บาลีวันละคำ

รัฐธรรมนูญ (บาลีวันละคำ 573)

รัฐธรรมนูญ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกคำอ่านไว้ว่า

(1) รัด-ถะ-ทํา-มะ-นูน

(2) รัด-ทํา-มะ-นูน

ความเห็น

1. อ่านว่า รัด-ถะ-ทํา-มะ-นูน เป็นการอ่านตามหลักคำสมาส

2. อ่านว่า รัด-ทํา-มะ-นูน (ไม่มีเสียง -ถะ-) เป็นการอ่านแบบไม่เอื้อหลัก หรืออ่านตามสะดวกปาก

3. เคยได้ยินมีผู้อ่านว่า รัด-ทำ-นูน (ไม่มีเสียง -ถะ- และ -มะ-) อาจเรียกว่าเป็นการอ่านแบบ “ชอบง่าย” ต่อไป พจน.อาจกำหนดให้เป็นคำอ่านที่ถูกต้องอีกคำหนึ่งก็ได้

สันนิษฐาน

คำว่า “รัฐธรรมนูญ” ประกอบด้วย รัฐ + ธรรมนูญ

รัฐ” บาลีเป็น “รฏฺฐ” (รัด-ถะ) แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” หรือ “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง) ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง

ธรรมนูญ” น่าจะมาจากคำว่า ธรรม (ทำ-มะ) + มนูญ (มะ-นูน)

ธรรม” (บาลี – ธมฺม) หมายถึง ความยุติธรรม, ความถูกต้อง, กฎ, กฎเกณฑ์, กฎหมาย (ดูรายละเอียดที่ “ธมฺม” บาลีวันละคำ (115) 31-8-55)

มนูญ” น่าจะมาจากคำว่า “มนู” (มะ-นู) พจน.42 บอกความหมายของ “มนู” ไว้ว่า –

“ชื่อพระผู้สร้างมนุษยชาติและปกครองโลก มี 14 องค์ เรียงกันเป็นยุค ๆ ไป, ยุคหนึ่งเรียกว่า มนวันดร นานกว่า 4,000,000 ปี องค์แรก คือ พระสวายมภูวะ พระมนูองค์นี้ถือกันว่าเป็นผู้ทรงออกกฎหมายหรือธรรมศาสตร์ซึ่งยังมีอยู่ตราบเท่าทุกวันนี้เรียกว่า มนุสัมหิตา หรือ มนุสมฺฤติ, เพราะฉะนั้น คํา มนู จึงหมายถึงกฎหมายก็ได้”

ธรรม + มนู = ธรรมมนู แปลได้ 2 นัย คือ –

1. “กฎของพระมนู” > ธรรม = กฎ, มนู = พระมนู

2. “กฎหมายอันยุติธรรม” > ธรรม = ยุติธรรม, มนู = กฎหมาย

สันนิษฐานการกลายรูปและเสียง

1. มนู กลายเสียงเป็น มะ-นูน น่าจะเกิดจากการเติม -ช (แปลว่า เกิด) เข้าข้างท้าย

: มนุ + บาลีเป็น “มนุช” (แปลว่า “เกิดจากพระมนู”) สันสกฤตเป็น “มนุชฺญ” ออกเสียง มะ-นุด-เชียะ > มะ-นุด > มะ-นุน > มะ-นูน ตามสะดวกปาก ส่วนรูปก็เป็น มนุชฺญ > มนุญ > มนูญ ตามเสียง

2. ธรรม + มนูญ = ธรรมมนูญ อ่านตามหลักว่า ทำ-มะ-มะ-นูน (เสียง -มะ- ติดกันสองพยางค์) อ่านแบบไม่เอื้อหลัก หรืออ่านตามสะดวกปากว่า ทำ-มะ-นูน (เสียง –มะ– เหลือพยางค์เดียว)

3. เมื่ออ่าน ทำ-มะ-นูน จึงเขียนเป็น “ธรรมนูญ” (เหลือ ม้า ตัวเดียว) ตามเสียงอ่าน

รัฐ + ธรรมนูญ = รัฐธรรมนูญ แปลตามศัพท์ว่า

1. “กฎของพระมนูสำหรับบ้านเมือง

2. “กฎหมายอันยุติธรรมสำหรับบ้านเมือง

พจน.42 บอกความหมายของ “รัฐธรรมนูญ” ไว้ว่า –

“บทกฎหมายสูงสุดที่จัดระเบียบการปกครองประเทศ โดยกำหนดรูปแบบของรัฐว่าเป็นรัฐเดียวหรือรัฐรวม ระบอบการปกครองของรัฐ รวมทั้งสถาบันและองค์กร การใช้อำนาจอธิปไตยในการปกครองรัฐ เช่น รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (พุทธศักราช 2540)”

รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย :

ฉีกมาแล้วกี่ฉบับ

ยับมาแล้วกี่หน

อำนาจยังไปไม่ถึงปวงชน

เพราะใจคนยังไปไม่ถึงธรรม

10-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย