เศวตฉัตร (บาลีวันละคำ 4,010)
เศวตฉัตร
เครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น
อ่านว่า สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด
ประกอบด้วยคำว่า เศวต + ฉัตร
(๑) “เศฺวต”
อ่านว่า สะ-เหฺวด เป็นรูปคำสันสกฤตว่า “เศฺวต” (โปรดสังเกต มีจุดใต้ ศฺ นั่นคือ ศฺว อ่านควบกัน) บาลีเป็น “เสต” อ่านว่า เส-ตะ รากศัพท์มาจาก สิ (ธาตุ = เสพ, ชอบ) + ต ปัจจัย, แผลง อิ ที่ สิ เป็น เอ (สิ > เส)
: สิ + ต = สิต > เสต (คุณศัพท์) แปลตามศัพท์ว่า “สีอันคนชอบ” หมายถึง สีขาว, สิ่งที่เป็นสีขาว (white)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 มีคำว่า “เสต-” (อ่านว่า เส-ตะ- ขีด – ท้ายหมายถึงไม่ใช้เดี่ยวๆ ต้องมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) บอกไว้ว่า –
“เสต– : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เศวต, สีขาว. (ป.; ส. เศฺวต).”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
“เศฺวต : (คำคุณศัพท์) ‘เศวต,’ ขาว, เผือก; white; – (คำนาม) สีขาว; white colour.”
“เศฺวต” ในภาษาไทยเขียนเป็น “เศวต” (ไม่มีจุดใต้ ศ)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เศวต, เศวต– [สะเหฺวด, สะเหฺวดตะ-] : (คำนาม) สีขาว. (ส.; ป. เสต).”
ตามพจนานุกรมฯ “เศวต” อ่านว่า สะ-เหฺวด ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า สะ-เหฺวด-ตะ- เช่น “เศวตฉัตร” อ่านว่า สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด (ไม่ใช่ สะ-เหฺวด-ฉัด)
(๒) “ฉัตร”
บาลีเป็น “ฉตฺต” อ่านว่า ฉัด-ตะ รากศัพท์มาจาก ฉทฺ (ธาตุ = ห้าม, กัน, มุง) + ต ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย (ฉทฺ + ตฺ + ต), ลบ ทฺ ที่สุดธาตุ
: ฉทฺ + ตฺ + ต = ฉทฺตฺต > ฉตฺต (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่กันแสงแดด” หมายถึง ฉัตร, ร่ม
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ฉตฺต” ว่า a sunshade, a canopy (ร่ม, ที่บังแดด, ฉัตร)
ที่คำแปลว่า a sunshade พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ ขยายความไว้ว่า “parasol” would be misleading. The handle of a chatta is affixed at the circumference, not at the centre as it is in a parasol (ถ้าเรียก “ร่มกันแดด” ก็จะทำให้เข้าใจผิด. ด้ามฉัตรติดไว้ที่ขอบของฉัตร, ไม่ใช่ตรงกลางเหมือนร่มกันแดด)
คำขยายความที่ว่า “ด้ามฉัตรติดไว้ที่ขอบของฉัตร, ไม่ใช่ตรงกลางเหมือนร่มกันแดด” น่าจะไม่ใช่ “ฉัตร” ที่เราคุ้นกัน แต่จะเป็นฉัตรแบบไหน พึงศึกษาตรวสอบกันต่อไป
บาลี “ฉตฺต” สันสกฤตเป็น “ฉตฺร”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ฉตฺร : (คำนาม) ‘ฉัตร,’ ร่ม; ต้นฉัตราชนิดหนึ่ง; เมล็ดฉัตราหรือธานี; เห็ด; เมล็ดสาเลย; a parasol, parapluie, or umbrella; a kind of fennel; coriander seed; a mushroom; anise.”
ภาษาไทยใช้ตามรูปสันสกฤตเป็น “ฉัตร” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ฉัตร ๑, ฉัตร- : (คำนาม) เครื่องสูงชนิดหนึ่ง มีรูปคล้ายร่มที่ซ้อนกันขึ้นไปเป็นชั้น ๆ ชั้นบนมีขนาดเล็กกว่า ชั้นล่างลดหลั่นกันไปโดยลําดับ สําหรับแขวน ปัก ตั้ง หรือเชิญเข้ากระบวนแห่เป็นเกียรติยศ. (ส. ฉตฺร; ป. ฉตฺต ว่า ร่ม); ส่วนที่ต่อจากปุ่มฆ้องเป็นฐานแผ่ออกไปแล้วงองุ้มลงมาเป็นขอบโดยรอบอย่างฉัตร; ชื่อดาวฤกษ์อารทรา.”
เสต + ฉตฺต ซ้อน จฺ ระหว่างศัพท์เนื่องจาก จฺ เป็นพยัญชนะหน้า ฉ ในวรรคเดียวกัน (จ ฉ ช ฌ ญ)
: เสต + จฺ + ฉตฺต = เสตจฺฉตฺต (เส-ตัด-ฉัด-ตะ) แปลว่า “ร่มสีขาว”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “เสตจฺฉตฺต” ว่า a white parasol, an emblem of royalty (ฉัตรขาว, ฉัตรแห่งความเป็นราชา = เศวตฉัตร)
บาลี “เสตจฺฉตฺต” ใช้ในภาษาไทยเป็น “เศวตฉัตร” (สะ-เหฺวด-ตะ-ฉัด) ราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“เศวตฉัตร : (คำนาม) ฉัตรขาว ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดินเป็นต้น. (ส. เศฺวตจฺฉตฺร ว่า ฉัตรขาว).”
ขยายความ :
หนังสือ “คำเกี่ยวกับพระราชพิธีบรมราชาภิเษก” ที่คำว่า “เศวตฉัตร” เขียนไว้ดังนี้ –
(อักขรวิธี ย่อหน้าวรรคตอนตามต้นฉบับ)
…………..
คำว่า เศวตฉัตร แปลว่า ฉัตรขาว ใช้เป็นเครื่องหมายแห่งความเป็นพระเจ้าแผ่นดิน เป็นต้น เมื่อกล่าวว่า ชิงฉัตร จึงหมายถึงแย่งชิงแผ่นดินมาปกครอง ดังลิลิตเตลงพ่าย พระนิพนธ์สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระปรมานุชิตชิโนรส มีร่ายว่า พระเจ้ากรุงหงษาวดี ตรัสกับเหล่าอำมาตย์ว่ากรุงศรีอยุธยา “ผลัดแผ่นดินเปลี่ยนราช เยียววิวาทชิงฉัตร” นั่นคือ กรุงศรีอยุธยามีการผลัดแผ่นดินเปลี่ยนกษัตริย์ อาจมีการวิวาทแย่งชิงแผ่นดินมาปกครอง พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชเคยมีพระราชปุจฉาว่า เศวตฉัตรมีกี่ชั้น พระธรรมอุดมและพระพุทธโฆษาจารย์ ได้ศึกษาคัมภีร์ต่าง ๆ มีเนื้อความต้องกัน เช่น มโนรถปุรณีอรรถกถา [มะ-โน-รด-ปุ-ระ-นี-อัด-ถะ-กะ-ถา] อังคุตรนิกาย [อัง-คุด-ตะ-ระ-นิ-กาย] ปัญจกนิบาต [ปัน-จะ-กะ-นิ-บาด] มีข้อความตอนหนึ่งแปลเป็นภาษาไทยได้ว่า “ท่านจงเลงแลดูสิริสมบัติของเรา เรานอนเหนือที่สิริไสยาสน์ ภายใต้เศวตฉัตรเจ็ดชั้น” ดังนั้น ท่านจึงถวายวิสัชนาว่า เศวตฉัตรสำหรับราชาภิเษก มี ๗ ชั้น
ในการพระราชพิธีบรมราชาภิเษกรัชกาลที่ ๙ นั้น โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เชิญฉัตร ๙ ชั้นไปปักกั้นเหนือพระที่นั่งภัทรบิฐ [พัด-ทฺระ-บิด] แทนฉัตร ๗ ชั้นที่มีมาแต่เดิม
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ผู้ที่ยอมร้อนเพื่อให้ประชาชนร่มเย็น
: นั่นแหละที่สมควรเป็น-ผู้บริหารบ้านเมือง
#บาลีวันละคำ (4,010)
5-6-66
…………………………….
…………………………….