การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๒)
การเรียนบาลีที่กำลังเป็นไป (๒)
——————————-
ข้อเสนอแนะ
ข้อเสนอแนะของผมก็คือ เราต้องปรับปรุงระบบการเรียนบาลีกันใหม่
เรียนเพื่อสอบได้ ก็ยังคงทำกันต่อไป ไม่ต้องเลิก เพราะไม่ว่าจะอย่างไรนั่นก็คือศิลปะหรือ “เทคนิค” อย่างหนึ่งของการเรียน ถ้ารู้จักใช้ก็เกิดประโยชน์
แต่ต้องเพิ่มหรือ “ต่อยอด” อย่างอื่นเข้ามาอีก
เท่าที่เคยได้ฟังมา เวลานี้ก็มีผู้คิดปรับปรุงระบบการเรียนบาลีกันอยู่ แต่เป็นการปรับปรุงเพื่อให้นักเรียนมีโอกาสสอบได้ง่ายขึ้น มากกว่าที่จะปรับปรุงเพื่อให้นักเรียนมีความรู้กว้างขวางขึ้น
การสอบครั้งที่ ๒ หรือสอบแก้ตัวที่ใช้อยู่ในเวลานี้ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ปรับแก้ระบบเดิมซึ่งไม่มีการสอบแก้ตัว ตกแล้วตกเลย ปีหน้าสอบใหม่ (สมัยผมเรียน ไม่มีระบบสอบแก้ตัว)
สมัยผมสอบ เคยมีการคุยกันสนุกๆ ว่า ป.ธ.๙ ควรจะเปลี่ยนระบบเป็นทำวิทยานิพนธ์เหมือนปริญญาโท-เอกของทางโลก – นี่ก็เป็นหนึ่งในกระแสความคิดที่จะปรับปรุง
ถ้าแบบนี้ปรับปรุงได้ ปรับปรุงจากการเรียนแปลภาษาเป็นหลักมาเป็นการเรียนเพื่อเข้าใจเนื้อหาของคัมภีร์เป็นหลัก-เพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง ก็ควรทำได้ด้วย
คือแทนที่จะเรียนแปลภาษาอย่างเดียว ก็เพิ่มเรียน “อ่านเอาเรื่อง” ด้วย
แปลแล้วรู้-เข้าใจเรื่องราว
จับประเด็นของเรื่องได้
ขบธรรมะหรือวิเคราะห์ประเด็นได้
สามารถเชื่อมโยงไปยังเรื่องที่เกี่ยวข้องในคัมภีร์อื่นได้
นำไปปฏิบัติได้จริง ไม่ใช่แค่เรียนเพื่อรู้
และสามารถนำไปถ่ายทอดเผยแพร่ต่อไปได้ด้วย
คุณสมบัติหรือผลที่พึงประสงค์เหล่านี้ ควรกำหนดขึ้นเป็นเนื้อหาอีกส่วนหนึ่งของหลักสูตรการเรียนบาลี
แต่ที่สำคัญที่สุดและพึงประสงค์มากที่สุดก็คือ การส่งเสริม ปลูกฝัง กระตุ้นเตือน จูงใจ ให้นักเรียนมีอุตสาหะในการที่จะนำความรู้ที่ได้จากการเรียนบาลีไปศึกษาพระไตรปิฎกต่อไปอีก
แนวคิดจิตใจหรืออุดมคติแบบนี้ควรมีระบบที่จะปลูกฝังไปตั้งแต่เริ่มต้นเรียนบาลี ไม่ใช่ปล่อยให้เกิดขึ้นเองตามอัธยาศัย หรือตามศรัทธา หรือตามบุญตามกรรมอย่างที่กำลังเป็นอยู่
จบประโยค ๙ แล้ว มุ่งหน้าไปเป็นผู้เชี่ยวชาญการศึกษาสืบค้นพระไตรปิฎก-เป็นความฝันอันสูงสุดของนักเรียนบาลี
สร้างค่านิยมแบบนี้ขึ้นมาให้จงได้-ได้หรือไม่
หรือจะปล่อยให้มีอยู่แต่ในความฝัน!?
…………….
อีกเรื่องหนึ่งคือ แนวคิดเรื่องความหมายของ “การศึกษา”:
เป็นเพียงการเรียนวิชา
หรือต้องเป็นการปฏิบัติวิชาที่กำลังเรียนนั้นด้วย
ที่คิดเรื่องนี้ก็เพราะสังเกตเห็นว่า เวลานี้การเรียนนักธรรม-บาลีของคณะสงฆ์ไทยกำลังจะเอาอย่างคติของทางโลก
“คติทางโลก” ในเวลานี้ก็คือ การเรียนการสอนคือ “การบอกวิชา” เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการอบรมสั่งสอนเรื่องอื่นๆ
เวลานี้ครูมีหน้าที่เพียงบอกวิชาเท่านั้น ไม่มีหน้าที่อบรมสั่งสอนเรื่องอื่น
นิสัยใจคอ ความคิดความอ่าน ความประพฤติส่วนตัวของนักเรียน ไม่ต้องไปยุ่ง
ดังที่เวลานี้ นักเรียนส่วนมากก็กำลังถือคตินี้ โดยเฉพาะในระดับอุดมศึกษา – มีหน้าที่สอน สอนไป ไม่ต้องมา “เผือก” กับเรื่องส่วนตัวของผู้เรียน
จากระบบเดิมของไทยเรา ครูสอนศิษย์ทุกเรื่อง สอนได้ทุกที่ สอนตั้งแต่ในโรงเรียนจนถึงบ้าน กำลังกลายเป็น-ครูสอนได้เฉพาะในโรงเรียน
และกำลังจะถูกบีบให้แคบเข้าไปอีก-ครูสอนได้เฉพาะในห้องเรียนเท่านั้น ก้าวเท้าออกจากห้องแล้ว-แม้จะอยู่ในโรงเรียนนั่นแหละ- ขอโทษ อย่ามาเผือกกับชีวิตกรู
…………….
ในการเรียนบาลี (รวมทั้งการเรียนนักธรรม) แบบธรรมเนียมที่ดีงามในห้องเรียนยังปฏิบัติกันอย่างเคร่งครัดหรือไม่ เช่น สวดมนต์ไหว้พระก่อนเริ่มเรียนและหลังเลิกเรียน ในห้องเรียนครองจีวรเป็นปริมณฑลตลอดเวลา สำรวมกิริยาวาจาเป็นการเคารพพระธรรม ฯลฯ
นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งที่การศึกษากับการปฏิบัติเป็นเนื้อเดียวกัน
พึงสดับ:
พระสารประเสริฐ (ตรี นาคะประทีป) เปรียญธรรม ๗ ประโยค สำนักวัดเทพศิรินทราวาส ผู้แปลวรรณกรรมเรื่อง “กามนิต” ที่โด่งดังร่วมกับพระยาอนุมานราชธน (ยง เสฐียรโกเศศ) ท่านเป็นอาจารย์พิเศษประจำแผนกวิชาภาษาบาลี คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วันหนึ่ง เมื่อถึงชั่วโมงสอน ท่านเดินเข้าห้องเรียน เมื่อนิสิตลุกขึ้นทำความเคารพและนั่งลงแล้ว พระสารประเสริฐนั่งนิ่งเป็นครู่ใหญ่ ไม่ลงมือสอน จนนิสิตเอะใจ เหลียวดูกันเองและได้เห็นนิสิตคนหนึ่งนั่งไขว่ห้าง จึงสะกิดกันให้รู้ตัว เมื่อนิสิตคนนั้นนั่งเป็นปกติแล้ว พระสารประเสริฐจึงเริ่มสอน แต่ไม่ได้สอนภาษาบาลี หากแต่สอนเรื่องกิริยามารยาทในห้องเรียนเมื่ออยู่ต่อหน้าครูอาจารย์
นักเรียนสมัยใหม่ฟังเรื่องนี้แล้วคงจะบอกว่า เรื่องไม่เป็นเรื่อง ไร้สาระ เรื่องแค่นี้ทำเป็นเรื่องใหญ่ไปได้
นักเรียนบาลีคงจำได้ถึงคาถา ๒ วรรคในพระธรรมบทที่ว่า –
……………………
มาวมญฺเญถ ปาปสฺส
น มตฺตํ อาคมิสฺสติ.
(ปาปวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๙
ธัมมปทัฏฐกถา ภาค ๕)
……………………
แปลตามศัพท์ว่า “อย่าพึงดูหมิ่นบาปว่าเล็กน้อย จักไม่มาถึง”
แปลตามสำนวนพูดในปัจจุบันว่า “เรื่องแค่นี้ไม่เห็นจะเป็นไร”
เรียนบาลี แปลได้ แต่ไม่เอามาปฏิบัติ จะมีประโยชน์อะไร
…………….
ปี ๒๕๑๒-๒๕๑๓ ผมไปจำพรรษาอยู่วัดสามพระยาเพื่อเรียนชั้น ป.ธ.๘ และ ป.ธ.๙ เลิกเรียนแต่ละวันนักเรียนกลุ่มหนึ่งจะนัดหมายกันไปทบทวนวิชาที่วัดนรนาถสุนทริการามซึ่งอยู่ไม่ไกลนักจากวัดสามพระยา
พระเดชพระคุณหลวงพ่อเจ้าอาวาส พระธรรมวราภรณ์ (สนั่น จนฺทปชฺโชโต ป.ธ.๙, สมณศักดิ์สุดท้าย สมเด็จพระมหามุนีวงศ์) ท่านอนุญาตให้ใช้บริเวณหน้าประตูเข้ากุฏิของท่านเป็นที่เรียน ตรงนั้นเป็นพื้นเทปูนเรียบ สะอาด มีหลังคายื่นออกมาจากกุฏิ เหมาะสำหรับเป็นที่ชุมนุม
พวกเรานั่งกับพื้นนั่นเลย ไม่ต้องปูเสื่อ ท่านมหารูปหนึ่งทำหน้าที่แปลเป็นหลัก พวกเราดูตาม คอยทักเมื่อเห็นว่าน่าจะแปลผิด บางทีก็ถกเถียงกันในหลักวิชา เป็นที่คักคักดีมาก
น่าสังเกตว่า แม้จะไม่ใช่ห้องเรียน แต่นักเรียนทุกรูปครองจีวรเรียบร้อย นั่งตามอัธยาศัย บางทีก็เหยียดขา ไม่ว่ากัน ใครเมื่อยก็เอนนอนขลุกกันอยู่นั่น
วันหนึ่ง ท่านมหาที่ทำหน้าที่แปลเป็นหลักนอนพังพาบ ใช้ข้อศอกยันพื้น หนังสือกางอยู่ตรงหน้า กำลังแปลเจื้อยแจ้วอยู่ พระเดชพระคุณหลวงพ่อท่านออกไปธุระนอกกุฏิกำลังกลับเข้ามา ท่านเดินผ่านพวกเราเข้าประตูกุฏิ แต่ก่อนจะผ่านท่านเปรยออกมาพอได้ยินทั่วกัน
“มหา (ออกชื่อ) นอนแปลหนังสือได้ยังไง” แล้วท่านก็เข้ากุฏิไปเงียบๆ
ท่านมหารูปนั้นเด้งตัวขึ้นจากพื้นเหมือนมีสปริง พวกเราสำรวมกิริยากันพึบพับ
ผมแปลกใจ ท่านมหารูปนั้นไม่ใช่พระวัดนรนาถฯ แต่พระเดชพระคุณท่านเรียกชื่อถูก นี่แปลว่าแม้ท่านจะไม่ได้สอนพวกเราในห้องเรียน แต่นักเรียนบาลีเป็นใครบ้าง ทำอะไรกันบ้าง อยู่ในความสังเกตของท่านตลอด อะไรไม่ถูกไม่ดีไม่งาม ท่านไม่ปล่อยให้ลอดสายตาของท่านไปได้เลย ครูบาอาจารย์สมัยก่อนท่านละเอียดลออจริงๆ ผมจำติดใจมาจนถึงทุกวันนี้
…………….
อย่างที่ผมเคยถามว่า ในมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้งสองแห่ง เมื่อเริ่มชั่วโมงเรียน ไหว้พระสวดมนต์กันก่อน และเมื่อหมดคาบก็ไหว้พระกันอีกครั้งหนึ่ง-ยังทำอย่างนี้กันอยู่หรือเปล่า
ชั้นเรียนในมหาวิทยาลัยทางโลกเขาไม่ทำกัน เราก็เลยไม่ทำตามเขาไปด้วย ยิ่งเวลานี้มีคฤหัสถ์มาร่วมเรียนด้วยมากขึ้น เราก็เลยโอนตามชาวบ้านไปหมดแล้ว-หรือเปล่า?
ที่ว่ามานี้เป็นข้อยืนยันว่า หลักการของเรา การเรียนกับการประพฤติปฏิบัติ-แม้ในเรื่องเล็กน้อย เป็นเนื้อเดียวกัน ต้องควบคู่กันไปเสมอ
ทุกวันนี้สังเกตได้ว่าเราเริ่มจะหละหลวมกันมากขึ้น เห็นการอบรมสั่งสอนเป็นเรื่องเล็กน้อย และกำลังจะพากันเห็นว่าเป็นเรื่องอยู่นอกขอบเขตของการเรียน-เหมือนกับที่นักเรียนทางโลกกำลังจะเป็นกันอยู่
และที่น่าจับตาก็คือ เวลานี้มีกระแสลัทธิ “การนับถือศาสนาเป็นสิทธิส่วนบุคคล” ถูกเผยแพร่และชื่นชมกันมากขึ้นเรื่อยๆ
ถ้าเอาลัทธินี้มาอ้างกันพร่ำเพรื่อและไม่จำกัดความหมายให้ถูกต้องชัดเจน ต่อไปในอนาคตเราอาจจะได้ยินพระภิกษุสามเณรประกาศว่า อาตมาจะรักษาศีลข้อไหนบ้างเป็นสิทธิส่วนบุคคล คนอื่นไม่ต้องมายุ่ง
นักเรียนบาลียุคนั้นก็อาจบอกว่า ผมจะใส่อังสะตัวเดียวนั่งกระดิกขาแปลบาลีในห้องเรียน มันก็สิทธิส่วนบุคคลของผม อาจารย์มายุ่งอะไรด้วย
ดูไม่จืดเลยละขอรับ
สรุปข้อเสนอของผมก็คือ
(๑) ปรับปรุงหลักสูตรบาลีให้นักเรียนมีความรู้ความเข้าใจในเนื้อหาที่เรียนอย่างแท้จริง ไม่ใช่เรียนเฉพาะแปลภาษา แต่เรียนเนื้อหาในเรื่องที่แปลด้วย
(๒) ปรับปรุงหลักสูตรบาลีให้นักเรียนมีความรู้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนากว้างขวางทั่วถึง ไม่ใช่รู้เฉพาะ ๕ คัมภีร์ที่ใช้เป็นแบบเรียนเท่านั้น ซ้ำใน ๕ คัมภีร์นั่นเองก็ยังรู้ไม่ทั่วถึงอีกต่างหาก
(๓) เน้นย้ำว่าในหลักสูตรบาลีนี้ การเรียนภาษากับการฝึกหัดขัดเกลาตนเองเป็นเรื่องเดียวกัน เรื่องที่เรียนนั้นต้องพร้อมที่จะนำไปปฏิบัติในชีวิตจริงตามโอกาสและกรณีที่มาถึงเข้า ไม่ใช่เรียนมาอย่างหนึ่ง ทำไปอีกอย่างหนึ่ง
ตอนหน้า: ใครจะเป็นคนปรับปรุง
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๔
๑๖:๓๙
…………………………….
…………………………….