บาลีวันละคำ

พันปีหลวง (บาลีวันละคำ 4,078)

พันปีหลวง

บาลีว่าอย่างไร

คำว่า “พันปีหลวง” เป็นคำที่เรียกลัดตัดสั้นมาจากคำเต็มว่า “สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ไม่ได้เก็บคำว่า “พันปีหลวง” แต่เก็บคำว่า “พันปี” ไว้ บอกไว้ดังนี้ – 

พันปี : (คำนาม) คําเรียกพระราชชนนีว่า สมเด็จพระพันปี; (คำโบราณ) พระเจ้าแผ่นดิน.”

ตามพจนานุกรมฯ คําเรียกพระราชชนนี คือ “สมเด็จพระพันปี” ไม่ใช่ “สมเด็จพระพันปีหลวง” 

คำที่น่าจะเป็นที่มาของคำว่า “พันปี” คือคำว่า “พันวัสสา” เช่นพระนาม “สมเด็จพระศรีสวรินทิราบรมราชเทวี พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า” เป็นต้น

คำว่า “สมเด็จพระพันวษา” ที่ปรากฏในวรรณคดีเรื่อง “ขุนช้างขุนแผน” ก็น่าจะเป็นอีกคำหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับคำว่า “พันปี” 

คำว่า “พันวษา” ก็แปลว่า “พันปี” นั่นเอง ในที่นี้หมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน ดังที่พจนานุกรมฯ ว่าไว้ที่คำว่า “พันปี” และบอกว่าความหมายนี้เป็นคำโบราณ

ถ้าถือตามนัยนี้ คำว่า “พันปี” ก็มีมาก่อน แล้วจึงเอาไปแปลงเป็นบาลี เรียกและเขียนตามสะดวกปากว่า “พันวษา” แล้วมายุติเป็นรูปศัพท์ที่ถูกต้องว่า “พันวัสสา

วษา” ในคำว่า “พันวษา” นั้น เป็นการเขียนตามสะดวก รูปคำนี้ไม่มี แต่ก็ใกล้เคียงกับคำว่า “วรฺษ” ในสันสกฤต ซึ่งหมายถึง ปี

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ – 

(สะกดตามต้นฉบับ)

วรฺษ : (คำนาม) ‘วรรษ,’ ฝน; การประพรม; ปี; พลาหก; ฝนหรือฤดูฝน; rain; sprinkling; a year; a cloud; the rains, or rainy season.”

สันสกฤต “วรฺษ” บาลีเป็น “วสฺส” อ่านว่า วัด-สะ รากศัพท์มาจาก วสฺสฺ (ธาตุ = ราด, รด) + (อะ) ปัจจัย 

: วสฺสฺ + = วสฺส แปลตามศัพท์ว่า (1) “น้ำที่หลั่งรดลงมา” (2) “ฤดูเป็นที่ตกแห่งฝน” (3) “กาลอันกำหนดด้วยฤดูฝน” 

วสฺส” (ปุงลิงค์; นปุงสกลิงค์) ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –

(1) ฝน, ห่าฝน (rain, shower)

(2) ปี (a year)

(3) ความเป็นลูกผู้ชาย, ความแข็งแรง (semen virile, virility)

ในที่นี้ “วสฺส” มีความหมายตามข้อ (2) คือ ปี หรือ year

ส่วนคำว่า “พัน” ซึ่งหมายถึงจำนวน 1,000 = หนึ่งพัน (a thousand) บาลีเป็น “สหสฺส” อ่านว่า สะ-หัด-สะ แปลว่า “พัน

ภาษาไทยใช้เป็น “สหัส-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “สหัสสะ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

สหัส-, สหัสสะ : (คำวิเศษณ์) หนึ่งพัน คือ ๑๐ ร้อย (๑,๐๐๐). (ป.; ส. สหสฺร).”

ได้ศัพท์บาลีแล้ว เอามาประกอบกันตามหลักบาลี ก็จะเป็น “สหสฺสวสฺส” อ่านว่า สะ-หัด-สะ-วัด-สะ แปลตรงตัวว่า “พันปี”

ถ้าเอาคำบาลีมาพูดเป็นคำไทยว่า “สหัสวัสสา” อ่านว่า สะ-หัด-สะ-วัด-สา เสียงค่อนข้างขรุขระและไม่สะดวกปาก อาจเป็นเพราะเหตุนี้ เราจึงแปล “สหสฺส” ออกเป็นคำไทยว่า “พัน” แล้วประสมคำบาลีว่า “วัสสา” เป็น “พันวัสสา” ออกเสียงงายขึ้น

พันวัสสา” นี่เอง ออกเสียงตามสะดวกลิ้นเป็น พัน-วะ-สา แล้วเลยเขียนตามสะดวกมือเป็น “พันวษา”

พันวัสสา” แปลออกมาเป็น “พันปี” แล้วเติม “หลวง” เข้าข้างท้ายบอกให้รู้ว่าเป็นเจ้านาย จึงเป็น “พันปีหลวง”

ทั้งหลายทั้งปวงนี้ เป็นการเอาหลักบาลีมาทบทวนศึกษา อนุวัตตามช่วงเวลาพิเศษของชาวไทย คือ วันเฉลิมพระชนมพรรษาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง 12 สิงหาคม

…………..

ปรมราชมาตา  อโรคา  โหตุ

ทีฆายุกา  โหตุ  สพฺพทา.

ขอสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง

ทรงบำราศจากพระโรคาพาธ

ทรงพระเจริญยิ่งยืนนาน เทอญ

…………..

#บาลีวันละคำ (4,078)

12-8-66

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *