prime minister (บาลีวันละคำ 4,089)
prime minister
บาลีว่าอย่างไร
พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปล prime minister เป็นไทยว่า อัครมหาเสนาบดี, นายกรัฐมนตรี
พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล prime minister เป็นบาลีว่า:
(1) mahāmacca มหามจฺจ (มะ-หา-มัด-จะ) < มหา + อมจฺจ (อะ-มัด-จะ) = อำมาตย์ผู้ใหญ่, มหาอำมาตย์
(2) rājamahāmatta ราชมหามตฺต (รา-ชะ-มะ-หา-มัด-ตะ) < ราช + มหา + มตฺต (มัด-ตะ) = อำมาตย์ผู้ใหญ่ของพระราชา, มหาอำมาตย์ของพระราชา
(๑) “มหามจฺจ”
อ่านว่า มะ-หา-มัด-จะ แยกศัพท์เป็น มหา + อมจฺจ
(ก) “มหา” (มะ-หา) รูปคำเดิมในบาลีเป็น “มหนฺต” (มะ-หัน-ตะ) รากศัพท์มาจาก มหฺ (ธาตุ = เจริญ) + อนฺต ปัจจัย
: มหฺ + อนฺต = มหนฺต แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งที่ขยายตัว” มีความหมายว่า ยิ่งใหญ่, กว้างขวาง, โต; มาก; สำคัญ, เป็นที่นับถือ (great, extensive, big; much; important, venerable)
“มหนฺต” เป็นคำเดียวกับที่ใช้ในภาษาไทยว่า “มหันต์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“มหันต-, มหันต์ : (คำวิเศษณ์) ใหญ่, มาก, เช่น โทษมหันต์. (เมื่อเข้าสมาสกับศัพท์อื่น เป็น มห บ้าง มหา บ้าง เช่น มหัคฆภัณฑ์ คือ สิ่งของที่มีค่ามาก, มหาชน คือ ชนจำนวนมาก). (ป.).”
ในที่นี้ มหันต– เข้าสมาสกับ –อมจฺจ เปลี่ยนรูปเป็น “มหา”
(ข) “อมจฺจ” อ่านว่า อะ-มัด-จะ รากศัพท์มาจาก อมา (ร่วมกัน) + จฺจ ปัจจัย, รัสสะ (หดเสียง) อา ที่ (อ)-มา เป็น อะ (อมา > อม)
: อมา + จฺจ = อมาจฺจ > อมจฺจ แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นร่วมกันกับพระราชาในกิจทั้งปวง”
“อมจฺจ” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ –
(1) เพื่อน, สหาย, เพื่อนร่วมงาน, ผู้ช่วยเหลือ, ผู้ให้คำแนะนำ, เพื่อนสนิท (friend, companion, fellow-worker, helper, one who gives his advice, a bosom-friend)
(2) ราชอำมาตย์, ราชวัลลภ, ราชปุโรหิต (a king’s intimate friend, king’s favourite, king’s confidant)
(3) ผู้ถวายคำแนะนำพิเศษหรือองคมนตรี ซึ่งแตกต่างไปจากรัฐมนตรี (king’s special adviser or privy councillor, as such distinguished from the official ministers)
“อมจฺจ” ในบาลี เป็น “อมาตฺย” ในสันสกฤต
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“อมาตฺย : (คำนาม) มนตรี; อุปเทศก (ที่ปรึกษา); minister; counselor.”
ภาษาไทยใช้ตามสันสกฤตเป็น “อมาตย์” และแผลงเป็น “อำมาตย์”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อมาตย์ : (คำนาม) อำมาตย์, ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส.; ป. อมจฺจ).
(2) อำมาตย-, อำมาตย์ : (คำนาม) ข้าราชการ, ข้าทูลละอองธุลีพระบาท; (คำโบราณ) ลูกขุน, ขุนนาง, ข้าราชการฝ่ายพลเรือน. (ส. อมาตฺย; ป. อมจฺจ). (แผลงมาจาก อมาตย์).
มหา + อมจฺจ = มหามจฺจ แปลว่า “อำมาตย์ผู้ใหญ่”
(๒) “ราชมหามตฺต”
อ่านว่า รา-ชะ-มะ-หา-มัด-ตะ แยกศัพท์เป็น ราช + มหา + มตฺต
(ก) “ราช” อ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก บาลีอ่านว่า รา-ชะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ราชฺ (ธาตุ = รุ่งเรือง) + อ (อะ) ปัจจัย
: ราชฺ + อ = ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้รุ่งเรืองโดยยิ่งเพราะมีเดชานุภาพมาก” หมายความว่า ผู้เป็นพระราชาย่อมมีเดชานุภาพมากกว่าคนทั้งหลาย
(2) รญฺชฺ (ธาตุ = ยินดี พอใจ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ ลบ ญฺ แผลง ร เป็น รา
: รญฺชฺ + ณ = รญฺชณ > รญฺช > รช > ราช แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังคนทั้งหลายให้ยินดี” หมายความว่า เป็นผู้อำนวยความสุขให้ทวยราษฎร์ จนคนทั้งหลายร้องออกมาว่า “ราชา ราชา” (พอใจ พอใจ)
ท่านพุทธทาสภิกขุให้คำจำกัดความ “ราช” หรือ “ราชา” ว่าคือ “ผู้ที่ทำให้ประชาชนร้องออกมาว่า พอใจ พอใจ”
“ราช” หมายถึง พระราชา, พระเจ้าแผ่นดิน ใช้นำหน้าคำให้มีความหมายว่า เป็นของพระเจ้าแผ่นดิน, เกี่ยวกับพระเจ้าแผ่นดิน หรือเป็นของหลวง
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“ราช ๑, ราช– : (คำนาม) พระเจ้าแผ่นดิน, พญา (ใช้แก่สัตว์) เช่น นาคราช คือ พญานาค สีหราช คือ พญาราชสีห์, คํานี้มักใช้ประกอบกับคําอื่น, ถ้าคําเดียวมักใช้ว่า ราชา.”
(ข) “มหา” (ดูข้างต้น)
(ค) “มตฺต” อ่านว่า มัด-ตะ รากศัพท์มาจาก มทฺ (ธาตุ = ยินดี) + ต ปัจจัย, ลบ ท ซ้อน ตฺ
: มทฺ > ม + ตฺ + ต = มตฺต แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยินดีในการทำงาน” หมายถึง ข้าราชการ
การประสมคำ :
๑ มหา + มตฺต = มหามตฺต แปลว่า “ข้าราชการผู้ใหญ่” คือ มหาอำมาตย์
๒ ราช + มหามตฺต = ราชมหามตฺต แปลว่า “ข้าราชการผู้ใหญ่ของพระราชา”
สรุปว่า prime minister แปลเป็นบาลีได้ 2 คำ :
(1) มหามจฺจ = อำมาตย์ผู้ใหญ่, มหาอำมาตย์
(2) ราชมหามตฺต = อำมาตย์ผู้ใหญ่ของพระราชา, มหาอำมาตย์ของพระราชา
ผู้เขียนบาลีวันละคำเห็นว่า อีกคำหนึ่งที่น่าจะใช้ได้คือ “มหาเสนาปติ” (มะ-หา-เส-นา-ปะ-ติ) หรือเรียกเป็นคำไทยว่า “มหาเสนาบดี”
ตามรูปศัพท์ “เสนาปติ – เสนาบดี” เป็นตำแหน่งที่ทำหน้าที่ทางทหาร ตามหลักฐานในคัมภีร์บาลีสรุปได้ว่า ในสมัยพุทธกาล แคว้นต่างๆ ในชมพูทวีปที่มี “ราชา” เป็นผู้ปกครอง ย่อมมีตำแหน่ง “เสนาปติ” ด้วยเสมอ และถ้าจัดลำดับจาก “ราชา” ลงมา ตำแหน่ง “เสนาปติ” จะอยู่ถัดจาก “อุปราชา” (เช่นใน: ธมฺมปทฏฺฐกถา, ปญฺจโม ภาโค, โลฬุทายิตฺเถรวตฺถุ)
ผู้ดำรงตำแหน่ง “เสนาปติ” นอกจากรับผิดชอบทางการทหารแล้วยังทำหน้าที่ในทางพลเรือนด้วย (เช่นใน: ธมฺมปทฏฺฐกถา, ตติโย ภาโค, วิฑูฑภวตฺถุ)
ถ้าเทียบกับการปกครองในปัจจุบัน “เสนาปติ” ในสมัยพุทธกาลน่าจะเทียบได้กับ “นายกรัฐมนตรี”
…………..
…………..
ดูก่อนภราดา!
: ไม่ว่านายกรัฐมนตรีจะร้องเรียกเป็นบาลีว่าอย่างไร
: ประเทศไทยเรียกร้องนายกรัฐมนตรีที่เก่งและดี
#บาลีวันละคำ (4,089)
23-8-66
…………………………….
…………………………….