บาลีวันละคำ

บุรุษไปรษณีย์ (บาลีวันละคำ 2,964)

บุรุษไปรษณีย์

อ่านว่า บุ-หฺรุด-ไปฺร-สะ-นี

ประกอบด้วยคำว่า บุรุษ + ไปรษณีย์

(๑) “บุรุษ

บาลีเป็น “ปุริส” (ปุ-ริ-สะ) รากศัพท์มาจาก –

(1) ปุรฺ (ธาตุ = เต็ม) + อิส ปัจจัย

: ปุรฺ + อิส = ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ยังดวงใจของบิดามารดาให้เต็ม

(2) ปุ ( = นรก) + ริสฺ (ธาตุ = เบียดเบียน, กำจัด) + (อะ) ปัจจัย

: ปุ + ริสฺ = ปุริสฺ + = ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เบียดเบียนนรก” คือทำให้นรกว่าง เพราะเกิดมาทำให้บิดามารดาไม่ต้องตกนรกขุมที่ชื่อ “ปุตตะ

(3) ปุริ ( = เบื้องบน) + สี (ธาตุ = อยู่) + (อะ) ปัจจัย, “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ สี (สี > )

: ปุริ + สี = ปุริสี + = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้อยู่ในเบื้องสูง” หมายถึงเป็นหัวหน้า

(4) ปุร ( = เบื้องหน้า) + สี (ธาตุ = เป็นไป) + (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมหน้าธาตุ (ปุร + อิ + สี), “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ สี (สี > )

: ปุร + อิ + สี = ปุริสี + = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เป็นไปในเบื้องหน้า” หมายถึงผู้นำหน้า

(5) ( = ปกติ) + อุร ( = อก) + สี (ธาตุ = นอน) + (อะ) ปัจจัย, ลง อิ อาคมหน้าธาตุ ( + อุร + อิ + สี), “ลบสระหน้า” คือ อี ที่ สี (สี > )

: + อุร = ปุร + อิ = ปุริ + สี = ปุริสี + = ปุริสี > ปุริส แปลตามศัพท์ว่า “ผู้นอน บน อก โดยปกติ

ปุริส” (ปุงลิงค์) หมายถึง ผู้ชาย, คน (a man, a person, a human)

ปุริส” สันสกฤตเป็น “ปุรุษ” ไทยเขียนอิงสันสกฤตเป็น “บุรุษ

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุรุษ : (คำนาม) ผู้ชาย, เพศชาย, คู่กับ สตรี, ใช้ในลักษณะที่สุภาพ.”

พึงทราบว่า “ปุริส” ในภาษาบาลีไม่ได้เล็งที่ “ผู้ชาย” เสมอไป ในที่หลายแห่งหมายถึง “คน” หรือมนุษย์ทั่วไป ไม่แยกว่าชายหรือหญิง เช่นเดียวกับคำว่า man ในภาษาอังกฤษ แปลว่า “ผู้ชาย” ก็ได้ แปลว่า “คน” หรือมนุษย์ทั่วไปก็ได้

(๒) “ไปรษณีย์

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ไปรษณีย-, ไปรษณีย์ : (คำนาม) วิธีการส่งหนังสือและหีบห่อสิ่งของเป็นต้นโดยมีองค์การที่ตั้งขึ้นเป็นเจ้าหน้าที่รับส่ง. (ส. เปฺรษณีย).”

พจนานุกรมบอกว่า “ไปรษณีย์” มาจากสันสกฤตว่า “เปฺรษณีย

ดูใน สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน ไม่พบคำว่า “เปฺรษณีย” แต่มีคำว่า “เปฺรษณ” ซึ่งมีรากศัพท์เดียวกัน และบอกไว้ว่า –

เปฺรษณ : (คำนาม) ‘เปรษณ’ การใช้หรือส่งไป; sending or despatching.”

บาลีมีคำว่า “เปสนิย” (เป-สะ-นิ-ยะ) ความหมายเดียวกับ “เปฺรษณีย” ในสันสกฤต

เปสนิย” รากศัพท์มาจาก –

(1) ปิสฺ (ธาตุ = ส่งไป) + ยุ ปัจจัย, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), แผลง อิ ที่ ปิ– เป็น เอ

: ปิสฺ > เปส + ยุ > อน = เปสน แปลตามศัพท์ว่า “การส่งไป” หมายถึง การส่งไป, การส่งสาร; การบริการ (sending out, message; service)

(2) เปสน + ณฺย ปัจจัย, ลบ ณฺ, ลง อิ อาคมที่

: เปสน + อิ = เปสนิ + ณฺย > = เปสนิย แปลตามศัพท์ว่า “อันควรส่งไป” ใช้ในความหมายว่า -เกี่ยวกับข่าวสาร, ส่งสารไป (connected with messages, going messages)

: เปสนิย > เปฺรษณีย > ไปรษณีย์

บุรุษ + ไปรษณีย์ = บุรุษไปรษณีย์ แปลว่า “คนส่งสิ่งที่ควรส่งไป

คำว่า “บุรุษไปรษณีย์” ยังไม่ได้เก็บไว้ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

อภิปรายขยายความ :

คำว่า “บุรุษไปรษณีย์” บัญญัติขึ้นจากคำอังกฤษว่า postman

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล post (ที่หมายถึงไปรษณีย์) ว่า:

sāsanaharaṇa สาสนหรณ (สา-สะ-นะ-หะ-ระ-นะ) = การนำข่าวไป, การส่งข่าว

และแปล postman ว่า:

sāsanabhājaka สาสนภาชก (สา-สะ-นะ-พา-ชะ-กะ) = ผู้จ่ายข่าว, ผู้นำข่าวไปส่ง

ในกิจการไปรษณีย์มีคำพูดว่า “นำจ่าย” หมายถึง นำจดหมายหรือพัสดุไปรษณีย์ที่มีผู้ฝากส่งไปส่งให้แก่ผู้รับตามสถานที่ที่ระบุ

คำว่า “นำจ่าย” นี้ได้ความตรงกับคำว่า “สาสนภาชก” = ผู้จ่ายข่าว, ผู้นำข่าวไปส่ง

ในคัมภีร์มีคำว่า “ชงฺฆเปสนีย” (ชัง-คะ-เป-สะ-นี-ยะ) หมายถึง การรับส่งข่าวสาร และเรียกผู้ทำหน้าที่รับส่งข่าวสารว่า “ชงฺฆเปสนิก” (ชัง-คะ-เป-สะ-นิ-กะ)

ชงฺฆเปสนิก” น่าจะมีความหมายตรงกับ postman หรือ “บุรุษไปรษณีย์” นี่เอง

ในสมัยพุทธกาล พระภิกษุไม่ได้อยู่ประจำที่ แต่มักจาริกไปตามคามนิคมชนบทราชธานีน้อยใหญ่เพื่อประกาศพระศาสนา การที่พระมักเดินทางจาริกไปมาเช่นนั้นเป็นโอกาสให้ชาวบ้านฝากส่งข่าวสารไปถึงญาติพี่น้องที่อยู่ต่างเมือง จึงเป็นเหตุให้ภิกษุที่ไม่สำรวมระวังใช้เป็นช่องทางแสวงหาลาภสักการะด้วยการรับฝากข่าวสารจากชาวบ้าน

การทำกิจ “ชงฺฆเปสนีย” คือรับฝากข่าวสารจากชาวบ้านโดยหวังลาภสักการะ ตามพระวินัยจัดเป็น “อเนสนา” คือการแสวงหาโดยวิธีที่ไม่เหมาะสม ท่านห้ามมิให้ทำ

อีกประการหนึ่ง ยังมีชาวเราบางพวกเชื่อว่า เมื่อทำบุญกับพระภิกษุสงฆ์ พระสงฆ์จะทำหน้าที่นำส่งส่วนบุญหรือสิ่งของที่ถวายไปถึงญาติที่ล่วงลับไปแล้ว บางคนถึงกับขอร้องพระว่า ให้พระช่วยสวดมนต์ภาวนาส่งส่วนบุญหรือของที่ทำบุญนี้ให้ถึงพ่อแม่ญาติพี่น้องของตนด้วย

นี่ก็เท่ากับเห็นพระเป็น “บุรุษไปรษณีย์” นั่นเอง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: พระสงฆ์เป็นเนื้อนาบุญบริสุทธิ์

: ไม่ใช่บุรุษไปรษณีย์

#บาลีวันละคำ (2,964)

24-7-63

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *