บาลีวันละคำ

สยามินทร์ (บาลีวันละคำ 4,063)

สยามินทร์

อ่านว่า สะ-หฺยา-มิน

ประกอบด้วยคำว่า สยาม + อินทร์

(๑) “สยาม” 

อ่านว่า สะ-หฺยาม พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สยาม : ชื่อเรียกประเทศไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นประเทศไทยเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๘๒; ของประเทศไทย.”

มีผู้สันนิษฐานว่า “สยาม” ที่เป็นชื่อประเทศไทยมาจากคำสันสกฤตว่า “ศยาม” เนื่องจากคนไทยมีผิวสีคล้ำ

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

ศฺยาม : มีสีดำหรือสีครามหม่น; มีสีเขียว black or dark-blue; green.”

พจนานุกรมฯ 54 บอกไว้ว่า –

ศยาม : (คำวิเศษณ์) ดํา, คลํ้า. (ส.).”

ศฺยาม” สันสกฤต ตรงกับบาลีว่า “สาม” (สา-มะ)

สาม” รากศัพท์มาจาก –

(1) สา (ธาตุ = ทำให้บาง) + ปัจจัย

: สา + = สาม (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า (1) “สีอันเขาทำให้จางลงด้วยสีตรงข้าม” (2) “สีที่ทำให้ความสวยงามด้อยลง

(2) สา (ศรี, สิริ) + เม (ธาตุ = เปลี่ยน) + กฺวิ ปัจจัย, ลบ กฺวิ, แผลง เอ ที่ เม เป็น (เม > )

: สา + เม = สาเม + กฺวิ = สาเมกฺวิ > สาเม > สาม แปลตามศัพท์ว่า “สีเป็นเหตุเปลี่ยนไปแห่งสิริ

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกไว้ว่า “สาม : เทียบ ศฺยาม ดำ ศฺยาว น้ำเงิน (śyāma black & śyāva brown) และบอกความหมายไว้ดังนี้ –

1 ดำ, มืด (เหมือนน้ำตาลแก่) (black, dark [something like deep brown])

2 เหลือง, มีสีทอง, งดงาม (yellow, of a golden colour, beautiful)

จะเห็นได้ว่า สามศฺยาม ไม่ได้แปลว่าดำ หรือคล้ำ อย่างเดียว แต่หมายถึงสีเหลือง สีทอง หรืองดงามก็ได้ด้วย

บาลี “สาม” สันสกฤต “ศฺยาม” ไทยใช้เป็น “สยาม” 

สยาม” เป็นการเขียนอิงสันสกฤต (สันสกฤต ศฺ ศาลา ไทย ส เสือ) ถ้าเขียนเป็นบาลีอิงสันสกฤต ต้องมีจุดใต้ สฺ เป็น “สฺยาม” 

สฺยาม” ออกเสียง สฺ– กึ่งเสียง สฺยา-มะ ไม่ใช่ สะ-ยา-มะ 

สฺยาม” ในบาลี อ่านว่า เซียม จะได้เสียงที่ถูกต้อง

(๒) “อินทร

บาลีเป็น “อินฺท” อ่านว่า อิน-ทะ รากศัพท์มาจาก –

(1) อิทิ (ธาตุ = เป็นใหญ่ยิ่ง) + ปัจจัย, ลงนิคหิตอาคมที่ต้นธาตุแล้วแปลงนิคหิตเป็น นฺ (อิทิ > อึทิ > อินฺทิ), “ลบสระหน้า” คือ อิทิ + ลบ อิ ที่ (อิ)-ทิ (อิทิ > อิท)

: อิทิ > อึทิ > อินฺทิ > อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่ยิ่ง” คือ “ผู้กระทำความเป็นใหญ่ยิ่ง

(2) อินฺท (ธาตุ = ประกอบ) + (อะ) ปัจจัย

: อินฺท + = อินฺท แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ประกอบด้วยความยิ่งใหญ่

อินฺท” (ปุงลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายว่า –

(1) ผู้เป็นเจ้า, ผู้เป็นหัวหน้า, พระราชา (lord, chief, king)

(2) พระอินทร์ตามคัมภีร์พระเวท (The Vedic god Indra)

บาลี “อินฺท” สันสกฤตเป็น “อินฺทฺร” ไทยมักใช้ตามสันสกฤตเป็น “อินทร” (ใช้เป็น “อินท” ก็มี)

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

อินทร-, อินทร์ : (คำนาม) ชื่อเทวราชผู้เป็นใหญ่ในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์และชั้นจาตุมหาราช; ผู้เป็นใหญ่. (ส.; ป. อินฺท).”

สฺยาม + อินฺท = สฺยามินฺท (เซีย-มิน-ทะ) แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นใหญ่แห่งประเทศสยาม” “ผู้เป็นจอมสยาม

สฺยามินฺท” ในภาษาไทยใช้เป็น “สยามินทร์” (สะ-หฺยา-มิน) 

โปรดสังเกต “สยามินทร์ ม้า ตัวเดียว

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สยามินทร์ : (คำนาม) ผู้เป็นใหญ่ในสยามหมายถึง พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย.”

ขยายความ :

ตามศัพท์ “สยามินทร์” แปลว่า “ผู้เป็นใหญ่ในสยาม” แต่มิได้หมายความว่า ใครก็ได้ มาจากไหนก็ได้ มาด้วยวิธีใดก็ได้ พอมีตำแหน่งมีอำนาจในประเทศไทย ก็เรียกว่า “สยามินทร์” ได้ทันที มิใช่เช่นนั้น

สยามินทร์” หมายถึง “พระมหากษัตริย์ของประเทศไทย” เท่านั้น

แถม :

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เมื่อทรงลงพระปรมาภิไธย มักทรงลงลายพระหัตถ์ว่า “สยามินทร์

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เป็นใหญ่เหนือใจตน

: เป็นใหญ่เหนือใจคน

#บาลีวันละคำ (4,063)

28-7-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *