ราชกิจจานุเบกษา (บาลีวันละคำ 579)
ราชกิจจานุเบกษา
อ่านว่า ราด-ชะ-กิด-จา-นุ-เบก-สา
ประกอบด้วย ราช + กิจจ + อนุ + เบกษา
“ราช” แปลว่า พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า “เป็นของพระเจ้าแผ่นดินหรือเกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน”
“กิจจ” บาลีเขียน “กิจฺจ” (มีจุดใต้ จฺ ตัวแรก) อ่านว่า กิด-จะ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่พึงทำ” หมายถึง หน้าที่, การงาน, การบริการ; พิธี, การกระทำ, ควรทำ, ควรประกอบ
ราช + กิจจ = ราชกิจจ (> ราชกิจ / ราด-ชะ-กิด) แปลว่า “กิจของพระราชา” คือ ธุระของพระราชา, งานที่พระราชาจะต้องทำ, งานที่ผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
“อนุ” แปลว่า ภายหลัง, ตามหลัง, เนืองๆ, บ่อยๆ
“เบกษา” มาจากรูปคำสันสกฤตว่า “เปฺรกฺษา” บาลีเป็น “เปกฺข” (เปก-ขะ) รากศัพท์คือ ป (= ทั่ว, ข้างหน้า) + อิกฺข (= มอง, ดู) = เปกฺข แปลตามศัพท์ว่า “มองไปทั่วๆ” “มองไปข้างหน้า” หมายถึง คอยระวังดู (looking out for) คือ เพ่งดู, มุ่งหวัง,ตั้งใจ, ต้องการ (intent upon, wishing)
อนุ + เบกษา = อนุเบกษา มีความหมายว่า เพ่งดูบ่อยๆ, ตั้งใจดูอยู่เสมอ, เอาใจใส่
ราชกิจจ + อนุเบกษา = ราชกิจจานุเบกษา แปลตามศัพท์ว่า “เพ่งดูราชกิจ” ความหมายในเชิงปฏิบัติคือ การตรวจตราดูงานที่ผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องทำเพื่อประโยชน์สุขของประชาชน
พจน.42 บอกไว้ว่า –
“ราชกิจจานุเบกษา : หนังสือของทางราชการที่ออกเป็นรายสัปดาห์โดยสํานักงานราชกิจจานุเบกษา สํานักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สําหรับลงประกาศเกี่ยวกับกฎหมาย กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ ตลอดจนประกาศของกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ รวมทั้งประกาศเกี่ยวกับการจดทะเบียนห้างหุ้นส่วน บริษัท”
ราชกิจจานุเบกษา :
มองใกล้ เห็นแค่หนังสือของทางราชการ
มองไกล เห็นงานของพระราชา
มองด้วยปัญญา เห็นหน้าที่เพื่อมวลชน
16-12-56