ทุพพัลย์ (บาลีวันละคำ 3,274)
ทุพพัลย์
หน้าใหม่ หัวใจเดิม
อ่านว่า ทุบ-พัน
“ทุพพัลย์” เขียนแบบบาลีเป็น “ทุพฺพลฺย” นักเรียนบาลีอ่านว่า ทุบ-พัน-ละ-ยะ อ่านตรงเสียงบาลีว่า ทุบ-พัน-เลียะ (ลฺ กับ ย อ่านควบกัน) รูปคำเดิมมาจาก ทุพฺพล + ณฺย ปัจจัย
(๑) “ทุพฺพล”
อ่านว่า ทุบ-พะ-ละ รากศัพท์มาจาก ทุ + พล
(ก) “ทุ” เป็นคำอุปสรรค นักเรียนบาลีในไทยท่องจำคำแปลได้ตั้งแต่ชั้นไวยากรณ์ว่า “ชั่ว, ยาก, ลําบาก, ทราม, น้อย”
(ข) “พล” (พะ-ละ) รากศัพท์มาจาก พลฺ (ธาตุ = มีชีวิต, ระวัง, ครอบงำ) + อ (อะ) ปัจจัย
: พล + อ = พล (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เหตุอันทำให้มีชีวิตอยู่ได้” “ผู้เฝ้าระวัง” “ผู้ครอบงำศัตรู”
“พล” ในบาลีใช้ในความหมาย 2 อย่างคือ :
(1) ความแข็งแรง, พลัง, อำนาจ (strength, power, force)
(2) กองทัพ, กองกำลังทหาร (an army, military force)
คำที่เขียนว่า “พล” ในภาษาไทย :
ถ้าใช้ตามลำพังอ่านว่า พน
ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า พน-ละ- ก็มี อ่านว่า พะ-ละ- ก็มี
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “พล” ไว้ดังนี้ –
“พล, พล– [พน, พนละ-, พะละ-] : (คำนาม) กำลัง, มักใช้ประกอบคำอื่น เช่น พระทศพล อันเป็นพระนามพระพุทธเจ้า หมายความว่า ทรงมีพระญาณอันเป็นกำลัง ๑๐ ประการ มีฐานาฐานญาณ คือ ปรีชาหยั่งรู้ฐานะและสิ่งที่มิใช่ฐานะเป็นต้น; ทหาร เช่น กองพล ตรวจพล ยกพลขึ้นบก; สามัญ, ธรรมดา ๆ, พื้น ๆ, เช่น ของพล ๆ; ยศทหารและตำรวจสัญญาบัตร รองจากจอมพล (เดิมใช้ว่า นายพล). (ป., ส.).”
ทุ + พล ซ้อน พฺ ในระหว่างคำ (ทุ + พฺ + พล)
: ทุ + พฺ + พล = ทุพฺพล แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีกำลังอันโทษประทุษร้าย”
“ทุพฺพล” เป็นคำคุณศัพท์ ใช้กับคน หมายถึง ผู้ไม่มีกำลัง หรือมีกำลังน้อย คือ อ่อนแอ (weak) ถ้าใช้กับสิ่งของ หมายถึง ของที่เก่าหรือทรุดโทรม (decayed, broken up, frail, decrepit, old)
ในภาษาไทยใช้เป็น “ทุพพล” (ทุบ-พน กรณีไม่มีคำอื่นสมาสท้าย) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทุพพล : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) มีกําลังน้อย, อ่อนแอ, ท้อแท้, ทุรพล ก็ว่า. (ป.; ส. ทุรฺพล).”
(๒) ทุพฺพล + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ
: ทุพฺพล + ณฺย = ทุพฺพลณฺย > ทุพฺพลฺย (ทุบ-พัน-เลียะ) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้มีกำลังอันโทษประทุษร้าย” หมายถึง ความเหนื่อยอ่อน, ความเบื่อ, ความหมดกำลัง (weariness, fatigue, exhaustion)
“ทุพฺพลฺย” เป็นรูปคำแปลกใหม่ที่เราไม่คุ้นตา แต่มีความหมายเท่ากับ “ทุพพลภาพ” ที่เราคุ้นหน้าคุ้นตากันดีอยู่แล้ว
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ทุพพลภาพ : (คำวิเศษณ์) หย่อนกําลังความสามารถที่จะประกอบการงานตามปรกติได้.”
“ทุพฺพลฺย” เขียนเป็นคำไทยว่า “ทุพพัลย์” อ่านว่า ทุบ-พัน เทียบกับคำเดิม “ทุพฺพล” เขียนเป็นคำไทยว่า “ทุพพล” อ่านว่า ทุบ-พน
ทุพพล > ทุพพัลย์ (ทุบ-พน > ทุบ-พัน)
เทียบกับคำว่า “บัณฑิต” = ผู้ทรงความรู้ กับ “บัณฑิตย์” = ความเป็นบัณฑิต, ความรอบรู้
บัณฑิต > บัณฑิตย์
ทุพพล > ทุพพัลย์
ขยายความ :
ตัวอย่างข้อความที่มีคำว่า “ทุพฺพลฺย” อยู่ในศีลข้อแรกของภิกษุ คือปาราชิกสิกขาบทที่ 1 มีข้อความดังนี้ –
…………..
โย ปน ภิกฺขุ ภิกฺขูนํ สิกฺขาสาชีวสมาปนฺโน
สิกฺขํ อปฺปจฺจกฺขาย ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา
เมถุนํ ธมฺมํ ปฏิเสเวยฺย อนฺตมโส ติรจฺฉานคตายปิ
ปาราชิโก โหติ อสํวาโสติ.
อนึ่ง ภิกษุใดถึงพร้อมซึ่งสิกขาและสาชีพของภิกษุทั้งหลายแล้ว
ไม่บอกคืนสิกขา ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง
เสพเมถุนธรรมโดยที่สุดแม้ในสัตว์ดิรัจฉานตัวเมีย
เป็นปาราชิกหาสังวาสมิได้.
ที่มา: ปฐมปาราชิกกัณฑ์ วินัยปิฎก มหาวิภังค์ ภาค 1
พระไตรปิฎกเล่ม 1 ข้อ 24
…………..
“ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา” แปลตามสำนวนบาลีว่า “ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง” “ความเป็นผู้ทุรพล” หรือ “ทุพฺพลฺย” หมายความว่า ไม่มีกำลังใจที่จะอยู่ครองเพศสมณะอีกต่อไป หรือพูดง่ายๆ ว่า ไปไม่ไหวแล้ว
เมื่อประจักษ์ใจตนเองว่าอยู่เป็นพระต่อไปไม่ไหวอีกแล้ว ก็บอกแจ้งคือประกาศให้เพื่อนพระด้วยกันรับรู้ว่าอยู่ไม่ไหวแล้ว ขอลาไปก่อน ทำอย่างนี้เรียกว่า “ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง” หากไปเสพเมถุนเข้า ไม่ถือว่าต้องอาบัติปาราชิก เพราะเท่ากับลาสึกล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
ถ้ารู้ตัวว่าอยู่ไม่ไหว แต่อุบเงียบ ไม่บอกใคร แล้วไปเสพเมถุนเข้า กรณีอย่างนี้ต้องอาบัติปาราชิก เพราะ “ทุพฺพลฺยํ อนาวิกตฺวา = ไม่ทำความเป็นผู้ทุรพลให้แจ้ง”
นี่เป็นเงื่อนแง่ทางพระวินัยที่เราท่านทั้งหลายอาจจะยังไม่เคยคิดถึง
“ทุพฺพลฺย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ทุพพัลย์” (ทุบ-พัน) คำนี้ยังไม่มีเก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 และยังไม่เคยเห็นใครใช้ในภาษาไทย เป็นคำที่ผู้เขียนบาลีวันละคำแปลงขึ้นมาเอง ขอฝากไว้ใน “อ้อมใจของมิตรรักแฟนเพลง” อีกคำหนึ่ง
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ไหวก็บอกว่าไม่ไหว ไม่มีใครว่า
: ไม่ไหวแล้วยังวางท่า นี่มันน่า…จะทำยังไงดี
#บาลีวันละคำ (3,274)
30-5-64