บาลีวันละคำ

มาตานุสติ (บาลีวันละคำ 4,077)

มาตานุสติ

ระลึกถึงแม่เนืองๆ

ไม่ใช่ระลึกถึงแม่แค่ปีละวัน

อ่านว่า มา-ตา-นุด-สะ-ติ

แยกศัพท์เป็น มาตา + อนุสติ

(๑) “มาตา

มาตา” เป็นศัพท์ที่แจกรูปตามวิภัตติแล้ว ศัพท์เดิมเป็น “มาตุ” อ่านว่า มา-ตุ รากศัพท์มาจาก –

(1) มานฺ (ธาตุ = รัก, ทะนุถนอม) + ราตุ ปัจจัย, ลบ ที่ ราตุ (ราตุ > อาตุ), ลบพยัญชนะที่สุดธาตุและสระ (มานฺ > มา > )

: มานฺ > มา > + ราตุ > อาตุ : + อาตุ = มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รักบุตรโดยธรรมชาติ

(2) ปา (ธาตุ = ดื่ม) + ตุ ปัจจัย, แปลง ที่ ปา เป็น (ปา > มา)

: ปา + ตุ = ปาตุ > มาตุ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังบุตรให้ดื่มนม

มาตุ + สิ วิภัตติ, แปลง อุ กับ สิ เป็น อา = มาตา หมายถึง แม่ (mother) 

ควรย้ำว่า ศัพท์เดิมคือ “มาตุ” ไม่ใช่ “มาตา” 

มาตา” เป็นศัพท์ที่ประกอบวิภัตติแล้ว ศัพท์เดิมเป็น “มาตุ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มาตา” ไว้ด้วย บอกไว้ว่า –

มาตา : (คำนาม) แม่. (ป.; ส. มาตฺฤ).”

มาตา” คือที่เราแปลงใช้ในภาษาไทยเป็น “มารดา” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 เก็บคำว่า “มารดา” ไว้กับคำว่า “มารดร” บอกไว้ว่า –

มารดร, มารดา : (คำนาม) แม่. (ป. มาตา; ส. มาตฺฤ).

(๒) “อนุสติ

บาลีเป็น “อนุสฺสติ” (โปรดสังเกต 2 ตัว) อ่านว่า อะ-นุด-สะ-ติ ประกอบด้วย อนุ + สติ

(ก) “อนุ” เป็นคำอุปสรรค มีความหมายว่า –

(1) ภายหลัง, ข้างหลัง (after, behind)

(2) ไปยัง, ตรงไปยังเป้าหมาย, ดำเนินต่อไป, ข้ามไปยัง, ข้างหน้า (for, towards an aim, on to, over to, forward)

ความหมายของ “อนุ” ที่เข้าใจกันหมู่นักเรียนบาลี คือ น้อย, ภายหลัง, ตาม, เนืองๆ

(ข) “สติ” รากศัพท์มาจาก สรฺ (ธาตุ = คิด, ระลึก; เบียดเบียน) + ติ ปัจจัย, ลบ รฺ ที่สุดธาตุ (สรฺ > )

: สรฺ + ติ = สรติ > สติ แปลตามศัพท์ว่า (1) “กิริยาที่ระลึกได้” (2) “ธรรมชาติเป็นเหตุให้ระลึกได้” (3) “ผู้เบียดเบียนความประมาท” 

สติ” หมายถึง ความระลึกได้, การจำได้, สติ; ความตั้งใจ, การมีใจตื่นอยู่, ความตระหนัก, ความระมัดระวัง, ความเข้าใจ, การครองสติ, มโนธรรม, ความมีสติถึงตนเอง (memory, recognition, consciousness, intentness of mind, wakefulness of mind, mindfulness, alertness, lucidity of mind, self-possession, conscience, self-consciousness)

อนุ + สติ ซ้อน สฺ : อนุ + สฺ + สติ = อนุสฺสติ แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกถึงเนืองๆ” 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “อนุสฺสติ” ว่า remembrance, recollection, thinking of, mindfulness (อนุสติ, ความระลึก, ความทรงจำ, ความคิด, ความตั้งใจ) (โปรดสังเกตคำแปลภาษาอังกฤษระหว่าง “สติ” กับ “อนุสฺสติ” บางคำตรงกัน)

บาลี “อนุสฺสติ” ในภาษาไทยใช้เป็น “อนุสติ” (ตัด ส เสือ ออกตัวหนึ่ง) พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ดังนี้ – 

อนุสติ : (คำนาม) ความระลึกถึง; ชื่อธรรมหมวดหนึ่ง เรียกว่า อนุสติ ๑๐ มีพุทธานุสติเป็นต้น. (ป. อนุสฺสติ).”

มาตา + อนุสติ = มาตานุสติ (มา-ตา-นุด-สะ-ติ) แปลตามศัพท์ว่า “การระลึกเนืองๆ ถึงมารดา” (recollection of mother)

ควรย้ำว่า “มาตานุสติ” เป็นคำที่เขียนตามบาลี รูปคำบาลีจะเป็น “มาตานุสฺสติ” (ส เสือ 2 ตัว) ยังไม่พบรูปศัพท์เช่นนี้ในคัมภีร์ และในจำนวนอนุสติ 10 ประการ ก็ไม่มี “มาตานุสติ

ในภาษาไทย คำว่า “มาตานุสติ” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

ขยายความ :

ผู้เขียนบาลีวันละคำได้เห็นคนเขียนถึงแม่ และได้ยินคนพูดถึงแม่ ในช่วงเวลาที่กำหนดให้มีวันแม่ คือวันที่ 12 สิงหาคมของทุกปี

และที่ได้เห็นเหมือนกันทุกปีก็คือ เราพูดถึงแม่กันวันเดียว พอพ้นวันแม่ไปแล้วก็ไม่ได้เห็นคนเขียนถึงแม่และไม่ได้ยินคนพูดถึงแม่อีกเลย จนกว่าจะถึงวันแม่ปีต่อไป

พูดถึงแม่และเขียนถึงแม่ปีละครั้งเดียวหรือปีละวันเดียว นับว่าไม่คุ้มกับพระคุณของแม่ที่คิดถึงลูกทุกลมหายใจ

ผู้เขียนบาลีวันละคำขอเชิญชวนให้เราคิดถึงพระคุณแม่กันทุกวันทุกคืน พูดถึงแม่และเขียนถึงแม่กันได้ตลอดทั้งปีและตลอดไป

ถ้าทำอะไรไม่เป็น นึกอะไรไม่ออกว่าจะทำอย่างไรดี ก็ขอเชิญชวนให้ประพฤติปฏิบัติตามคำกลอนใน “ดูก่อนภราดา!” ข้างล่างนี้เถิด

ปฏิบัติเช่นนั้นทุกคืนตราบเท่าที่ยังมีลมหายใจ

…………..

ส่วนท่านที่ยังคงยืนยันว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ท่านก็ไม่ต้องทำอะไร รอไว้ถึงวันที่ท่านมีโอกาสมีลูกเป็นของตัวเอง ค่อยทบทวนกันอีกที่ก็คงไม่สายเกินไป 

อนึ่ง ท่านที่มีลูกแล้วและยังคงยืนยันว่าพ่อแม่ไม่มีบุญคุณ ท่านก็ยังสามารถยืนยันได้ต่อไปและตลอดไป ไม่มีใครไปว่าอะไรท่านได้ เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพโดยสมบูรณ์ของมนุษย์ที่จะคิดและเชื่ออย่างไรก็ได้ แต่ความคิดและความเชื่อเช่นนั้นจะเป็นความจริงหรือไม่ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

อนึ่งเล่าเข้าที่ศรีไสยาสน์

อย่าประมาทหมั่นคํานับลงกับหมอน

เป็นนิรันดร์สรรเสริญเจริญพร

คุณบิดรมารดาคุณอาจารย์

ที่มา: สวัสดิรักษา ของสุนทรภู่

#บาลีวันละคำ (4,077)

11-8-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *