บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

กาแฟต้นเดียว

กาแฟต้นเดียว

————–

ช่วงเวลาที่ผมเป็นวิทยากรโครงการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท (พ.ศ.๒๕๔๒-๒๕๔๔) หน้าที่วิทยากรทำให้ต้องศึกษาเรียนรู้พระราชกรณียกิจในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร รัชกาลที่ ๙ เพื่อเป็นข้อมูลในการบรรยายถ่ายทอด 

…………………………………………………….

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/pfbid0B8oevU69BL5QAshgShMihajLffda9K6CZTMyFvYJAR1BrTCLLa2T113EhQ4YuqyJl

…………………………………………………….

กระบวนการศึกษาเรียนรู้ทำให้ได้พบเรื่องที่ประทับใจมากมายหลายเรื่อง – และนี่เป็นเรื่องหนึ่ง

ขออนุญาตเล่าด้วยภาษาธรรมดา

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงริเริ่มโครงการต่างๆ เป็นอันมากเพื่อช่วยเหลือประชาชน หนึ่งในบรรดาโครงการเหล่านั้นก็คือการแนะนำให้ชาวเขาเลิกปลูกฝิ่น หันมาปลูกพืชการเกษตร หนึ่งในจำนวนพืชเหล่านั้นคือ กาแฟ ทรงมอบหมายให้หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี รับผิดชอบโครงการทำไร่กาแฟให้ชาวเขาดูเป็นตัวอย่าง

คราวหนึ่ง เสด็จแปรพระราชฐานไปประทับที่ภาคเหนือ-ซึ่งอันที่จริงก็คือเสด็จไปตรวจงานนั่นเอง พระตำหนักที่มีอยู่ในภาคต่างๆ ที่แปรพระราชฐานไปประทับในวาระต่างๆ นั้น ก็คือสถานที่ทรงงานนั่นแล้ว

วันหนึ่ง หลังจากเสด็จตรวจงานตามพื้นที่ต่างๆ ตั้งแต่เช้าจนเย็น ได้เวลาที่ควรเสด็จกลับ หม่อมเจ้าภีศเดช รัชนี ซึ่งตามเสด็จด้วยก็ทูลเชิญให้เสด็จไปตรวจไร่กาแฟ

พลตำรวจเอก วสิษฐ เดชกุญชร เป็นนายตำรวจราชสำนักประจำทำหน้าที่นำเสด็จไม่ค่อยพอใจนัก

นายตำรวจราชสำนักประจำทำหน้าที่นำเสด็จ – ก็คือตำรวจที่เราเห็นเดินนำไปข้างหน้า รับผิดชอบว่าควรเสด็จทางไหน ควรหยุดตรงไหน ควรแวะตรงไหน คอยดูว่าสองข้างทางปกติเรียบร้อยดีหรือไม่ มีใครจะถวายอะไรหรือจะเฝ้ากราบทูลอะไร ก็จะต้องตราดูก่อนเพื่อความปลอดภัย

พลตำรวจเอกวสิษฐเห็นว่าสมควรเสด็จกลับได้แล้วเพราะทรงงานเหน็ดเหนื่อยมาแล้วทั้งวัน

ปรากฏว่าเส้นทางที่จะไปยังไร่กาแฟรถยนต์เข้าไม่ได้ ต้องทรงพระดำเนิน คือต้องเดินไป ไกลเป็นกิโล 

พลตำรวจเอกวสิษฐชักหงุดหงิด!

ซักถามรายละเอียดบางประการจากหม่อมเจ้าภีศเดช ได้ความว่า ไร่กาแฟที่จะให้ในหลวงไปดูนี้มีกาแฟอยู่ต้นเดียว! 

พลตำรวจเอกวสิษฐฟิวขาด! 

ต่อว่าหม่อมเจ้าภีศเดชอย่างรุนแรงด้วยความโกรธ – อะไรกันวะ ในหลวงเหนื่อยมาแล้วทั้งวันนะเนี่ย ยังจะให้เดินเป็นกิโลๆ เพื่อไปดูกาแฟต้นเดียวนี่นะ ใช้งานกันเกินกำลังไปแล้ว – ถ้อยคำคงไม่ใช่ตามนี้ แต่อารมณ์ตามนี้

พอเสด็จกลับถึงพระตำหนัก รับสั่งให้พลตำรวจเอกวสิษฐมาพบ ตรัสถามว่าไปโกรธหม่อมเจ้าภีศเดชทำไม พลตำรวจเอกวสิษฐก็กราบทูลใส่หม่อมเจ้าภีศเดชไม่ยั้ง

ปล่อยให้พลตำรวจเอกวสิษฐระบายความโกรธจนสะใจแล้ว ในหลวงก็ทรงอธิบายว่า ได้ลงทุนปลูกกาแฟไว้เป็นจำนวนมากหวังจะให้เป็นพืชทางเลือกให้ชาวเขาปลูกแทนฝิ่นต่อไป –

แต่กาแฟตายหมด 

เหลือรอดอยู่ต้นเดียว 

จึงทรงดีพระทัยมาก อยากจะไปเห็นว่าอะไรทำให้กาแฟต้นนั้นรอดอยู่ได้ ถ้ารู้เหตุที่ทำให้กาแฟต้นนั้นรอด แล้วเอามาขยายผล ก็จะได้วิธีที่จะปลูกกาแฟให้รอดเป็นไร่กาแฟได้ต่อไป การไปดูกาแฟต้นเดียวจึงคุ้มค่า ไม่เหนื่อยเปล่าเลย

พลตำรวจเอกวสิษฐอึ้ง! 

ดูเหมือนว่าตอนหลังท่านก็ไปขอโทษหม่อมเจ้าภีศเดช แต่อันนี้ไม่แน่ใจ รายละเอียดเรื่องนี้คลับคล้ายคลับคลาว่าท่านเขียนเล่าไว้ในหนังสือ “รอยพระยุคลบาท” ที่ผมเล่ามานี้ข้อปลีกย่อยอาจไม่ตรง แต่หลักๆ แล้วมั่นใจว่าไม่พลาด

…………………

มีญาติมิตรที่ติดตามอ่านเรื่องที่ผมเขียนได้กรุณาแสดงความเห็นว่า การที่ผมพยายามอธิบายเรื่องต่างๆ เช่นเรื่องบวชและเรื่องกฐินเป็นต้น ว่าหลักเดิมท่านว่าไว้อย่างไร ที่ทำกันปัจจุบันผิดเพี้ยนไปอย่างไร-นั้น น่าจะไม่ได้ผลอะไร ทั้งนี้เพราะผู้คนทุกวันนี้สนใจเฉพาะเรื่องที่นิยมทำกันอยู่ในปัจจุบันเท่านั้น หลักเดิมจะว่าไว้อย่างไรก็ว่าไป เขาไม่รับรู้ เขารับรู้เฉพาะที่คนส่วนมากนิยมทำกัน อ้างว่าที่ไหนๆ เขาก็ทำกันอย่างนี้ แล้วก็ทำตามกันไป ที่ผมเขียนอะไรๆ ไป สุดท้ายก็คงไม่ได้ผล จะไปแก้ไขความนิยมของสังคมได้อย่างไร ทำอย่างอื่นดีกว่า

…..

ก็ต้องขอขอบพระคุณอย่างยิ่ง 

ผมทำได้แค่นี้-ตามแนวทางของผม อันที่จริงผมก็ไม่ได้หวังถึงกับว่าจะไปแก้ไขอะไรๆ ได้ ก็อย่างที่ผมพูดเสมอๆ ผมทำหน้าที่หาความรู้ตามแนวทางที่ผมเรียนมา ได้ความรู้อะไรมาก็เอามาบอกเล่าสู่กันฟัง ตั้งเจตนาเพียงว่า-คนอื่นๆ จะได้รู้ด้วย ช่วยกันรู้หลายๆ คน

อนึ่ง ผมถือคติ “ลมพัดใบไม้ไหว” จำไม่ได้ว่าผมไปจำคำนี้มาจากไหน แล้วก็ไม่แน่ใจว่าคนพูดทีแรกตั้งใจจะให้หมายถึงอะไร แต่ผมตีความเอาเองว่า ถ้าจะทำให้ต้นไม้โค่นล้ม ก็ต้องเป็นลมพายุ แต่เมื่อยังเป็นลมพายุไม่ได้ก็เป็นลมธรรมดาไปก่อน ลมธรรมดาๆ ทำให้ต้นไม้โค่นไม่ได้ก็จริง ทำให้กิ่งก้านหักไม่ได้ก็จริง แต่อย่างน้อยก็คงทำให้ใบไม้ไหวได้บ้าง 

และบางที-ไม่แน่ อาจเป็นอย่างคำที่ว่า “เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” – ใบไม้ไหว แต่สะเทือนถึงรากแก้ว – เข้าบ้างสักคราวก็อาจเป็นได้

บอกเล่าอะไรออกไป มีคนอ่านได้ มีคนเข้าใจประเด็น มีคนมองเห็นคุณค่า มีคนเข้าใจเจตนาในการนำมาบอกเล่า-แม้เพียงคนเดียว แค่นี้ผมก็เชื่อว่าคุ้มค่าแล้ว ไม่เหนื่อยเปล่าหรอกครับ

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๒๒ ตุลาคม ๒๕๖๕

๑๖:๓๓

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *