หัตถศิลป์ (บาลีวันละคำ 4,061)
หัตถศิลป์
อ่านว่า หัด-ถะ-สิน
ประกอบด้วยคำว่า หัตถ + ศิลป์
(๑) “หัตถ”
เขียนแบบบาลีเป็น “หตฺถ” อ่านว่า หัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –
(1) หสฺ (ธาตุ = ร่าเริง) + ถ ปัจจัย, แปลง สฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หสฺ > หตฺ)
: หสฺ + ถ = หสฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องเล่นสนุก” (เช่นใช้ปรบ ฟ้อนรำ) = มือ “อวัยวะเป็นที่เล่นสนุก” = ศอก
(2) หนฺ (ธาตุ = เบียดเบียน) + ถ ปัจจัย, แปลง นฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หนฺ > หตฺ)
: หนฺ + ถ = หนฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า (1) “อวัยวะเป็นเครื่องเบียดเบียนอวัยวะอื่น” (เช่นเกา ตบตี) = มือ (2) “เป็นที่ไปถึงแห่งอวัยวะทั้งหลาย” (หมายถึงมือเอื้อมถึง) = มวยผม
(3) หรฺ (ธาตุ = นำไป) + ถ ปัจจัย, แปลง รฺ ที่สุดธาตุเป็น ตฺ (หรฺ > หตฺ)
: หรฺ + ถ = หรฺถ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะเป็นเครื่องนำของไป” = มือ
(4) หตฺถ (มือ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: หตฺถ + ณ = หตฺถณ > หตฺถ แปลตามศัพท์ว่า “อวัยวะที่เหมือนมือเพราะทำหน้าที่มือให้สำเร็จประโยชน์ได้” = งวงช้าง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “หตฺถ” (ปุงลิงค์) ดังนี้ –
(1) hand (มือ)
(2) the hand as measure, a cubit (มือในฐานเป็นเครื่องวัด, ระยะหนึ่งศอก)
(3) a handful, a tuft of hair (เต็มมือ, ปอยผม)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถ-, หัตถ์ : (คำนาม) มือ; ศอกหนึ่ง; งวงช้าง. (ป.; ส. หสฺต).”
(๒) “ศิลป์”
เป็นรูปคำสันสกฤต บาลีเป็น “สิปฺป” อ่านว่า สิบ-ปะ รากศัพท์มาจาก –
(1) สปฺปฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + อ (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมต้นธาตุ (สปฺป > สิปฺป)
: สปฺป > สิปฺป + อ = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องดำเนินไปแห่งชีวิต” = อาศัย “สิ่งนั้น” จึงเลี้ยงชีวิต คือทำชีวิตให้ดำเนินไปได้
(2) สิ (ธาตุ = เสพ) + ป ปัจจัย, ซ้อน ปฺ ระหว่างธาตุกับปัจจัย
: สิ + ปฺ + ป = สิปฺป แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ปรารถนาประโยชน์แห่งตนเสพอาศัย” = ถ้าต้องการประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่ง ก็ต้องอาศัยศึกษาเรียนรู้ “สิ่งนั้น” จนทำได้ทำเป็น แล้วใช้สิ่งนั้นยังประโยชน์ให้เกิดตามต้องการ
“สิปฺป” (นปุงสกลิงค์) หมายถึง ศิลปะ, แขนงของความรู้, การช่าง (art, branch of knowledge, craft)
บาลี “สิปฺป” สันสกฤตเป็น “ศิลฺป”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ศิลฺป : (คำนาม) ‘ศิลปะ,’ กลา, หัสตหรือยันตรวิทยาอย่างใดอย่างหนึ่ง, ดุจหัสตกรรม, ฯลฯ; an art, any manual or mechanical art, as handicraft etc.”
