อันติม (บาลีวันละคำ 4,011)
อันติม
เชิญชิมแล้วจำไปพูดกันอีกสักคำ
อ่านโดยประสงค์ว่า อัน-ติม
“อันติม” เขียนแบบบาลีเป็น “อนฺติม” อ่านว่า อัน-ติ-มะ รูปคำเดิมมาจาก อนฺต + อิม ปัจจัย
(๑) “อนฺต”
อ่านว่า อัน-ตะ รากศัพท์มาจาก อมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ต ปัจจัย, แปลง มฺ ที่สุดธาตุเป็น นฺ (อมฺ > อนฺ)
: อมฺ > อน + ต = อนฺต (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ถึงที่สุด”
“อนฺต” ตามคำแปลนี้หมายถึง –
(1) ที่สุด, สำเร็จ, ที่หมาย (end, finish, goal)
(2) เขต, ชาย, ริม (limit, border, edge)
(3) ข้าง (side)
(4) ด้านตรงกันข้าม, ตรงกันข้าม, ตำแหน่งตรงกัน (opposite side, opposite, counterpart)
(๒) “อิม”
อ่านว่า อิ-มะ เป็นปัจจัยตัวหนึ่งในตัทธิต (ตัทธิต [อ่านว่า ตัด-ทิด] เป็นกระบวนการสร้างคำนามแบบหนึ่งในภาษาบาลี ด้วยวิธีลงปัจจัยซึ่งมีความหมายต่างๆ แทนศัพท์) ใช้แทนศัพท์ว่า “ชาต” (ชา-ตะ) แปลว่า “มี” “เป็น” “เกิด”
: อนฺต + อิม = อนฺติม (อัน-ติ-มะ) แปลตามศัพท์ว่า “มีในที่สุด” หมายถึง สุดท้าย, ที่สุด (last, final)
“อนฺติม” เขียนตามแบบไทยเป็น “อันติม” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ก็เก็บคำนี้ไว้เป็น “อันติม-” (กรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อันติมะ” บอกไว้ว่า –
“อันติม-, อันติมะ : (คำวิเศษณ์) สุดท้าย, สูงสุด, เช่น ความจริงอันติมะ คือ ความจริงสุดท้าย ความจริงสูงสุด. (ป.; อ. ultimate).”
ขยายความ :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนฺติม” ว่า last, final (สุดท้าย, ที่สุด) และขยายความไว้ว่า
used almost exclusively with ref. to the last & final reincarnation; thus in combn. with deha & sarīra, the last body
(ใช้เกือบทั้งหมดเกี่ยวกับการกลับชาติครั้งหลังสุด และครั้งสุดท้าย; ฉะนั้น ในเวลาควบกับ เทห และ สรีร, = ร่างกายอันสุดท้าย)
คำที่นำหน้าด้วย “อนฺติม” ในบาลีมีหลายคำ ขอยกมาเสนอเป็นบางคำดังนี้ –
(1) “อนฺติมเทห” (อัน-ติ-มะ-เท-หะ) และ “อนฺติมสรีร” (อัน-ติ-มะ-สะ-รี-ระ) แปลว่า “ร่างกายอันสุดท้าย” (the last body) คือ ผู้สิ้นอาสวกิเลสทั้งปวงแล้วเกิดเป็นครั้งสุดท้าย เมื่อดับชีพแล้วไม่มีอะไรไปเกิดในภพภูมิใดๆ อีก
(2) “อนฺติมวตฺถุ” (อัน-ติ-มะ-วัด-ถุ) พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปลไว้ว่า –
“the last thing”, i. e. the extreme, final or worst sin.
(“สิ่งของอันสุดท้าย”, คือ อันติมวัตถุ, โทษอันสุดยอดหรือเลวที่สุด)
ภาษาทางพระวินัย ถ้าพูดว่า “ต้องอันติมวัตถุ” หรือประพฤติผิด “ถึงขั้นอันติมวัตถุ” หมายถึง ต้องอาบัติปาราชิก
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบาย “อันติมวัตถุ” ไว้ว่า –
“อันติมวัตถุ : ‘วัตถุมีในที่สุด’ หมายถึงอาบัติปาราชิก ซึ่งทำให้ภิกษุและภิกษุณีผู้ต้อง มีโทษถึงที่สุด คือขาดจากภาวะของตน (และจะบวชใหม่กลับคืนสู่ภาวะนั้นก็ไม่ได้ด้วย).”
(3) “อนฺติมปุริส” (อัน-ติ-มะ-ปุ-ริ-สะ) ใช้ในภาษาไทยเป็น “อันติมบุรุษ”
“อันติมบุรุษ” หมายถึงคนสุดท้ายที่ทำให้เรื่องที่ดำเนินมาเป็นเวลานานสิ้นสุดลง เช่น ตระกูลหนึ่งบำเพ็ญกรณียะอันสมควรสืบต่อกันมาไม่ขาดสาย เช่นตั้งโรงทานไว้สี่มุมเมืองแล้วให้ทานสืบต่อกันมาหลายชั่วคนเป็นต้น ต่อมาผู้สืบสันดานของตระกูลนั้นมายกเลิกกรณียะนั้นเสียทั้งๆ ที่ยังสามารถทำได้ ผู้สืบสันดานคนนั้นชื่อว่า “อันติมบุรุษ” คือผู้ทำให้กรณียะของตระกูลมาสิ้นสุดขาดตอนลงที่ตน
ตามนัยนี้ “อันติมบุรุษ” ก็มีความหมายในทางไม่ดี กล่าวตามภาษานิยมก็ว่ามีความหมายในทางลบ
อีกนัยหนึ่ง กรณียะของตระกูลที่ดำริริเริ่มกันไว้ แต่ยังทำไม่สำเร็จ เช่นตระกูลหนึ่งต้องการเรียนวิชาแพทย์มาตั้งแต่รุ่นทวด แต่สอบเข้าเรียนไม่ได้ รุ่นปู่ก็สอบเข้าเรียนไม่ได้ มาถึงรุ่นพ่อ รุ่นลูก ก็ยังสอบเข้าเรียนไม่ได้อยู่นั่นเอง แต่มาสอบเข้าเรียนได้ในรุ่นหลาน ดังนี้ คนในรุ่นหลานนั้นก็ได้ชื่อว่า “อันติมบุรุษ” ในความหมายว่าผู้ทำให้กรณียะของตระกูลบรรลุถึงที่สุดได้ในรุ่นของตน
แต่พึงทราบว่าความหมายตามนัยหลังนี้เป็นการอธิบายช่วยโดยอัตโนมัติ เพื่อให้ “อันติมบุรุษ” มีความหมายในทางบวก
การจะเป็นคนแรกหรือคนสุดท้ายในกรณีใด ย่อมขึ้นอยู่กับอัธยาศัยสันดานของแต่ละคน
แถม :
“อนฺติม” ในบาลี พจนานุกรมฯ เก็บไว้เป็น “อันติม-” ใช้ในกรณีมีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย (เช่นคำ 4 คำ ที่ยกมาเป็นตัวอย่างข้างต้น) และ “อันติมะ” ใช้ในกรณีเป็นคำเดี่ยวหรืออยู่ท้ายคำ
ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเสนอให้ใช้คำนี้เป็น “อันติม” อีกคำหนึ่ง อ่านว่า อัน-ติม ใช้ในความหมายว่า ถึงที่สุด จบ เสร็จ หมดเรื่อง ไม่มีอะไรจะต้องพูดกันอีก เช่น –
คดีถึงที่สุด พูดว่า “คดีอันติมแล้ว”
เรื่องที่ตกลงกันได้แล้ว พูดว่า “เรื่องนี้อันติมแล้ว”
เป็นการช่วยให้ภาษาไทยพัฒนาไปในทางงอกงามอีกคำหนึ่ง
ดีกว่าเขียน “อยู่” เป็น “ยุ” แล้วบอกว่าเป็นการพัฒนาทางภาษา!
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เรื่องดีๆ ขออย่าให้จบที่เรา
: เรื่องเน่าๆ ขอให้เราเป็นคนจบ
#บาลีวันละคำ (4,011)
6-6-66
…………………………….
…………………………….