พันธ์-พันธุ์-พรรณ (บาลีวันละคำ 1000)
พันธ์–พันธุ์–พรรณ
ต่างกันอย่างไร
(๑) “พันธ์”
บาลีเป็น “พนฺธ” (พัน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผูก” ใช้ในความหมายว่า –
(1) การผูกชนิดหนึ่ง (a sort of binding)
(2) เชือกผูก, โซ่ (a halter, tether)
(3) ห่วง, ตรวน (bond, fetter)
(4) ผู้มัดหรือผูกรวมกันไว้ (one who binds or ties together)
(๒) “พันธุ์”
บาลีเป็น “พนฺธุ” (พัน-ทุ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เกี่ยวข้องกัน” “ผู้อันความรักผูกพัน” “ผู้ผูกพันคนอื่นไว้ในตน” หมายถึง –
(1) พวกพ้อง, ญาติ, เหล่ากอ (a relation, relative, kinsman)
(2) เกี่ยวข้อง, เกี่ยวพัน, ผูกพัน (connected with, related to, dealing with)
(๓) “พรรณ”
บาลีเป็น “วณฺณ” (วัน-นะ) สันสกฤตเป็น “วรฺณ” เราเขียนอิงสันสกฤตเป็น “พรรณ” (แปลง ว เป็น พ ตามสูตรที่พบได้ทั่วไป)
“วณฺณ” มีความหมายหลายอย่าง ขอนำมาแสดงไว้ในที่นี้เป็นเครื่องประดับความรู้ ดังต่อไปนี้ :
(ภาษาอังกฤษจากพจนานุกรมบาลี-อังกฤษ)
(1) สี (colour)
(2) รูปร่าง (appearance)
(3) ความรุ่งโรจน์โชติช่วง, ความแพรวพราว (lustre, splendor)
(4) ความงาม (beauty)
(5) สีหน้า, ท่าทาง (expression, look)
(6) สีของผิวเนื้อ, รูปร่าง, ผิวพรรณ (colour of skin, appearance of body, complexion)
(7) ชนิด, ประเภท (kind, sort เช่น นานาวณฺณ = ต่างๆ ชนิดกัน)
(8) “ลักษณะของเสียง” (timbre of voice) = อักษร (the alphabet)
(9) องค์ประกอบ, ความเหมือนกัน, สมบัติ; เหมือน (constitution, likeness, property; like เช่น อคฺคิวณฺณํ = เหมือนไฟ = like fire)
(10) ความประทับใจที่ดี, การสรรเสริญ (good impression, praise)
(11) เหตุผล (reason, ความหมายนี้ ฝรั่งแปลตามศัพท์ว่า “outward appearance” = ท่าทางภายนอก)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ :
(1) พันธ-, พันธ์, พันธะ : (คำกริยา) ผูก, มัด, ตรึง. (ป., ส.). (คำนาม) ข้อผูกมัด, ข้อผูกพัน
(2) พันธุ-, พันธุ์ : (คำนาม) พวกพ้อง, เชื้อสาย, วงศ์วาน; เทือกเถา, เหล่ากอ; เชื้อ เช่น ข้าวเก็บไว้ทำพันธุ์ พันธุ์ข้าว. (ป., ส.).
(3) พรรณ : (คำนาม) สีของผิว; ชนิด เช่น พรรณพืช พรรณไม้ พรรณสัตว์. (ส. วรฺณ; ป. วณฺณ).
อนึ่ง คำที่สะกดว่า “พัน” ในภาษาไทย มีความหมายตามที่ พจน.54 บอกไว้ดังนี้ :
(1) พัน ๑ : (คำวิเศษณ์) เรียกจํานวน ๑๐ ร้อย. (คำนาม) ตําแหน่งหัวหน้าทหารสมัยโบราณสูงกว่าหัวปาก, บรรดาศักดิ์ชั้นประทวนตํ่ากว่าหมื่น, ชื่อตําแหน่งหัวหน้านายเวรในกระทรวงมหาดไทยและกลาโหม, ยศทหารชั้นสัญญาบัตรรองจากนายพล.
(2) พัน ๒ : (คำกริยา) วนรอบด้วยสิ่งที่เป็นเส้นสายหรือสิ่งที่มีลักษณะเช่นนั้น เช่น พันคอ พันแผล เถาวัลย์พันกิ่งไม้, ม้วน เช่น พันไหมพรม, รัดโดยรอบ เช่น พันแข้ง, เกี่ยวกันไปมา, เกี่ยวกันยุ่งเหยิง, เช่น ด้ายพันกัน.
(3) ผูกพัน : (คำกริยา) มีความเป็นห่วงกังวลเพราะรักใคร่เป็นต้น; ก่อให้เกิดพันธะที่จะต้องปฏิบัติตาม; (การคลัง) ก่อหนี้สินผูกมัดรัฐบาลให้ต้องจ่ายในงบประมาณแผ่นดินต่อ ๆ ไป เช่น หนี้ผูกพัน งบประมาณผูกพัน รายจ่ายผูกพัน.
คำว่า “พัน” ที่หมายถึง “จำนวน ๑๐ ร้อย” ภาษาบาลีใช้ว่า “สหสฺส” (สะ-หัด-สะ) เป็นศัพท์สังขยา คำที่เราอาจจะพอคุ้นในภาษาไทย ก็อย่างเช่น “สหัสนัยน์” (สะ-หัด-สะ-ไน) แปลว่า “พันตา” หมายถึง พระอินทร์
คำที่มักมีปัญหาคือ “พันธุ์” กับ “พรรณ” เมื่อใช้พูดถึงพืชหรือสัตว์ จะใช้คำไหน
ตาม พจน. น่าจะสรุปเป็นหลักได้ว่า –
(๑) ถ้าหมายถึงพืชหรือสัตว์ที่จะใช้เป็นเชื้อให้เกิดมีพืชหรือสัตว์ชนิดนั้นๆ สืบสายกันต่อไปอีก ใช้ว่า “พันธุ์” เช่น ข้าวปลูกคือข้าวเปลือกที่คัดเก็บไว้ทำพันธุ์ สุกรพ่อพันธุ์ เนื้อสมันสูญพันธุ์ไปแล้ว
(๒) ถ้าหมายถึงชนิด ประเภท หรือจำพวกของพืชหรือของสัตว์นั้นๆ (มิได้มุ่งหมายจะพูดถึงการใช้พืชหรือสัตว์เพื่อการขยายพันธุ์) ใช้ว่า “พรรณ” เช่น ในสวนนี้มีไม้หลายพรรณ ( = มีไม้หลายชนิด) สัตว์ในป่านี้มีหลายพรรณ ( = มีสัตว์หลายชนิด)
อนึ่ง คำว่า “ผูกพัน” บางท่านพอใจที่จะเขียนเป็น “ผูกพันธ์” (มี ธ์ การันต์ด้วย) โดยอ้างว่า “พันธ์” แปลว่า “ผูก” ดังนั้นจึงสมควรเขียนเช่นนี้
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นด้วย
เมื่อใดที่ราชบัณฑิตยสถานประกาศออกมาว่า “ผูกพัน..เขียนเป็น ผูกพันธ์ ก็มี” เมื่อนั้นผู้เขียนบาลีวันละคำก็จะเขียนคำนี้เป็น “ผูกพันธ์” ทันที
แต่ขณะนี้ พจน.54 ซึ่งเป็นมาตรฐานการสะกดคำในภาษาไทยกำหนดให้เขียนว่า “ผูกพัน” (ไม่มี ธ์) ดังนั้น เพื่อไม่ให้เกิด “จลาจลทางภาษา” จึงสมควรเขียนตาม พจน.54 โดยทั่วกัน
วิชา :
ไม่ต้องรู้ถึงร้อยถึงพัน
ขอเพียงรู้แจ้งจริง สิ่งเดียวเท่านั้น ก็อาจเลี้ยงตัวได้พอ
เพื่อน :
ไม่ต้องมีถึงร้อยถึงพัน
ขอเพียงจริงใจต่อกัน หนึ่งเดียวเท่านั้น ก็เลี้ยงหัวใจได้พอ
————–
หมายเหตุ :
(๑) ตามนัยแห่งคำถามของ Chakkris Uthayophas เมื่อ 20 มี.ค.57
(๒) บาลีวันละคำ เขียนมาถึงคำที่ 1,000 (หนึ่งพัน) ในวันนี้ ผู้เขียนรู้สึกอัศจรรย์ใจเป็นอย่างยิ่งที่สามารถเอาคำบาลีมาพูดคุยกับญาติมิตรติดต่อกันมาได้ยาวนานถึง 1,000 วัน บวกวันที่หยุดโพสต์ (แต่ไม่ได้หยุดเขียน) เข้าไปด้วย ก็เขียนมานานกว่าหนึ่งพันวัน ผู้เขียนเชื่อมั่นว่า อานุภาพแห่งภาษาบาลีช่วยหล่อเลี้ยงชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เขียนให้ราบรื่นเรียบร้อยตลอดมา รู้สึกเป็นบุญยิ่งนัก
ขอแบ่งส่วนบุญนี้แก่ญาติมิตรทั้งปวง โปรดอนุโมทนาโดยทั่วกัน เทอญ
(๓) อนึ่ง ญาติมิตรที่มีไมตรีจิตขอให้ช่วยเขียนคำต่างๆ มาเป็นจำนวนมากนั้น ผู้เขียนไม่เคยลืม จะพยายามศึกษาหาความรู้นำมาเขียนในโอกาสอันควรต่อไป
12-2-58