บาลีวันละคำ

ธูมกาลิก (บาลีวันละคำ 4,058)

ธูมกาลิก

คำที่อาจพลิกชะตาพระศาสนา

อ่านว่า ทู-มะ-กา-ลิก

ประกอบด้วยคำว่า ธูม + กาลิก

(๑) “ธูม

อ่านว่า ทู-มะ รากศัพท์มาจาก ธู (ธาตุ = หวั่นไหว) + ปัจจัย

: ธู + = ธูม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เคลื่อนไหวขึ้นไปข้างบน” หมายถึง ควันไฟ, ไอ (smoke, fumes) 

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บรูปคำ “ธูม” ไว้ แต่เก็บเป็น “ธุม” (ธุ– สระ อุ) บอกไว้ว่า – 

ธุม, ธุม– : (คำแบบ) (คำนาม) ควัน. (ป., ส. ธูม).”

(๒) “กาลิก” 

บาลีอ่านว่า กา-ลิ-กะ รูปคำเดิมมาจาก กาล + อิก ปัจจัย

(ก) “กาล” บาลีอ่านว่า กา-ละ รากศัพท์มาจาก กลฺ (ธาตุ = นับ, คำนวณ, สิ้นไป) + ปัจจัย, ลบ , ทีฆะ อะ ที่ -(ลฺ) เป็น อา (กลฺ > กาล

: กลฺ + = กลณ > กล > กาล (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ :

1 เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

2 เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

(ข) กาล + อิก = กาลิก (กา-ลิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยกาล” (คือขึ้นอยู่กับเวลา) หมายถึง เป็นของเวลา, ประกอบด้วยกาล, ทันเวลา, ชั่วกาล (belonging to time, in time)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

กาลิก : (คำนาม) ของที่พระสงฆ์เก็บไว้ฉันได้ตามเวลาที่กําหนดให้ มี ๓ อย่าง คือ ๑. ยาวกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวตั้งแต่เช้าถึงเที่ยงวัน ได้แก่ข้าวปลาอาหาร ๒. ยามกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ได้แก่ นํ้าอัฐบาน ๓. สัตตาหกาลิก-ของที่เก็บไว้ฉันได้ชั่วคราวเพียง ๗ วัน ได้แก่ เภสัชทั้ง ๕. (ป.).”

กาลิก” ที่พจนานุกรมฯ เก็บไว้นี้ มีความหมายเกี่ยวกับอาหารเป็นหลัก 

แต่ “กาลิก” ในที่นี้ มีความหมายตามศัพท์ คือแปลว่า “ประกอบด้วยกาล” คือขึ้นอยู่กับเวลา และเล็งถึงเวลาชั่วครู่ยาม

ธูม + กาลิก = ธูมกาลิก (ทู-มะ-กา-ลิ-กะ) แปลตามศัพท์ว่า “ประกอบด้วยเวลาแห่งควันไฟ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “ธูมกาลิก” ว่า lasting till a person’s cremation (จวบจนเวลาเผาศพ) 

ธูมกาลิก” หมายถึง สิ่งที่ผู้หนึ่งผู้ใดคิดอ่านให้มีขึ้น มีผู้ทำตามเห็นดีเห็นงามเพียงชั่วเวลาที่ผู้เป็นเจ้าของความคิดมีชีวิตอยู่ พอเจ้าของความคิดตาย ก็ไม่มีใครสนใจอีกต่อไป 

ธูมกาลิก = จวบจนเวลาเผาศพ” มีความหมายเช่นนี้

ในภาษาไทย “ธูมกาลิก” อ่านว่า (ทู-มะ-กา-ลิก) คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

ธูมกาลิก” ที่น่าศึกษาเป็นข้อเตือนใจ ปรากฏในคำเสนอญัตติของพระมหากัสสปเถระในคราวที่พระอรหันต์ 500 ประชุมทำปฐมสังคายนาที่กรุงราชคฤห์เมื่อพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานล่วงแล้ว 3 เดือน 

ท่านบันทึกเหตุการณ์ครั้งนั้นไว้ในปัญจสติกขันธกะ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค 2 พระไตรปิฎกเล่ม 7 ข้อ 621 

ข้อความที่มีคำว่า “ธูมกาลิก” เป็นดังนี้ –

…………..

สุณาตุ  เม  อาวุโส  สงฺโฆ  สนฺตมฺหากํ  สิกฺขาปทานิ  คิหิคตานิ  คิหิโนปิ  ชานนฺติ  อิทํ  โว  สมณานํ  สกฺยปุตฺติยานํ  กปฺปติ  อิทํ  โว  น  กปฺปตีติ  ฯ  สเจ  มยํ  ขุทฺทานุขุทฺทกานิ  สิกฺขาปทานิ  สมูหนิสฺสาม  ภวิสฺสนฺติ  วตฺตาโร  ธูมกาลิกํ  สมเณน  โคตเมน  สาวกานํ  สิกฺขาปทํ  ปญฺญตฺตํ  ยาวิเมสํ  สตฺถา  อฏฺฐาสิ  ตาวิเม  สิกฺขาปเทสุ  สิกฺขึสุ  ยโต  อิเมสํ  สตฺถา  ปรินิพฺพุโต  นทานีเม  สิกฺขาปเทสุ  สิกฺขนฺตีติ  ฯ

…………..

แปลโดยประสงค์ดังนี้

…………..

สุณาตุ  เม  อาวุโส  สงฺโฆ  

ท่านทั้งหลาย ขอสงฆ์จงฟังข้าพเจ้า

สนฺตมฺหากํ  สิกฺขาปทานิ  คิหิคตานิ  

สิกขาบทของพวกเราที่ปรากฏแก่คฤหัสถ์มีอยู่

(ชาวบ้านที่รู้เข้าใจศีลของพระก็มีอยู่)

คิหิโนปิ  ชานนฺติ  

แม้พวกคฤหัสถ์ก็รู้ว่า –

อิทํ  โว  สมณานํ  สกฺยปุตฺติยานํ  กปฺปติ  

สิ่งนี้ควรแก่พระสมณะเชื้อสายพระศากยบุตร 

อิทํ  โว  น  กปฺปตีติ  ฯ

สิ่งนี้ไม่ควร 

(พระทำอะไรสมควร ทำอะไรไม่สมควร ชาวบ้านเขารู้)

สเจ  มยํ  ขุทฺทานุขุทฺทกานิ  สิกฺขาปทานิ  สมูหนิสฺสาม  ภวิสฺสนฺติ  

ถ้าพวกเราจักถอนสิกขาบทเล็กน้อยเสีย 

วตฺตาโร  ธูมกาลิกํ  สมเณน  โคตเมน  สาวกานํ  สิกฺขาปทํ  ปญฺญตฺตํ  

จักมีผู้กล่าวว่า พระสมณะโคดมบัญญัติสิกขาบทแก่สาวกทั้งหลายเป็นธูมกาลิก คืออยู่ได้ชั่วคราว 

ยาวิเมสํ  สตฺถา  อฏฺฐาสิ  

พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ยังดำรงอยู่ตราบใด 

ตาวิเม  สิกฺขาปเทสุ  สิกฺขึสุ  

สาวกเหล่านี้ก็ยังศึกษาในสิกขาบททั้งหลายตราบนั้น 

ยโต  อิเมสํ  สตฺถา  ปรินิพฺพุโต  

เพราะเหตุที่พระศาสดาของพระสมณะเหล่านี้ปรินิพพานแล้ว 

นทานีเม  สิกฺขาปเทสุ  สิกฺขนฺตีติ  ฯ

พระสมณะเหล่านี้จึงไม่ศึกษาในสิกขาบททั้งหลายในบัดนี้ 

…………..

พูดชัดๆ ว่า พระทั้งหลายปฏิบัติตามสิกขาบทที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติไว้เพียงเท่าที่พระองค์ยังทรงพระชนม์อยู่เท่านั้น

พอเผาศพพระพุทธเจ้าเสร็จ

ก็ไม่มีพระใจเด็ดคิดจะรักษาสิกขาบทอีกต่อไป

ธูมกาลิก = จวบจนเวลาเผาศพ” มีความหมายเช่นนี้แล

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าพระรักษาสิกขาบทชั่วเวลาควันจาง

: พระศาสนาก็อับปางไปตั้งแต่พุทธกาล

#บาลีวันละคำ (4,058)

23-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *