บาลีวันละคำ

คจฺฉามิ (บาลีวันละคำ 4,086)

คจฺฉามิ

หญ้าปากคอกอีกคำหนึ่ง

อ่านว่า คัด-ฉา-มิ

คจฺฉามิ” เป็นคำกริยาอาขยาตในภาษาบาลี (กริยา บาลีใช้เป็น กิริยา)

คำว่า “อาขยาต” อ่านว่า อา-ขะ-หฺยาด พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

“อาขยาต : (คำวิเศษณ์) กล่าวแล้ว. (คำนาม) ชื่อคำกริยาประเภทหนึ่งในไวยากรณ์บาลีและสันสกฤต ประกอบด้วย ธาตุ วิภัตติ กาล บท พจน์ บุรุษ วาจก ปัจจัย เพื่อเป็นเครื่องหมายบอกเนื้อความให้ชัดเจน เช่น กโรติ = ย่อมกระทำ ประกอบด้วย กรฺธาตุ ติวิภัตติ ปัจจุบันกาล ปรัสสบท เอกพจน์ ปฐมบุรุษ กัตตุวาจก โอปัจจัย. (ป., ส.).”

……………..

คจฺฉามิ” รากศัพท์ตามสูตรก็คือ คมฺ (ธาตุ = ไป, ถึง) + (อะ) ปัจจัยประจำหมวด ภู ธาตุ + มิ วัตตมานาวิภัตติ อุตตมบุรุษ, แปลง คมฺ เป็น คจฺฉฺ, ทีฆะ อะ ที่ (คจฺ)-ฉฺ เป็น อา (คจฺฉฺ > คจฺฉา) ด้วยอำนาจ มิ วิภัตติ

: คมฺ + = คม + มิ = คมมิ > คจฺฉมิ > คจฺฉามิ แปลว่า “ย่อมไป” “ย่อมถึง” “จะไป” “จะถึง

ขยายความ :

คจฺฉามิ” แปลว่า “ย่อมไป” “ย่อมถึง” 

ถามว่า ใครไป ใครถึง?

ส่วนประกอบพิ้นฐานของข้อความที่เป็นประโยค ก็คือ ต้องมี “ประธาน” และ “กิริยา” (กริยา)

ในที่นี้มีกิริยาแล้ว คือ “คจฺฉามิ” ไม่มีประธานปรากฏตัวอยู่ แต่สามารถรู้ได้จาก “บุรุษ” ที่กิริยานั่นเอง 

คจฺฉามิ” เป็นอุตตมบุรุษ คือตัวผู้พูด

“บุรุษ” ในไวยากรณ์บาลีมี 3 บุรุษ คือ –

1 ปฐมบุรุษ = ผู้หรือสิ่งที่ถูกพูดถึง (he she it)

2 มัชฌิมบุรุษ (มัธยมบุรุษ) = ผู้ที่เราพูดด้วย (you) 

3 อุตตมบุรุษ (อุดมบุรุษ) = ตัวผู้พูด (I)

ดังนั้น เมื่อถามว่า “คจฺฉามิ” (ย่อมไป, ย่อมถึง) ใครไป ใครถึง? คำตอบก็คือ “ข้าพเจ้า” หรือคำบาลีว่า “อหํ” เป็นผู้ไป ผู้ถึง

สรุปว่า –

……………..

คจฺฉามิ เป็นคำกริยา (หรือกิริยา) และเป็นตัวบ่งบอกถึง “ประธาน” ในประโยคด้วย ทั้งนี้เพราะ –มิ ที่ คจฺฉามิ เป็นคำบังคับให้ต้องขึ้น “อหํ” (อะหัง) เป็นประธานแม้จะไม่มีคำว่า “อหํ” ปรากฏอยู่ก็ตาม

สูตรง่ายๆ:

……………..

คำกริยาลงท้าย –มิ ประธานต้องเป็น “อหํ” (I) (เอกพจน์)

คำกริยาลงท้าย –มะ ประธานต้องเป็น “มยํ” (We) (พหูพจน์)

……………..

ที่ว่ามานี้เป็นการสอนบาลีแบบรวบรัด ยังไม่ถึงขั้นเข้าใจ แต่พอให้มองออก เมื่อเห็น “คจฺฉามิ” พอจะมองออกว่าอะไรเป็นอะไร

คจฺฉามิ” ที่เราคุ้นกันมากที่สุด อยู่ในไตรสรณคมน์ คือ –

พุทฺธํ  สรณํ  คจฺฉามิ

ธมฺมํ  สรณํ  คจฺฉามิ

สงฺฆํ  สรณํ  คจฺฉามิ.

พุทฺธํ  สรณํ  คจฺฉามิ แปลทีละศัพท์ ดังนี้ – 

อหํ อันว่าข้าพเจ้า (เป็นสูตรหรือกฎอีกอย่างหนึ่ง ประธานในประโยค เวลาแปลโดยพยัญชนะนิยมเหน็บคำว่า “อันว่า” เข้าไปด้วย) 

คจฺฉามิ ย่อมถึง

พุทฺธํ ซึ่งพระพุทธเจ้า

สรณํ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

……………..

ได้ความเฉพาะคำแปลว่า –

ข้าพเจ้า ย่อมถึง ซึ่งพระพุทธเจ้า ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก

แปลรวมความว่า –

ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่ง

……………..

แปล “พุทฺธํ” ได้ประโยคหนึ่ง ต่อไป “ธมฺมํ” และ “สงฺฆํ” ก็แปลได้ด้วย เพราะใช้สูตรเดียวกัน

แต่โปรดทราบว่า ภาษาบาลีไม่ได้มีเพียงขั้นแปลออกหรือแปลได้ ยังมีขั้นทำความเข้าใจในถ้อยคำหรือข้อความที่แปลนั้นได้ถูกต้องอีกด้วย

และที่สูงขึ้นไปอีกขั้นหนึ่งก็คือ เอาความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องนั้นไปปฏิบัติ คือลงมือกระทำให้เกิดผลที่พึงประสงค์

แถม :

ผู้ประสงค์จะหาความรู้บาลีนอกหลักสูตร สามารถตามไปอ่านได้ที่ลิงก์ข้างล่างนี้

………………………………..

เรียนบาลีแบบใช้งานในชีวิตประจำวัน (๐๐๑)

https://www.facebook.com/tsangsinchai/posts/4099278816832491

………………………………..

ดูก่อนภราดา!

: จำไว้ให้ดี ว่า “คจฺฉามิ” คำนี้แปลว่าอะไร

: ในอนาคตอันไม่ไกล ท่านอาจถูกยมบาลลองภูมิ

(ตามคำขอของ Chakkris Uthayophas)

#บาลีวันละคำ (4,086)

20-8-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *