บาลีวันละคำ

พุทธเจดีย์ (บาลีวันละคำ 4,012)

พุทธเจดีย์

คำง่ายๆ แต่ความหมายค่อนข้างยาก

อ่านว่า พุด-ทะ-เจ-ดี

ประกอบด้วยคำว่า พุทธ + เจดีย์

(๑) “พุทธ

เขียนแบบบาลีเป็น “พุทฺธ” (โปรดสังเกต มีจุดใต้ ทฺ) อ่านว่า พุด-ทะ รากศัพท์มาจาก พุธฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย, แปลง ธฺ ที่สุดธาตุเป็น ทฺ, แปลง เป็น ธฺ (นัยหนึ่งว่า แปลง ธฺ ที่สุดธาตุกับ เป็น ทฺธ)

: พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺต > พุทฺธ (พุธฺ + = พุธฺต > พุทฺธ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รู้ทุกอย่างที่ควรรู้

พุทฺธ” แปลตามศัพท์ได้หลายนัย ดังนี้ –

(1) สพฺพํ พุทฺธวาติ พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ทุกอย่างที่ควรรู้

(2) ปารมิตาปริภาวิตาย ปญญาย สพฺพมฺปิ เญยฺยํ อพุชฺฌีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้เญยธรรมทั้งปวงด้วยพระปัญญาที่ทรงสั่งสมอบรมมาแล้วเต็มเปี่ยม 

(3) พุชฺฌิตา สจุจานีติ พุทฺโธ = ผู้ตรัสรู้สัจธรรม 

(4) โพเธตา ปชายาติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยังหมู่สัตว์ให้รู้ตาม 

(5) สพฺพญฺญุตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ธรรมทุกอย่าง

(6) สพฺพทสฺสาวิตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงเห็นแจ้งธรรมทุกอย่าง

(7) อภิญฺเญยฺยตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงรู้ยิ่ง

(8 ) วิสวิตาย พุทฺโธ = ผู้ทรงทำพระนิพพานให้แจ้ง

(9) ขีณาสวสงฺขาเตน พุทฺโธ = ผู้ทรงสิ้นอาสวกิเลส

(10) นิรุปกฺกิเลสสงฺขาเตน พุทฺโธ = ผู้ทรงปราศจากอุปกิเลส

(11) เอกนฺตวีตราคโทสโมโหติ พุทฺโธ = ผู้ทรงปราศจากราคะ โทสะ โมหะโดยส่วนเดียว

(12) เอกนฺตนิกฺกิเลโสติ พุทฺโธ = ผู้ทรงสิ้นกิเลสแล้วโดยส่วนเดียว

(13) เอโก อนุตฺตรํ สมฺมาสมฺโพธึ อภิสมฺพุทฺโรติ พุทฺโธ = ผู้ตรัสรูพระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณลำพังพระองค์เดียว 

(14) อพุทฺธิวหตฺตา พุทฺธิปฏิลาภตฺตา พุทฺโธ = ผู้ทรงกำจัดอวิชชาและทรงได้วิชชา

(15) สวาสนสมฺโมหนิทฺทาย พุชฺฌติ ปพุชฺฌติ ปพุชฺฌนํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงตื่น ทรงปลุก ทรงทำให้ตื่นตัวจากความหลับไหลด้วยอำนาจสัมโมหะพร้อมทั้งวาสนา 

(16) พุชฺฌติ วิกสติ พุชฺฌนํ วิกสนํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงเบิกบาน แจ่มใส ทรงทำความเบิกบานแจ่มใส 

(17) เทฺว วฏฺฏมูลานิ ขนฺธสนฺตานโต สยเมว อุทฺธรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงเพิกถอนรากเหง้าแห่งวัฏฏะทั้งสองจากขันธสันดานได้ด้วยพระองค์เอง 

(18) เทว อตฺเถ อุทฺธริตฺวา ธาเรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยกประโยชน์สองประการขึ้นไว้ 

(19) พาลสงขาเต ปุถุชฺชเน วฏฺฏทุกฺขโต อุทฺธรติ อุทฺธรณํ กโรตีติ พุทฺโธ = ผู้ทรงยกปุถุชนคนพาลขึ้นจากวัฏทุกข์ 

ความหมายของ “พุทฺธ” ตามที่เข้าใจกันทั่วไปมักแปลว่า –

(1) ผู้รู้ = รู้สรรพสิ่งตามความเป็นจริง

(2) ผู้ตื่น = ตื่นจากกิเลสนิทรา ความหลับไหลงมงาย

(3) ผู้เบิกบาน = บริสุทธิ์ผ่องใสเต็มที่

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “พุทฺธ” ว่า –

One who has attained enlightenment; a man superior to all other beings, human & divine, by his knowledge of the truth, a Buddha (ผู้ตรัสรู้, ผู้ดีกว่าหรือเหนือกว่าคนอื่นๆ รวมทั้งมนุษย์และเทพยดาด้วยความรู้ในสัจธรรมของพระองค์, พระพุทธเจ้า)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พุทธ, พุทธ-, พุทธะ : (คำนาม) ผู้ตรัสรู้, ผู้ตื่นแล้ว, ผู้เบิกบานแล้ว, ใช้เฉพาะเป็นพระนามของพระบรมศาสดาแห่งพระพุทธศาสนา เรียกเป็นสามัญว่า พระพุทธเจ้า. (ป.).”

(๒) “เจดีย์” 

บาลีเป็น “เจติย” อ่านว่า เจ-ติ-ยะ รากศัพท์มาจาก –

(1) จิตฺ (ธาตุ = บูชา) + ณฺย ปัจจัย, ลง อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ-(ต) เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิตฺ + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลบูชา

(2) จิ (ธาตุ = ก่อ, สะสม) + ณฺย ปัจจัย, ลง อาคม และ อิ อาคม, ลบ ณฺ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ (จิ > เจ)

: จิ + + อิ + ณฺย = จิติณฺย >จิติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันเขาก่อด้วยอิฐเป็นต้น

(3) จิตฺต (จิต, ใจ) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลทำไว้ในจิต

(4) จิตฺต (วิจิตร, สวยงาม) + อิย ปัจจัย, แปลง จิตฺต เป็น เจต

: จิตฺต + อิย = จิตฺติย > เจติย แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันบุคคลสร้างอย่างวิจิตร

เจติย” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง เจดีย์, สิ่งที่ควรเคารพบูชา, กองหินซึ่งทำไว้เป็นที่ระลึกหรือเป็นสุสาน (a tumulus, sepulchral monument, cairn)

บาลี “เจติย” ในภาษาไทยใช้ทับศัพท์เป็น “เจดีย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

เจดีย-, เจดีย์ ๑ : (คำนาม) สิ่งซึ่งก่อเป็นรูปคล้ายลอมฟาง มียอดแหลม บรรจุสิ่งที่นับถือมีพระธาตุเป็นต้น, สิ่งหรือบุคคลที่เคารพนับถือ. (ป. เจติย; ส. ไจตฺย).”

พุทฺธ + เจติย = พุทฺธเจติย (พุด-ทะ-เจ-ติ-ยะ) แปลเท่าศัพท์ว่า “เจดีย์พระพุทธเจ้า” 

ในคัมภีร์มีศัพท์ว่า “พุทฺธเจติย” หมายถึง สถูปบรรจุสิ่งที่นับถือมีพระธาตุเป็นต้น

บาลี “พุทฺธเจติย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “พุทธเจดีย์” (พุด-ทะ-เจ-ดี) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

พุทธเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า มี ๔ ชนิด คือ ธาตุเจดีย์ บริโภคเจดีย์ ธรรมเจดีย์ และอุเทสิกเจดีย์.”

ขยายความ :

เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าทั้ง 4 ชนิด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายไว้ดังนี้ – 

(1) ธาตุเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์บรรจุพระธาตุ.

(2) บริโภคเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์ที่บรรจุเครื่องบริขารของพระพุทธเจ้า.

(3) ธรรมเจดีย์ : (คำนาม) คัมภีร์ที่จารึกพระธรรม เช่น พระไตรปิฎก, เจดีย์ที่บรรจุพระธรรมที่มักจารลงบนใบลาน.

(4) อุเทสิกเจดีย์ : (คำนาม) เจดีย์ที่สร้างอุทิศพระพุทธเจ้า ได้แก่ พระพุทธรูป.

…………..

แถม :

คำว่า “พุทธเจดีย์” ที่เราน่าจะคุ้นกันอยู่พอสมควรน่าจะเป็นคำที่อยู่ในชื่อหนังสือ “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” 

วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี ที่คำว่า “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” (อ่านเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2566 เวลา 20:30 น.) กล่าวถึงหนังสือ “ตำนานพุทธเจดีย์สยาม” ไว้ดังนี้ –

…………..

ตำนานพุทธเจดีย์สยาม เป็นพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เพื่อพิมพ์แจกในงานพระราชทานเพลิงศพ เจ้าจอมมารดาชุ่ม ในรัชกาลที่ 4 เมื่อ พ.ศ. 2469 ต่อมาในการพิมพ์ครั้งที่ 2 ได้ทรงเปลี่ยนชื่อจาก ตำนานพุทธเจดีย์สยาม เป็น ตำนานพระพุทธเจดีย์ และในฉบับพิมพ์ครั้งที่ 3 หม่อมเจ้าสุภัทรดิศ ดิศกุล ได้ทำเชิงอรรถเพิ่มเติมเพื่อพิมพ์ในงานพระราชทานเพลิงศพสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์

“ตำนานพระพุทธเจดีย์” เป็นพระนิพนธ์ที่ทรงคุณค่าแก่การอ่าน แม้จะมีพระนิพนธ์ไว้ตั้งแต่ พ.ศ. 2469 แต่เป็นขุมคลังความรู้เรื่องเจดีย์สถานอันเกี่ยวข้องกับพระพุทธศาสนา เมื่อแรกมีขึ้นในโลก และเมื่อแรกมีขึ้นในสยามประเทศ

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ของใหม่ จะสร้างก็ไม่มีศรัทธา

: ของเก่า จะรักษาก็ไม่มีความเลื่อมใส

: วันหนึ่งเถอะเมืองไทย 

: จะไม่เหลือพุทธเจดีย์ติดแผ่นดิน

#บาลีวันละคำ (4,012)

7-6-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *