บาลีวันละคำ

น้ำฉันน้ำใช้ (บาลีวันละคำ 4,062)

น้ำฉันน้ำใช้

น้ำอะไรกันบ้าง

ภาษาไทยที่แปลมาจากบาลี หรือที่มักเรียกกันว่า “สำนวนบาลี” จะพบคำว่า “น้ำฉันน้ำใช้” ในที่ทั่วไป โดยเฉพาะในกรณีที่กล่าวถึงการจัดเตรียมสถานที่เพื่อรองรับคนที่จะมาร่วมทำกิจกรรม 

ถ้าเป็นชาววัดก็อย่างเช่น จัดเตรียมอุโบสถศาลาที่พระสงฆ์จะมาทำวัตรสวดมนต์เป็นต้น มีการทำความสะอาด ปัดกวาดอาสนะ ตามประทีปโคมไฟ ตั้งน้ำใช้น้ำฉัน เป็นต้น ตามธรรมเนียมพระจะตั้งเวรกันมาจัดเตรียม ถือเป็น “วัตร” อย่างหนึ่งที่ต้องช่วยกันทำตามวาระ

ถ้าเป็นชาวบ้านก็อย่างเช่นการจัดที่รับรองแขกเหรื่อเมื่อมีงาน หรือการจัดที่อยู่อาศัยให้มีความสะดวกสบายเป็นต้น 

กรณีดังกล่าวนี้ มักจะมีข้อความว่า “ตั้งน้ำฉันน้ำใช้” หรือ “จัดเตรียมภาชนะใส่น้ำฉันน้ำใช้

น้ำฉันน้ำใช้” เป็นคำที่ใช้สำหรับพระภิกษุสามเณร (“ฉัน” แปลว่า กิน ใช้แก่ภิกษุสามเณร) ถ้าเป็นชาวบ้านทั่วไปก็เรียกว่า น้ำกินน้ำใช้ หรือน้ำดื่มน้ำใช้

น้ำฉัน” หรือ “น้ำดื่ม” คือน้ำสำหรับดื่มกิน

น้ำใช้” คือน้ำที่ไม่ใช่น้ำดื่ม แต่ใช้ในกิจทั่วไป เช่น น้ำล้างเท้า ล้างมือ ล้างภาชนะ และใช้อาบเป็นต้น

น้ำฉัน” คำบาลีเรียกว่า “ปานีย

น้ำใช้” คำบาลีเรียกว่า “ปริโภชนีย

(๑) “ปานีย

บาลีอ่านว่า ปา-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก ปา (ธาตุ = ดื่ม) + อนีย ปัจจัย

: ปา + อนีย = ปานีย แปลตามศัพท์ว่า “น้ำอันเขาดื่ม” “น้ำที่ควรดื่ม” 

ปานีย” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) เป็นคุณศัพท์: ดื่มได้ (drinkable) 

(2) เป็นคำนาม (นปุงสกลิงค์): สิ่งที่ควรดื่ม, เครื่องดื่ม, โดยปกติคือน้ำสำหรับดื่ม (drink, be erage, usually water for drinking)

บาลี “ปานีย” สันสกฤตก็เป็น “ปานีย

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ 

ปานีย : (คำวิเศษณ์) อันดื่มได้, อันพึงดื่ม; อันพึงอบรม, อันพึงบ้องกันหรือรักษา; drinkable, to be drunk, to be cherished, protected or preserved; – (คำนาม) น้ำ; สุรา, เครื่องดื่ม; water; liquor, a drink.”

ในภาษาไทย ใช้เป็น “ปานีย-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “ปานียะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปานีย-, ปานียะ : (คำวิเศษณ์) ควรดื่ม, น่าดื่ม, ดื่มได้. (ป., ส.).”

(๒) “ปริโภชนีย

อ่านว่า ปะ-ริ-โพ-ชะ-นี-ยะ รากศัพท์มาจาก ปริ (คำอุปสรรค = รอบ) + ภุชฺ (ธาตุ = กิน, ใช้สอย) + อนีย ปัจจัย, แผลง อุ ที่ ภุ-(ชฺ) เป็น โอ (ภุชฺ > โภช)

: ปริ + ภุชฺ = ปริภุชฺ + อนีย = ปริภุชนีย > ปริโภชนีย แปลตามศัพท์ว่า “น้ำอันเขาพึงใช้สอย” “น้ำที่ควรใช้สอย” หมายถึง น้ำสำหรับล้าง, สิ่งที่ใช้สำหรับทำความสะอาด (water for washing, that which is used for cleaning)

ปริโภชนีย” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปริโภชนียะ” คำนี้ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ข้อควรสังเกต :

คำว่า “ปริโภชนีย” ในบาลี เป็นคำที่ควรสังเกต

บาลีมีคำว่า “โภชนีย” อีกคำหนึ่ง รูปศัพท์เหมือน “ปริโภชนีย” ต่างตรงที่ไม่มี ปริ– ข้างหน้า 

โภชนีย” หมายถึง สิ่งที่กินได้, อาหารที่บริโภคได้ (what may be eaten, eatable, food)

ปริโภชนีย” ก็ชวนให้เข้าใจว่าน่าจะเป็นของกินหรืออาหารเหมือน “โภชนีย

แต่ไม่ใช่เช่นนั้น พอเติม ปริ– เข้าข้างหน้า เป็น “ปริโภชนีย” ความหมายแตกต่างออกไปจาก “โภชนีย” คือหมายถึง น้ำ ไม่ใช่อาหาร และจำกัดลงไปด้วยว่าเป็น “น้ำใช้” ไม่ใช่น้ำดื่ม

ดูคำแปลเป็นอังกฤษจะยิ่งเห็นชัด

โภชนีย” = food

ปริโภชนีย” = water for washing

และ “ปริโภชนีย” เมื่อมาคู่กับ “ปานีย” ก็ชวนให้เข้าใจว่า เมื่อ “ปานีย” หมายถึง “น้ำ” “ปริโภชนีย” ก็น่าจะหมายถึงอาหาร หรือ “ข้าว” จะได้เข้าคู่กันเป็นข้าว-น้ำ หมายถึงอาหารการกิน มีข้าวมีน้ำพร้อม

แต่ก็ไม่ใช่เช่นนั้นอีก “ปริโภชนีย” เมื่อมาคู่กับ “ปานีย” ความหมายจะบังคับอยู่ในตัว ยิ่งเมื่อใช้เป็นคำบรรยายการจัดเตรียมสถานที่สำหรับพระสวดมนต์ไหว้พระหรือฟังธรรมตอนเย็น “ปริโภชนีย” จะหมายถึงอาหารหรือของกินไม่ได้เด็ดขาด

ปานีย” หมายถึง “น้ำฉัน”

ปริโภชนีย” หมายถึง “น้ำใช้”

…………..

ดูก่อนภราดา!

: น้ำบ่อน้ำคลอง

: ก็ยังเป็นรองน้ำใจ

(วาทะของพระนักเทศน์สมัยใหม่)

#บาลีวันละคำ (4,062)

27-7-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *