จารีตนิยม (บาลีวันละคำ 580)
จารีตนิยม
(บาลีไทย)
อ่านว่า จา-รีด-นิ-ยม
อ่านตามหลักคำสมาส จา-รีด-ตะ-นิ-ยม
ประกอบด้วย จารีต + นิยม
“จารีต” บาลีเป็น “จาริตฺต” รากศัพท์คือ จรฺ” (ธาตุ = ประพฤติ, บำเพ็ญ, ศึกษา) + อิ (สระ ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อาคม”) + ต ปัจจัย : จร > จาร + อิ = จาริ + ต > ตฺต = จาริตฺต แปลตามศัพท์ว่า “-ที่ประพฤติกันมาแล้ว” หมายถึง ประเพณี, ความประพฤติหรือการปฏิบัติที่ทำต่อกันมา, การปฏิบัติ, ระเบียบการ, วิธีการ, พฤติกรรม, ความประพฤติ, การติดต่อเยี่ยมเยียน, การประสมเข้าด้วยกัน (ดูเพิ่มเติมที่ “จารีต” บาลีวันละคำ (546) 13-11-56)
พจน.42 บอกไว้ว่า “จารีต : ประเพณีที่ถือสืบต่อกันมานาน”
“นิยม” บาลีอ่านว่า นิ-ยะ-มะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ต้องกำหนดด้วยเวลาเป็นต้น” (“ด้วยเวลาเป็นต้น” หมายความว่า “เวลา” เป็นเงื่อนไขอย่างหนึ่งในการใช้กำหนด แต่ยังมีเงื่อนไขอื่นๆ อีก เช่น สถานที่ บุคคล ฯลฯ) หมายถึง (1) การกำหนดแน่, ความแน่นอน, การจำกัด (ความหมายนี้ฝรั่งแปลว่า definiteness, certainty, limitation) (2) กฎธรรมชาติ, กฎของจักรวาล (natural law, cosmic order) (3) การสำรวม, การบังคับยับยั้ง, การฝึกฝน, การควบคุมตนเอง (restraint, constraint, training, self – control)
ในภาษาไทย พจน.42 บอกไว้ว่า “นิยม : ชมชอบ, ยอมรับนับถือ, ชื่นชมยินดี, ถ้าใช้ประกอบท้ายคําสมาสบางคํามีความหมายว่า ลัทธิ เช่น ชาตินิยม สังคมนิยม”
จารีต + นิยม = จารีตนิยม แปลตามศัพท์ว่า “กำหนดด้วยสิ่งที่เคยประพฤติกันมา” เป็นคำที่บัญญัติเทียบคำอังกฤษว่า conservatism และมักใช้เมื่อกล่าวถึงการเมืองการปกครอง
ขยายความ :
1. มนุษย์เมื่ออยู่รวมกันเป็นหมู่ต้องมีผู้นำ และผู้นำต้องมีคุณสมบัติ เช่น ความกล้าหาญ ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ และคุณธรรมอื่นๆ อีก เพื่อให้เป็นที่ยอมรับของผู้อยู่ในปกครอง การเมืองการปกครองในลักษณะนี้ถูกเรียกว่า “จารีตนิยม” มีความหมายตามนัยแห่งภาษาว่า “ยอมรับนับถือแบบแผนที่เคยประพฤติกันมา” เนื่องจากเป็นวิธีที่มีมาแต่ดั้งเดิมอันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่เป็นสัตว์สังคมชนิดหนึ่ง
2. ปัจจุบัน “จารีตนิยม” ถูกมองว่าเป็นระบบที่ “คนคนเดียวปกครองคนหมู่มาก” เป็นความไม่ยุติธรรม ความคิดที่ตรงข้ามจึงบอกว่า “คนหมู่มากต้องปกครองกันเอง” โดยการคัดเลือกผู้แทนเข้าไปทำหน้าที่บริหารบ้านเมือง ไม่ใช่โดยการสืบทอดอำนาจทางสายเลือด
: ระบบไหนก็ไร้ค่า ถ้าปวงประชาไม่ได้รับประโยชน์ที่แท้จริง
17-12-56