กฐินเดาะ
กฐินเดาะ
———-
กฐินคืออะไร คนไทยรุ่นเก่ารุ่นใหม่รู้จักกันทั่วไป แต่ “กฐินเดาะ” คืออะไร เชื่อว่าคนรุ่นใหม่คงไม่รู้จัก คนรุ่นเก่าส่วนมากก็อาจจะไม่รู้จักด้วย
ทบทวนกันหน่อยนะครับ
กฐินก็คือ “ผ้าพิเศษที่พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตแก่ภิกษุสงฆ์เฉพาะกฐินกาล” (พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔)
หลักการของกฐินก็คือ ภิกษุที่จำพรรษาครบ ๓ เดือน เมื่อออกพรรษาแล้วจะเป็นฤดูกาลเปลี่ยนเครื่องนุ่มห่มชุดเดิมชุดเดียวที่ใช้มาตลอดทั้งปี มีพุทธบัญญัติว่า เวลาที่หาผ้ามาเปลี่ยนกำหนดภายใน ๑ เดือนหลังจากวันออกพรรษา
ชาวบ้านที่รู้หลักการนี้ มีศรัทธาจะสงเคราะห์ภิกษุ จึงเอาผ้าไปถวาย เรียกว่า ทอดกฐิน
ภิกษุสมัยก่อนตัดเย็บจีวรใช้เอง อุปกรณ์สำคัญที่ใช้ในการตัดเย็บ คำบาลีเรียกว่า “กฐิน” แปลว่า กรอบไม้ขึงผ้า หรือที่คำไทยเรียกว่า ไม้สะดึง เวลาจะตัดเย็บต้องเอาผ้าขึงกับไม้สะดึงนี้ ผ้าที่เอามาทำด้วยเครื่องมือนี้จึงเรียกว่า ผ้ากฐิน
ตามปกติภิกษุที่จำพรรษามักอยู่รวมกันหลายรูป ดังภาพที่เราเห็นคุ้นตาในปัจจุบันก็คืออยู่รวมกันเป็นวัด
ชาวบ้านเอาผ้ามาถวายภิกษุที่จำพรรษาอยู่ด้วยกัน ไม่ได้ถวายรูปใดรูปหนึ่งเป็นส่วนตัว แต่ถวายเป็นของสงฆ์ คือที่เรารู้จักกันในนามว่า “สังฆทาน” เพราะชาวบ้านรู้ว่าถวายเป็นสังฆทานได้อานิสงส์มากกว่าถวายเป็นส่วนตัว เมื่ออยู่รวมกันหลายรูป แต่ผ้าที่ชาวบ้านถวายมีผืนเดียว จะทำอย่างไร
ตรงนี้เป็นจุดสำคัญของกฐิน นั่นคือ มีพุทธานุญาตให้ปฏิบัติดังต่อไปนี้ –
๑ ให้ภิกษุที่จำพรรษาอยู่ด้วยกันทั้งหมดประชุมกัน ลงมติยกผ้าผืนนั้นให้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่เห็นสมควร
๒ ภิกษุที่สงฆ์ลงมติยกผ้าให้เอาผ้านั้นไปดำเนินการตัดเย็บย้อมทำเป็นเครื่องนุ่งห่มผืนใดผืนหนึ่ง จะเป็นสบง จีวร หรือสังฆาฏิ ก็สุดแต่จะสามารถทำได้ โดยภิกษุทุกรูปจะต้องช่วยทำด้วย
๓ ภิกษุที่สงฆ์ลงมติยกผ้าให้นำผ้าที่ทำเสร็จแล้วมาเข้าที่ประชุมสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง เพื่อแจ้งให้ที่ประชุมทราบว่าทำผ้าเสร็จแล้ว
๔ ที่ประชุมรับทราบและร่วมกันแสดงความยินดี นั่นคือที่เราใช้คำพูดว่า “อนุโมทนา”
ขั้นตอนทั้ง ๔ นี้ เรียกเป็นภาษาพระว่า “กรานกฐิน”
ชาวบ้านทอดกฐิน
พระรับกฐิน
แล้วเอาไปกรานกฐิน
เมื่อปฏิบัติตามขั้นตอนที่กล่าวมานี้ครบถ้วนแล้ว ภิกษุทุกรูปจะได้รับสิทธิพิเศษ นั่นคือ ยืดเวลาหาผ้ามาเปลี่ยนจีวรชุดใหม่ จากกำหนดเดิมภายใน ๑ เดือนหลังจากวันออกพรรษาคือหมดเขตกลางเดือน ๑๒ ขยายเวลาออกไปได้อีก ๔ เดือน คือไปหมดเขตกลางเดือน ๔
ที่ว่ามานี้คือภาพรวมภาพหลักของกฐิน เมื่อพูดว่าทอดกฐินจะได้เข้าใจและมองเห็นภาพตลอดสายว่า ทอดกฐินคือใครทำอะไรอย่างไร
……………………
พึงทราบว่า ในกระบวนการทอดกฐินยังมีเงื่อนไขรายละเอียดอีกมาก ทั้งในส่วนที่ “ต้องทำ” และส่วนที่ “ห้ามทำ”
ส่วนที่ต้องทำ ก็อย่างเช่น
– ภิกษุที่จะรับกฐินได้ต้องจำพรรษาอยู่รวมกันตั้งแต่ ๕ รูปขึ้นไป เหตุผลคือ เมื่อแยกรูปที่สงฆ์ยกผ้าให้ออกไปแล้ว ที่เหลืออีก ๔ รูปก็ยังมีจำนวนที่เป็น “สงฆ์” ได้ (“สงฆ์” คือ ภิกษุตั้งแต่ ๔ รูปขึ้นไป)
– สถานที่ประชุมกรานกฐินต้องเป็นเขตสีมา หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่าต้องทำในโบสถ์
– การรับกฐินจนถึงกรานกฐินต้องทำให้เสร็จภายในวันนั้น คือทุกขั้นตอนเสร็จสิ้นก่อนรุ่งอรุณวันใหม่
ส่วนที่ห้ามทำ ถ้าไปทำเข้าก็จะเกิดผลเป็น “กฐินเดาะ”
………………………………………………
คำว่า “เดาะ” แปลว่า ร้าวจวนจะหัก เช่น ไม้คานเดาะ แขนเดาะ
คำว่า “กฐิน” แปลว่า กรอบไม้ขึงผ้า หรือไม้สะดึง
คำว่า “กฐินเดาะ” แปลว่า ไม้สะดึงร้าวจวนจะหัก
………………………………………………
ที่ว่านี้เป็นการแปลตามคำในภาษาไทย เพื่อให้มองเห็นภาพว่า ไม้สะดึงร้าวจวนจะหัก ก็คือไม่สามารถใช้ขึงผ้าเพื่อทำจีวรได้อีกต่อไป
คำว่า “กฐินเดาะ” แปลจากคำบาลีว่า “กฐินุทฺธาร” หรือ “กฐินุพฺภาร” แปลว่า “รื้อไม้สะดึง”
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “กฐินุพฺภาร” ว่า the suspension of the kaṭhina privileges (รื้อผ้ากฐินออก)
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “เดาะ” ไว้ว่า –
………………………………………………
เดาะ : (ในคำว่า “การเดาะกฐิน”) เสียหาย คือกฐินใช้ไม่ได้ หมดประโยชน์ หมดอานิสงส์ ออกมาจากคำว่า อุพฺภาโร, อุทฺธาโร แปลว่า “ยกขึ้น หรือรื้อ” เข้ากับศัพท์ กฐิน แปลว่า “รื้อไม้สะดึง” คือหมดโอกาสได้ประโยชน์จากกฐิน
………………………………………………
สรุปความหมายของคำว่า “กฐินเดาะ” ก็คือ ยกเลิกกฐิน กฐินเสียหายไม่เป็นกฐิน ไม่ใช่กฐิน เพราะเหตุบางอย่างหรือเพราะมีการกระทำที่ต้องห้าม
“เพราะเหตุบางอย่าง” เช่นไม่มีใครเอากฐินมาทอด คือตั้งแต่ออกพรรษาไปจนหมดเวลา ๑ เดือน ไม่มีใครเอาผ้ากฐินมาถวาย พอครบ ๑ เดือน ก็หมดเวลาที่จะใช้ไม้สะดึงทำจีวร คือที่เรารู้กันว่าหมดเขตทอดกฐิน ก็คือต้องรื้อไม้สะดึงเก็บ ตรงกับคำว่า “กฐินุทฺธาร” หรือ “กฐินุพฺภาร” ซึ่งแปลตามศัพท์ว่า “รื้อไม้สะดึง” คำคนเก่าแปลว่า “กฐินเดาะ”
ส่วนกฐินเดาะ “เพราะมีการกระทำที่ต้องห้าม” นี่แหละที่เป็นเรื่องสำคัญที่ควรสนใจอย่างยิ่ง
ในพระวินัยปิฎก ตอนที่ว่าด้วยกฐินขันธกะ คือเรื่องกฐิน ท่านแจกแจงการกระทำที่ต้องห้ามไว้หลายอย่าง ท่านใช้คำว่า “กฐินไม่เป็นอันกราน” (อนตฺถตํ โหติ กฐินํ) คือเมื่อกระทำอย่างนั้นๆ กฐินก็ไม่เป็นกฐิน ใช้ไม่ได้ ไม่ถูกต้อง ก็คือเสียหาย ความหมายเดียวกับ “กฐินเดาะ” นั่นเอง
การกระทำที่ต้องห้ามหลายอย่างนี่แหละที่ชาวบ้านส่วนมากไม่รู้ แม้แต่ชาววัดที่มีหน้าที่จะต้องปฏิบัติตามให้ถูกต้องนั่นเอง ถ้าไม่ศึกษาสำเหนียกเรียนรู้ก็จะไม่รู้เหมือนกัน
………………………………………………
และความจริงที่กำลังเกิดขึ้นก็คือ ชาววัดส่วนมากในเวลานี้ไม่มีอุตสาหะที่จะศึกษาสำเหนียกเรียนรู้หลักพระธรรมวินัย แต่กลับสนใจศึกษาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ กันมากขึ้น เป็นภาวะที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง
ผมพูดมาเสมอว่า ผมสนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรศึกษาเรียนรู้เรื่องอื่นๆ แต่ทั้งนี้จะต้องไม่ละเลยละทิ้งการศึกษาสำเหนียกเรียนรู้หลักพระธรรมวินัย
………………………………………………
ผมขอไม่ยกรายการ-การกระทำที่ต้องห้ามทั้งหมดมาแสดงในที่นี้ เพราะมีมากมายหลายข้อ ขอยกมาเป็นตัวอย่างเพียง ๒ ข้อ
(๑) น นิมิตฺตกเตน อตฺถตํ โหติ กฐินํ ฯ
แปลว่า กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่ทำนิมิตได้มา
เช่นภิกษุบอกกับญาติโยมว่า ผ้าผืนนี้เนื้อดี น่าจะเอาไปทอดกฐินนะ
ญาติโยมได้ยินดังนั้นก็เอาผ้ามาทอดกฐินที่วัดของภิกษุนั้นจริงๆ
แบบนี้กฐินไม่เป็นอันกราน คือเสียหาย ใช้ไม่ได้
(๒) น ปริกถากเตน อตฺถตํ โหติ กฐินํ ฯ
แปลว่า กฐินไม่เป็นอันกรานด้วยผ้าที่เลียบเคียงได้มา
เช่นภิกษุบอกแก่ญาติโยมว่า ทอดกฐินได้บุญมากนะโยม
ญาติโยมได้ยินดังนั้นก็มาทอดกฐินที่วัดของภิกษุนั้นจริงๆ
แบบนี้กฐินก็ไม่เป็นอันกราน คือเสียหาย ใช้ไม่ได้
สรุป ๒ ข้อรวมกันก็คือ ห้ามภิกษุออกปากขอให้ญาติโยมไปทอดกฐินที่วัดที่ตนจำพรรษาอยู่ ไม่ว่าจะออกปากตรงๆ หรือพูดเป็นนัยๆ
– ออกปากตรงๆ เช่น “เชิญญาติโยมไปเป็นเจ้าภาพทอดกฐินที่วัดอาตมานะ”
– พูดเป็นนัยๆ เช่น “วัดอาตมาปีนี้ยังไม่มีใครจองกฐินเลย”
ไม่ว่าจะพูด จะเขียน หรือจะใช้เทคนิคการสื่อสารแบบใดๆ ก็ตาม
อรรถกถาท่านสรุปความไว้ว่า –
………………………………………………
กฐินํ นาม อติอุกฺกฏฺฐํ วฏฺฏติ
อันว่าผ้ากฐิน เป็นของบริสุทธิ์จริงๆ จึงจะสมควร
มาตรมฺปิ วิญฺญาเปตุํ น วฏฺฏติ
แม้มารดาของตนก็ไม่ควรออกปากขอ
อากาสโต โอติณฺณสทิสเมว วฏฺฏติ ฯ
ต้องเป็นดังผ้าที่ลอยมาจากอากาศนั่นแลจึงจะเหมาะ
ที่มา: สมันตปาสาทิกา ภาค ๓ หน้า ๒๑๕
………………………………………………
พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย
๑๖ ตุลาคม ๒๕๖๕
๑๘:๐๓
…………………………….
…………………………….