บาลีวันละคำ

คณะรัฐมนตรี (บาลีวันละคำ 4,095)

คณะรัฐมนตรี

ทบทวนกันอีกที บาลีว่าอย่างไร

อ่านว่า คะ-นะ-รัด-มน-ตฺรี

แยกศัพท์เป็น คณะ + รัฐ + มนตรี

(๑) “คณะ” 

บาลีเป็น “คณ” (คะ-นะ) รากศัพท์มาจาก คณฺ (ธาตุ = นับ) + ปัจจัย 

: คณฺ + = คณ (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ส่วนย่อยที่นับรวมกัน” 

คณ” ในบาลีมีความหมายดังนี้ – 

(1) เมื่อใช้คำเดียว หมายถึง กลุ่มคน, ฝูงชน, คนจำนวนมากมาย (a crowd, a multitude, a great many)

(2) เมื่อใช้เป็นส่วนท้ายคำสมาส หมายถึงการรวมเป็นหมู่ของสิ่งนั้นๆ (a collection of) กล่าวคือ กลุ่ม, ฝูงชน, มวล; ฝูง, ฝูงสัตว์; โขลง, หมู่, การรวมกันเป็นหมู่ (a multitude, mass; flock, herd; host, group, cluster)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกความหมายของ “คณ-, คณะ” ไว้ดังนี้ –

(1) หมู่, พวก, (ซึ่งแยกมาจากส่วนใหญ่). 

(2) กลุ่มคนผู้ร่วมกันเพื่อการอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น คณะกรรมการ คณะสงฆ์ คณะนักท่องเที่ยว. 

(3) หน่วยงานในมหาวิทยาลัยหรือสถาบันที่เทียบเท่าซึ่งรวมภาควิชาต่าง ๆ ที่จัดการเรียนการสอนวิชาในสายเดียวกัน เช่น คณะนิติศาสตร์ คณะอักษรศาสตร์. 

(4) จำนวนคำที่กำหนดไว้ในการแต่งร้อยกรองแต่ละประเภท โดยแบ่งเป็นบท บาท และวรรค เช่น คณะของกลอนแปด ๑ บท มี ๒ บาท แต่ละบาทมี ๒ วรรค แต่ละวรรคมี ๖ ถึง ๙ คำ..

ในที่นี้ “คณะ” ใช้ในความหมายตามข้อ (1) และ (2) 

(๒) “รัฐ

บาลีเป็น “รฏฺฐ” อ่านว่า รัด-ถะ รากศัพท์มาจาก –

(1) รฐฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป) + ปัจจัย, แปลง ฐต (คือ ที่ ร + ปัจจัย)เป็น ฏฐ ( –ฐต > –ฏฺฐ)

: รฐฺ + = รฐต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นที่เป็นไปแห่งชาวเมือง” 

(2) รชิ (ธาตุ = เจาะ, ทำลาย) + ปัจจัย, ลบสระท้ายธาตุ (รชิ > รช), แปลง ชต เป็น ฏฐ

: รชิ > รช + = รชต > รฏฺฐ แปลตามศัพท์ว่า “ดินแดนเป็นเหตุให้พระราชาทั้งหลายทำลายป้อมค่ายกัน” (ในการเข้ายื้อแย่งเพื่อยึดครองดินแดนของอีกฝ่ายหนึ่ง)

รฏฺฐ” ความหมายที่เข้าใจกันก็คือ ดินแดน, อาณาจักร, ประเทศ, แผ่นดิน, บ้านเมือง 

บาลี “รฏฺฐ” สันสกฤตเป็น “ราษฺฏฺร

สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ว่า –

(สะกดตามต้นฉบับ)

ราษฺฏฺร : (คำนาม) ประเทศ; ราษฎร, ประชา; ชนวิบัททั่วไป; a realm or region, a country; the people; any public calamity.”

ในที่นี้ใช้ตามบาลีเป็น “รฏฺฐ” แต่ในภาษาไทย ท่านให้ตัด ปฏัก ออก “รฏฺฐ” จึงเขียนเป็น“รัฐ” ถ้าอยู่ท้ายคำ อ่านว่า รัด (เคยมีนิยมพูดกันเป็น รัด-ถะ อยู่บ้าง) ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า รัด-ถะ- เช่นในคำว่า “รัฐมนตรี” อ่านว่า รัด-ถะ-มน-ตฺรี 

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “รฏฺฐ” ว่า reign, kingdom, empire; country, realm (รัฐ, อาณาจักร, จักรวรรดิ, ประเทศ, แผ่นดิน) 

แม้ “ราษฎร” (ราษฺฏฺร) จะเป็นคำเดียวกับ “รัฐ” (รฏฺฐ) แต่ในภาษาไทยแยกความหมายกันชัดเจน

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

(1) รัฐ, รัฐ– : (คำนาม) แคว้น เช่น รัฐปาหัง, บ้านเมือง เช่น กฎหมายสูงสุดของรัฐ, ประเทศ เช่น รัฐวาติกัน. (ป. รฏฺฐ; ส. ราษฺฏฺร).

(2) ราษฎร, ราษฎร์ ๑ : (คำนาม) พลเมืองของประเทศ. (ส.).

(3) ราษฎร์ ๒ : (คำนาม) แว่นแคว้น, บ้านเมือง. (ส.; ป. รฏฺฐ).

(๓) “มนตรี” 

บาลีเป็น “มนฺตี” อ่านว่า มัน-ตี มาจาก มนฺตา + อี :

(ก) มนฺตา รากศัพท์มาจาก มนฺ (ธาตุ = รู้) + ปัจจัย + อา ปัจจัยเครื่องหมายอิตถีลิงค์

: มนฺ + = มนฺต + อา = มนฺตา แปลตามศัพท์ว่า “ตัวรู้” มีความหมายหลายอย่าง คือ :

(1) คัมภีร์, บทร้องสวด, การร่ายมนตร์ (the Scriptures, Hymns, Incantations)

(2) คัมภีร์โดยทั่วๆ ไป, พระคัมภีร์, คำสอนอันเร้นลับ (holy scriptures in general, sacred text, secret doctrine)

(3) เสียงสวรรค์, คำพูดที่มีเทวอำนาจ, เสน่ห์, มนตร์, คาถา, ศาสตร์ลี้ลับ, วิทยาคม (divine utterance, a word with supernatural power, a charm, spell, magic art, witchcraft)

(4) คำแนะนำ, คำปรึกษา, แผนการ, แบบแผน (advice, counsel, plan, design)

(5) มีความรู้หลายอย่าง, มีเล่ห์เหลี่ยมมาก (a charm that can be said, an effective charm)

(ข) มนฺตา + อี = มนฺตี แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีความรู้” “คนมีความคิด” “ผู้แบกรับกิจที่พึงกระทำ” ใช้ในความหมายว่า ที่ปรึกษา, อำมาตย์, เสนาบดี (counselor, minister)

ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

มนตรี : (คำนาม) ที่ปรึกษาราชการ, ที่ปรึกษา, ผู้แนะนำ, นิยมใช้เป็นส่วนท้ายของสมาส เช่น องคมนตรี รัฐมนตรี เทศมนตรี, (โบ) ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ เช่น มนตรีหก. (ส.; ป. มนฺตี).”

การประสมคำ :

รฏฺฐ + มนฺตี = รฏฺฐมนฺตี (รัด-ถะ-มัน-ตี) แปลว่า “ที่ปรึกษางานของบ้านเมือง” 

รฏฺฐมนฺตี” ใช้ในภาษาไทยเป็น “รัฐมนตรี” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

รัฐมนตรี : (คำนาม) ผู้เป็นสมาชิกของคณะรัฐมนตรีหรือคณะรัฐบาล รับผิดชอบร่วมกับคณะรัฐมนตรีในนโยบายทั่วไปของรัฐบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน, ถ้าเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงหรือทบวง ก็เป็นผู้บังคับบัญชาสูงสุดในกระทรวงหรือทบวงที่ตนว่าการ และรับผิดชอบในการบริหารราชการกระทรวงหรือทบวงนั้นด้วยอีกฐานะหนึ่ง; (คำโบราณ) ที่ปรึกษาราชการบ้านเมืองในสมัยสมบูรณาญาสิทธิราชย์.”

คณะ + รัฐมนตรี = คณะรัฐมนตรี (คะ-นะ-รัด-มน-ตฺรี) 

“คณะรัฐมนตรี : (คำที่ใช้ในกฎหมาย) (คำนาม) คณะบุคคลซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง ประกอบด้วยนายกรัฐมนตรีคนหนึ่ง และรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกินจำนวนที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ เพื่อทําหน้าที่บริหารราชการแผ่นดิน.”

อภิปรายขยายความ :

(1) “รัฐมนตรี” แม้จะเขียนเป็นคำบาลีได้ว่า “รฏฺฐมนฺตี” แต่ยังไม่พบรูปคำเช่นนี้ในคัมภีร์ ดังนั้น “รัฐมนตรี” จึงเป็นคำที่บัญญัติขึ้นใช้ในภาษาไทยเท่านั้น

(2) “คณะรัฐมนตรี” เป็นคำประสม แปลจากหน้าไปหลังว่า “คณะของรัฐมนตรี” ถ้าเป็นคำสมาส ต้องเป็น “รัฐมนตรีคณะ” ซึ่งไม่มีคำเช่นนี้ใช้ในภาษาไทย

พจนานุกรม สอ เสถบุตร แปลคำว่า “รัฐมนตรี” เป็นอังกฤษว่า a minister of state แปลคำว่า “คณะรัฐมนตรี” เป็นอังกฤษว่า the cabinet

พจนานุกรมอังกฤษ-บาลี แปล minister เป็นบาลีว่า: 

amacca อมจฺจ (อะ-มัด-จะ) = อำมาตย์, ผู้ให้คำปรึกษาราชการ

และแปล cabinet เป็นบาลีว่า: 

(1) sacivasabhā สจิวสภา (สะ-จิ-วะ-สะ-พา) > “ที่ประชุมอำมาตย์” = คณะผู้บริหารงานแผ่นดิน 

(2) khuddakagabbha ขุทฺทกคพฺภ (ขุด-ทะ-กะ-คับ-พะ) = ห้องเล็ก 

(3) peḷāyutta-lekhanādhāra เปฬายุตฺต-เลขนาธาร (เป-ลา-ยุด-ตะ-เล-ขะ-นา-ทา-ระ) = ผู้รับผิดชอบรายการทรัพย์สินของแผ่นดิน

แถม :

เราพูดคำว่า “รัฐมนตรี” “คณะรัฐมนตรี” อย่างเป็นคำไทยจนเคย คิดถึงความหมายตามที่เข้าใจกันและพูดกันในภาษาไทย แต่ไม่ค่อยได้คิดว่า ความหมายเดิมในคำบาลีว่าอย่างไร 

นี่เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้คำบาลีเมื่อเอามาใช้ในภาษาไทยมีความหมายคลาดเคลื่อนไปจากความหมายเดิม

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ถ้าเห็นแก่ประโยชน์ของบ้านเมือง ก็ควรแซ่ซ้อง

: ถ้าเห็นแก่ประโยชน์ตนและพวกพ้อง ก็ควรสาปส่ง

#บาลีวันละคำ (4,095)

29-8-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *