บาลีวันละคำ

ตาณํกโร (บาลีวันละคำ 4,009)

ตาณํกโร

ฉายาพระ แปลว่าอะไร

ผู้เขียนบาลีวันละคำอ่านโพสต์ของญาติมิตรท่านหนึ่ง ท่านไปทำบุญแล้วนำมาบอกกล่าวเพื่อให้ญาติมิตรทั้งหลายร่วมอนุโมทนา อันเป็นกิจที่นิยมทำกันทั่วไป ท่านเขียนชื่อวัดที่ท่านไปทำบุญไว้ในวงเล็บว่า “วัดหลวงปู่ลี ตานังกโร” (ดูภาพประกอบ)

ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นคำว่า “ตานังกโร” ก็เกิดสิ่งที่นักเขียนท่านหนึ่งเรียกว่า “วาบความคิด” คือคิดว่าเป็นโอกาสที่จะ “หา” ความรู้ และ “ให้” ความรู้อีกคำหนึ่งแล้ว

ผู้เขียนบาลีวันละคำค้นหารูปหลวงปู่ลีทางอินเทอร์เน็ต ก็พบชื่อหลวงปู่ลี วัดหัวตลุก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ ตรงกับที่ญาติมิตรท่านนั้นไปทำบุญ เรียกเป็น “หลวงปู่ลี” ก็มี “หลวงพ่อลี” ก็มี แต่ฉายาของท่านสะกดเป็น “ตาณํกโร” ไม่ใช่ “ตานังกโร”

สรุปไว้ตรงนี้ก่อนว่า “ตานังกโร” เป็นคำที่สะกดผิด

คำถูกสะกดเป็น “ตาณํกโร

ตาณํกโร” อ่านว่า ตา-นัง-กะ-โร รูปคำเดิมเป็น “ตาณํกร” อ่านว่า ตา-นัง-กะ-ระ ประกอบด้วยคำว่า ตาณํ + กร 

(๑) “ตาณํ

อ่านว่า ตา-นัง รูปคำเดินเป็น “ตาณ” อ่านว่า ตา-นะ รากศัพท์มาจาก ตา (ธาตุ = ดูแล, รักษา) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แปลง เป็น

: ตา + ยุ > อน = ตาน > ตาณ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ธรรมที่ปกป้องรักษาให้พ้นจากอบายเป็นต้น” 

หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) แปล “ตาณ” ว่า พระนิพพาน, ธรรมเครื่องรักษา, เครื่องต้านทาน, เครื่องป้องกัน 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ตาณ” ว่า shelter, protection, refuge (ที่พึ่งพิง, ที่กำบัง, การป้องกัน, ที่พึ่ง) 

และขยายความว่า esp. as tt. of shelter & peace offered by the Dhamma. Mostly in combn with leṇa & saraṇa [also dīpa & abhaya], in var. contexts, esp. with ref. to Nibbāna (โดยเฉพาะอย่างยิ่งเป็นศัพท์เฉพาะหมายถึงที่กำบัง และความสงบจากพระธรรม ส่วนมากรวมกันกับ เลณ และ สรณ [ทีป และ อภย ด้วย], ในบริบทต่าง ๆ, โดยเฉพาะอย่างยิ่งเกี่ยวกับพระนิพพาน) 

ในภาษาไทย คำว่า “ตาณ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 

(๒) “กร” 

บาลีอ่านว่า กะ-ระ รากศัพท์มาจาก กรฺ (ธาตุ = ทำ) + (อะ) ปัจจัย 

: กรฺ + = กร แปลตามศัพท์ว่า –

(1) “การทำ” หมายถึง ผลิต, ก่อ, ประกอบ, กระทำ (producing, causing, forming, making, doing)

(2) “ผู้ทำ” หมายถึง ผู้กระทำ (the maker)

(3)“อวัยวะเป็นเครื่องทำงาน” หมายถึง มือ (the hand)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “กร” ไว้ว่า –

(1) กร ๑ : (คำนาม) ผู้ทํา, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น กรรมกร เกษตรกร. (ป.).

(2) กร ๒ : (คำนาม) มือ (มักใช้ในบทประพันธ์); แขน เช่น เจ้างามกรอ่อนดังงวงเอราวัณ. (กลบท); (ราชา) มือ, แขน, ปลายแขน, ใช้ว่า พระกร หรือ กร. (ป., ส.).

(3) กร ๓ : (คำนาม) แสง, ใช้ประกอบเป็นส่วนหลังของสมาส เช่น รัชนีกร นิศากร. (ป.).

ในที่นี้ “กร” มีความหมายตามข้อ (1) 

ตาณ + กร = ตาณํกร (ตา-นัง-กะ-ระ) แปลว่า “ผู้ทำที่พึ่ง

ขยายความ :

ตาณ + กร ทำไมไม่เป็น “ตาณกร” 

ตาณ” เป็น “ตาณํ” ได้อย่างไร

ตาณํกร” เป็นรูปคำที่ต่อเนื่องมาจาก “รูปวิเคราะห์” ในบาลีไวยากรณ์

“รูปวิเคราะห์” มีความหมายว่า “การกระจายคำเพื่อหาความหมาย” นั่นคือ ต้องผ่านกระบวนการกระจายคำเพื่อหาความหมายก่อน จึงจะมาเป็น “ตาณํกร

“รูปวิเคราะห์” ของ “ตาณํกร” ร่ายสูตรตามกระบวนว่า –

ตาณํ กโรตีติ ตาณํกโร (ตาณัง กะโรตีติ ตาณังกะโร)

แปลว่า ผู้ใด ย่อมกระทำ ซึ่งที่พึ่ง เหตุนั้น ผู้นั้น ชื่อว่า ตาณํกโร (ตาณํกโร แปลว่า “ผู้กระทำซึ่งที่พึ่ง”)

จะเห็นว่า ใน “รูปวิเคราะห์” “ตาณ” เปลี่ยนรูปเป็น “ตาณํ” เนื่องจากลง อํ วิภัตตินามที่สอง (ทุติยาวิภัตติ) เอกวจนะ วิภัตตินี้มีคำแปลเชื่อมว่า “ซึ่ง, สู่, ยัง, สิ้น, ตลอด, กะ” 

ยกคำแปลเต็มว่า –

ตาณํ ซึ่งที่พึ่ง 

ตาณํ สู่ที่พึ่ง

ตาณํ ยังที่พึ่ง

ตาณํ สิ้นที่พึ่ง 

ตาณํ ตลอดที่พึ่ง 

ตาณํ กะที่พึ่ง (“กะ” ในที่นี้หมายถึง “กับ”)

คำแปลคำไหนได้ความสนิทดี ก็เลือกใช้คำนั้น

ในที่นี้คำแปลว่า “ซึ่งที่พึ่ง” ได้ความสนิทดีกว่าคำอื่น

ประโยคบาลีในรูปวิเคราะห์แบ่งเป็น 2 ส่วน

ส่วนแรก “ตาณํ กโรตีติ” เรียกว่า “รูปวิเคราะห์”

ส่วนที่สองหรือส่วนหลัง “ตาณํกโร” เรียกว่า “บทปลง” หมายถึงรูปสำเร็จที่เกิดจากรูปวิเคราะห์

“ตาณํ” เกิดจาก “ตาณํ” 

“กโร” เกิดจาก “กโรติ”

ตาณํ + กโร ใช้สูตร “ไม่ลบวิภัตติบทหน้า” คือ อํ ที่ ตาณํ ยังคงไว้เป็น ตาณํ ดังนั้น บทปลงหรือรูปสำเร็จแทนที่จะเป็น “ตาณกโร” ตามรูปศัพท์เดิม จึงเป็น “ตาณํกโร” 

ตาณํกโร” รูปศัพท์เดิมเป็น “ตาณํกร” (ตา-นัง-กะ-ระ) ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของ “ภิกฺขุ” (ในที่นี้คือ หลวงปู่ลี หรือหลวงพ่อลี วัดหัวตลุก อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรคฺ) ซึ่งเป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ เปลี่ยนรูปเป็น “ตาณํกโร

คำว่า “ตาณํกโร” มีที่ไปที่มาด้วยประการฉะนี้

ตาณํกโร” ถ้าเขียนเป็นคำไทยก็จะสะกดเป็น “ตาณังกร” อ่านว่า ตา-นัง-กอน

คำเทียบที่เราน่าจะคุ้นกันก็อย่างเช่น –

เมธังกร” (เม-ทัง-กอน) เขียนแบบบาลีเป็น “เมธงฺกโร” (หรือ เมธํกโร) แปลว่า “ผู้ทำปัญญา” เป็นนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต

สรณังกร” (สะ-ระ-นัง-กอน) เขียนแบบบาลีเป็น “สรณงฺกโร” (หรือ สรณํกโร) แปลว่า “ผู้ทำที่พึ่ง” เป็นนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต

ทีปังกร” (ที-ปัง-กอน) เขียนแบบบาลีเป็น “ทีปงฺกโร” (หรือ ทีปํกโร) แปลว่า “ผู้ทำที่พึ่ง” หรือ “ผู้ทำแสงสว่าง” เป็นนามพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่งในอดีต

คำว่า “ทีปังกร” ในพระนามสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าทีปังกรรัศมีโชติ มหาวชิโรตตมางกูร สิริวิบูลยราชกุมาร ก็มาจากคำเดียวกันนี้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ทำความดีได้

: ก็ทำที่พึ่งให้ตัวเองได้

#บาลีวันละคำ (4,009)

4-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *