พหุํ เว (บาลีวันละคำ 4,087)
พหุํ เว
คาถากันเป๋ น่าจำไว้พูดให้ติดปาก
อ่านว่า พะ-หุง เว
“พหุํ เว” เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “พหุํ” คำหนึ่ง “เว” คำหนึ่ง
(๑) “พหุํ”
อ่านว่า พะ-หุง รูปคำเดิมเป็น “พหุ” อ่านว่า พะ-หุ รากศัพท์มาจาก พหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อุ ปัจจัย
: พหฺ + อุ = พหุ แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่เจริญขึ้น” ใช้เป็นคุณศัพท์ หมายถึง มาก, หลาย, ใหญ่, ล้นเหลือ; อุดมสมบูรณ์; อย่างมาก, ยิ่งใหญ่ (much, many, large, abundant; plenty; very, greatly)
แทรกหลักไวยากรณ์บาลี :
ในที่นี้ “พหุ” ใช้เป็นคำขยาย (วิเสสนะ) ของคำว่า “มนุสฺสา” (มะ-นุด-สา) แปลว่า “มนุษย์ทั้งหลาย” “มนุสฺสา” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์
ตามกฎไวยากรณ์บาลี วิเสสนะต้องมีลิงค์ วจนะ วิภัตติ เหมือนคำที่ตนขยาย ดังนั้น “พหุ” จึงควรแจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) พหุวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “พหู” แต่ในที่นี้ใช้กฎยกเว้นเป็นกรณีพิเศษ คือ “พหุ” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ นปุงสกลิงค์
วิภัตตินามที่หนึ่ง เอกวจนะ คือ “สิ” ในนปุงสกลิงค์แปลง สิ เป็น อํ “พหุ” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “พหุํ”
: พหุ + สิ > อํ : พหุ + อํ = พหุํ
“พหุํ” เป็นเอกวจนะ นปุงสกลิงค์ แต่เป็นวิเสสนะของ “มนุสฺสา” ซึ่งเป็นพหุวจนะ ปุงลิงค์ กรณีเช่นนี้วิชาวากยสัมพันธ์กำหนดให้เรียกชื่อสัมพันธ์ว่า “วิปัลลาส”
– ลิงค์ไม่ตรงกัน เรียกว่า “ลิงควิปัลลาส”
– วจนะไม่ตรงกัน เรียกว่า “วจนวิปัลลาส”
กรณี “พหุํ” ในที่นี้ เป็นทั้ง “ลิงควิปัลลาส” และ “วจนวิปัลลาส” จึงถือได้ว่าเป็นศัพท์พิเศษศัพท์หนึ่ง
(๒) “เว”
อ่านตรงตัวว่า เว เป็นศัพท์จำพวก “นิบาต” ตำราไวยากรณ์บาลีขยายความไว้ว่า – คือศัพท์ “สำหรับลงในระหว่างนามศัพท์บ้าง กิริยาศัพท์บ้าง”
ศัพท์จำพวก “นิบาต” มีหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งท่านเรียกว่า “นิบาตสักว่าเป็นเครื่องทำบทให้เต็ม” ท่านแสดงไว้ 7 คำ ดังนี้ –
นุ = หนอ
โข = แล
สุ = สิ
วต = หนอ
เว = เว้ย
หเว = เว้ย
โว = โว้ย
อนึ่ง พึงทราบว่า คำแปลที่ท่านให้ไว้นั้นเป็นเพียงแนวเท่านั้น เวลาแปลจริงอาจยักเยื้องไปได้ตามบริบทนั้นๆ
เช่น “เว” ท่านแปลไว้ว่า “เว้ย” ในที่นี้ควบกับคำว่า “พหุํ” เป็น “พหุํ เว” ถ้าแปลตามที่ท่านแปลไว้ ก็ต้องแปลว่า “มากเว้ย” แต่เราอาจยักเยื้องเป็น “มากแล” “มากนัก” “มากจริงๆ” แล้วแต่คำไหนจะเข้ากับรูปความดีกว่ากัน
“พหุํ” กับ “เว” ควบกันเป็น “พหุํ เว” ไม่ใช่สมาสหรือสนธิ ยังคงแยกเป็นคนละคำ “พหุํ” คำหนึ่ง “เว” อีกคำหนึ่ง พูดควบกันเป็น “พหุํ เว”
ขยายความ :
ในยามที่คนในสังคมแสวงหาที่พึ่งในรูปแบบแปลกๆ ต่างๆ ตามยุคสมัย ตามห้วงเวลา หรือตามแต่จะมีใครจุดกระแสอะไรขึ้นมา เท่าที่พอจะระลึกกันได้ก็อย่างเช่น –
ครั้งหนึ่งเกิดกระแสจตุคามรามเทพ
พอจางไปก็เกิดกระแสไอ้ไข่เด็กวัดเจดีย์
พอจางไปก็เกิดกระแสท้าวเวสวัณ
ปัจจุบันเกิดกระแสอะไร แล้วต่อไปจะเกิดกระแสอะไรอีก และอีก และอีกไปเรื่อยๆ เราคงพอคาดเดากันได้
ในท่ามกลางกระแส “แห่กันหาที่พึ่ง” ดังกล่าวนี้ พระพุทธพจน์ที่ควรยกขึ้นมาพิจารณามากที่สุดบทหนึ่ง ขึ้นต้นด้วยคำว่า “พหุํ เว” ขออัญเชิญมาเป็นอนุสติในที่นี้ ดังต่อไปนี้ –
…………..
พหุํ เว สรณํ ยนฺติ
ปพฺพตานิ วนานิ จ
อารามรุกฺขเจตฺยานิ
มนุสฺสา ภยตชฺชิตา.
คนเป็นจำนวนมาก เมื่อภัยมาถึงตัว
พากันยึดเอาสิ่งต่างๆ เป็นที่พึ่ง
อาทิ ภูเขา ป่าไม้ สวน
ต้นไม้ และเจดีย์
Many men in their fear
Betake themselves for a refuge
To hills, woods, gardens
Sacred trees and shrines.
เนตํ โข สรณํ เขมํ
เนตํ สรณมุตฺตมํ
เนตํ สรณมาคมฺม
สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.
นั่นมิใช่ที่พึ่งอันปลอดภัย
นั่นมิใช่ที่พึ่งอันสูงสุด
อาศัยที่พึ่งชนิดนั้น
ก็ไม่พ้นทุกข์ทั้งปวงได้
Such a refuge is not secure,
Such a refuge is not supreme.
To such a refuge shoulf one go,
One is not released from all sorrow.
โย จ พุทฺธญฺจ ธมฺมญฺจ
สงฺฆญฺจ สรณํ คโต
จตฺตาริ อริยสจฺจานิ
สมฺมปฺปญฺญาย ปสฺสติ.
ทุกฺขํ ทุกฺขสมุปฺปาทํ
ทุกฺขสฺส จ อติกฺกมํ
อริยญฺจฏฺฐงฺคิกํ มคฺคํ
ทุกฺขูปสมคามินํ.
ผู้ถึงพระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์เป็นที่พึ่ง
ย่อมเห็นอริยสัจด้วยปัญญาอันชอบ
คือ ทุกข์, เหตุของทุกข์, ความดับทุกข์ และ
อริยมรรคมีองค์แปด อันเป็นทางดับทุกข์
He who takes refuge in
The Buddha, the Dharma and the Sangha
Sees with wisdom the Four Noble Truths:
Suffering,
The Cause of Suffering,
The Cessation of Suffering,
The Noble Eightfold Path leading to
The Cessation of Suffering.
เอตํ โข สรณํ เขมํ
เอตํ สรณมุตฺตมํ
เอตํ สรณมาคมฺม
สพฺพทุกฺขา ปมุจฺจติ.
นั่นแลคือที่พึ่งอันปลอดภัย
นั่นคือที่พึ่งอันสูงสุด
คนเราอาศัยที่พึ่งชนิดนั้น
ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง
Such indeed is a refuge secure,
Such indeed is a refuge supreme.
To such a refuge should one go,
One is released from all sorrow.
ที่มา:
– พุทธวรรค ธรรมบท พระไตรปิฎกเล่ม 25 ข้อ 24 หน้า 40-41
– คำแปลภาษาไทยและภาษาอังกฤษ จากหนังสือ “พุทธวจนะในธรรมบท” สำนวนแปลของอาจารย์เสฐียรพงษ์ วรรณปก
…………..
โปรดสังเกตว่า ที่พึ่งที่ชาวโลกพากันไขว่คว้า พระพุทธวจนะยังคงบอกว่า-นั่นก็คือ “สรณะ” คือที่พึ่งชนิดหนึ่ง ไม่ได้ปฏิเสธว่านั่นไม่ใช่ที่พึ่ง แต่ท่านบอกต่อไปว่า นั่นไม่ใช่ที่พึ่งอันปลอดภัย ไม่ใช่ที่พึ่งอันสูงสุด
ที่พึ่งอันปลอดภัยและที่พึ่งอันสูงสุดคืออะไร ชาวพุทธย่อมจะรู้ดีโดยทั่วกัน
…………..
ดูก่อนภราดา!
: มีผู้เตือนว่า อย่าขวางความเชื่อของมหาชน
: ควรจะมีผู้เตือนด้วยว่า อย่าวิ่งตามความเชื่อของมหาชน
#บาลีวันละคำ (4,087)
21-8-66
…………………………….
…………………………….