหนึ่ง และเพื่อให้มีเสียงสัมผัสกับคำว่า “กีฬา” อีกประการหนึ่ง
2. “มังคลา-” อ่านว่า มัง-คะ-ลา ไม่ใช่ มัง-คฺลา (อย่างคำว่า คลาไคล หรือ คลาคล่ำ)
: ความดี ถึงจะทำในคุก ก็เป็นมงคล
: ความชั่ว แม้ทำในวัด ก็เป็นอัปมงคล
————–
(ส่งการบ้านตามคำขอของ นู๋ส้ม จี๊ดจ๊าด)
12-12-56