คำว่า สิปฺป > ศิลป หมายถึงอะไรได้บ้าง :
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “สิปฺป” คำหนึ่งว่า art
พจนานุกรมสอ เสถบุตร แปล art ว่า วุฒิสามารถ, เล่ห์กระเท่ห์, อุบาย
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล art กลับเป็นบาลีว่า –
(1) sippa สิปฺป (สิบ-ปะ) = หลักความรู้
(2) kosalla โกสลฺล (โก-สัน-ละ) = ความฉลาด
(3) nepuñña เนปุญฺญ (เน-ปุน-ยะ) = ความจัดเจน
(4) cittakamma จิตฺตกมฺม (จิด-ตะ-กำ-มะ) = ภาพวาด, การวาดภาพ
(5) kalā กลา (กะ-ลา) = ชั้นเชิง > กล
บาลี “สิปฺป” ในภาษาไทยใช้อิงสันสกฤตเป็น “ศิลป” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ศิลป-, ศิลป์ ๑, ศิลปะ : (คำนาม) ฝีมือ, ฝีมือทางการช่าง, การทำให้วิจิตรพิสดาร, เช่น รูปสลักวีนัสเป็นรูปศิลป์ เขาทำดอกไม้ประดิดประดอยอย่างมีศิลปะ ผู้หญิงสมัยนี้มีศิลปะในการแต่งตัว; การแสดงออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์ด้วยสื่อต่าง ๆ อย่างเสียง เส้น สี ผิว รูปทรง เป็นต้น เช่น วิจิตรศิลป์ ศิลปะการดนตรี ศิลปะการวาดภาพ ศิลปะการละคร. (ส. ศิลฺป; ป. สิปฺป ว่า มีฝีมืออย่างยอดเยี่ยม).”
กฎการสะกด :
(ก) คำนี้ถ้าอยู่คำเดียว
– ต้องการให้อ่านว่า สิน-ละ-ปะ เขียนว่า “ศิลปะ” (ประวิสรรชนีย์ที่ ป)
– ต้องการให้อ่านว่า สิน เขียนว่า “ศิลป์” (การันต์ที่ ป)
– เขียนว่า “ศิลป” อยู่เดี่ยวหรืออยู่ท้ายคำ จะอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ได้ อ่านว่า สิน ก็ไม่ได้
(ข) ถ้าสมาสกับคำอื่น อยู่ต้นหรือกลางคำ และอ่านว่า สิน-ละ-ปะ ไม่ต้องประวิสรรชนีย์ที่ ป เช่น ศิลปศาสตร์ (สิน-ละ-ปะ-สาด) ไม่ใช่ ศิลปะศาสตร์
หัตถ + ศิลป์ = หัตถศิลป์ (หัด-ถะ-สิน)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“หัตถศิลป์ : (คำนาม) ศิลปะในการผลิตสิ่งต่าง ๆ ด้วยมือ โดยถือความงามเป็นหลัก. (ป.).”
ขยายความ :
“หัตถศิลป์” แปลงรูปเป็นบาลีเป็น “หตฺถสิปฺป” (หัด-ถะ-สิบ-ปะ) พบแห่งหนึ่งในคัมภีร์ มีข้อความดังนี้ –
…………..
สพฺพการุกสิปฺปานีติ สพฺเพหิ เวสฺสาทีหิ การุเกหิ กตฺตพฺพานิ ภตฺตตาลวณฺฏกรณาทีนิ หตฺถสิปฺปานิ ฯ
คำว่า สพฺพการุกสิปฺปานิ หมายถึง หัตถศิลป์ทั้งหลายมีการทำพัดใบตาลสำหรับพัดเวลาฉันภัตเป็นต้น อันนักศิลปะเช่นพ่อค้าเป็นต้นจะพึงกระทำ
ที่มา: ปรมัตถทีปนี (อรรถกถาเถรคาถา) ภาค 2 หน้า 572
…………..
แถม :
“หัตถศิลป์” หมายถึง งานศิลปะที่ผลิตด้วยมือ คือใช้มือทำ ไม่ได้ใช้เครื่องจักรทำ
งานบางอย่าง แม้ทำด้วยมือก็ไม่เรียกว่า “หัตถศิลป์” เช่น ปรุงอาหารหรือทำกับข้าว ยกเว้นของกินบางอย่าง เช่นผลไม้แกะสลัก สงเคราะห์เข้าเป็นงานหัตถศิลป์ชนิดพิเศษได้ แต่ไม่ใช่งานถาวร ดูเล่นสวยๆ เพียงครู่ยามก็หมดไป
…………..
ดูก่อนภราดา!
: หัตถศิลป์ต้องใช้มือทำ
: แต่กุศลกรรมทำได้ทั้งไตรทวาร
#บาลีวันละคำ (4,061)
26-7-66
…………………………….
…………………………….