โกหัญญะ (บาลีวันละคำ 4,013)
โกหัญญะ
“โกหัญ” – เสนอไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง
“โกหัญญะ” เขียนแบบบาลีเป็น “โกหญฺญ” อ่านว่า โก-หัน-ยะ รากศัพท์มาจาก กุหฺ (ธาตุ = งวยงง, โกง, ลวง) + ณฺย ปัจจัย, แปลง ณฺย เป็ย ญฺญ, แผลง อุ ที่ กุ-(หฺ) เป็น โอ (กุหฺ > โกห)
: กุหฺ + ณฺย = กุหณฺย > กุหญฺญ > โกหญฺญ (นปุงสกลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ความเป็นผู้หลอกลวง” หมายถึง ความหลอกลวง, มารยา (hypocrisy, deceit)
ขยายความ :
“โกหญฺญ” รากศัพท์มาจาก กุหฺ ธาตุ มีความหมายว่า งวยงง, โกง, ลวง คำที่เราคุ้นกันดีในภาษาไทย คือ “โกหก” ก็มาจาก กุหฺ ธาตุตัวนี้
“โกหก” ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“โกหก : (คำกริยา) จงใจกล่าวคําที่ไม่จริง, พูดปด, พูดเท็จ, (มักใช้ในที่ไม่สุภาพ). (ป., ส. กุหก).”
ในคัมภีร์ไม่พบศัพท์ “โกหก” คำที่ใกล้ที่สุดคือ “กุหก” ถ้าอ่านแบบไทยก็คือ กุ-หก แต่บาลีอ่านว่า กุ-หะ-กะ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้หลอกลวง” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง โกหก, โกง, หลอกลวง, ฉ้อฉล, ปลอม, เก๊ (deceitful, fraudulent, false)
นอกจากนี้ ในบาลียังมีคำที่ออกมาจาก กุหฺ ธาตุอีก คือ
– “กุห” (กุ-หะ) ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง โกหก, ฉ้อฉล, หลอกลวง (deceitful, fraudulent, false)
– “กุหนา” (กุ-หะ-นา) ใช้ในความหมายว่า –
(1) ความโกหก, ความฉ้อฉล, ความหลอกลวง (deceit, fraud, hypocrisy)
(2) สิ่งที่เป็นอันตราย (menacing)
ในภาษาไทยมีคำว่า “กุ” หมายถึง “สร้างให้เป็นเรื่องเป็นข่าวขึ้นโดยไม่มีมูล” อาจมีมูลมาจาก “กุหก” “กุหนา” ก็ได้
“โกหญฺญ” เขียนแบบไทยเป็น “โกหัญญะ” อ่านว่า โก-หัน-ยะ ถ้าจะให้เสียงกระชับเข้ามาอีกก็เขียนเป็น “โกหัญ” โดยอาศัยหลักนิยมในภาษาไทยที่มักตัดตัวสะกดออกตัวหนึ่ง
“โกหัญ” อ่านว่า โก-หัน เหลือ 2 พยางค์ ออกเสียงสะดวกปาก ฟังแต่เสียงก็มีเสียงคำไทยเป็นเพื่อนหลายคำ เช่น จังหัน กังหัน หมูหัน ซ้ายหัน ขวาหัน เพิ่ม “โกหัญ” เข้าไปอีกคำ ก็กลมกลืนเป็นไทยๆ ไม่ผิดกติกาและไม่รกรุงรังแต่ประการใด
“โกหัญ” มีความหมายว่า ความหลอกลวง หรือมารยา
เช่นพูดว่า “อย่ามาทำโกหัญกับฉันนะจ๊ะ”
แปลว่า อย่ามาใช้จริตมารยาหลอกฉันนะเธอ
ฟังดูก็น่ารักดี
“โกหัญ” ยังไม่มีในภาษาไทย ไม่มีเก็บไว้พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554
จึงขอฝากไว้ในวงวรรณอีกคำหนึ่ง
จะมีคนใช้ตามหรือไม่มีใครใช้เลย ไม่ใช่ปัญหา
ถ้าใช้ จะมีคนใช้มากใช้น้อย ไม่ใช่ปัญหา
จะใช้กันชั่วเวลานิดหน่อยหรือยาวนาน ก็ไม่ใช่ปัญหา
ช่วยกันสร้างความงามไว้ในภาษา-นั่นต่างหากที่ควรทำ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ถ้าไทยสอนไทย ไม่ภูมิใจที่จะฟัง
: ก็จงไปกราบเท้าฝรั่งให้มาสอนไทย-เถิด
#บาลีวันละคำ (4,013)
8-6-66
…………………………….
…………………………….