บาลีวันละคำ

นะโม ตัสสะ (บาลีวันละคำ 4,096)

นะโม ตัสสะ

ไม่ใช่ นะโมตัสสะ

ต่างกันตรงไหน?

เป็นคำบาลี 2 คำ คือ “นะโม” คำหนึ่ง “ตัสสะ” คำหนึ่ง

(๑) “นะโม” 

เขียนแบบบาลีเป็น “นโม” อ่านว่า นะ-โม รูปคำเดิมเป็น “นม” (นะ-มะ) รากศัพท์มาจาก นมฺ (ธาตุ = นอบน้อม) + (อะ) ปัจจัย

: นมฺ + = นม แปลว่า การนอบไหว้, ความนอบน้อม, ความเคารพ (homage, veneration)

หลักความรู้ทางไวยากรณ์ :

คำว่า “นโม” ในทางไวยากรณ์จัดว่าเป็นคำพิเศษ ตำราบางเล่ม (เช่น อภิธานปฺปทีปิกาฏีกา คาถาที่ 426 หน้า 298) บอกว่า เป็น อะ-การันต์ คือรูปคำเดิมเป็น “นม” (นะ-มะ) แจกด้วยวิภัตตินาม เปลี่ยนรูปเป็น “นโม” แต่ก็เป็น โอ-การันต์ด้วย คือรูปคำเดิมเป็น “นโม” อยู่แล้ว จะแจกด้วยวิภัตติหรือไม่แจกก็เป็น “นโม” อยู่นั่นเอง 

รูปคำ “นโม” ปกติแปลกันว่า “อันว่าความนอบน้อม” แปลอย่างนี้บ่งว่า “นโม” เป็นปุงลิงค์ แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกพจน์ 

แต่ในที่บางแห่ง (เช่น คัมภีร์มโนรถปูรณี [อรรถกถาอังคุตรนิกาย] ภาค 2 หน้า 158) มีคำว่า “นโม กเรยฺย” แปลว่า “พึงทำซึ่งความนอบน้อม” กรณีเช่นนี้“นโม” ใช้เป็นทุติยาวิภัตติ 

ที่ว่ามานี้เป็นหลักไวยากรณ์ ผู้ไม่มีพื้นมาก่อนฟังไว้พอเป็นแนว

นโม” เขียนแบบคำอ่านเป็น “นะโม

(๑) “ตัสสะ

เขียนแบบบาลีเป็น “ตสฺส” อ่านว่า ตัด-สะ รูปศัพท์เดิมเป็น “” (ตะ) เป็นศัพท์จำพวก “สัพพนาม” 

“สัพพนาม” (สรรพนาม) ในบาลีมี 2 ประเภท คือ –

(1) “ปุริสสัพพนาม” (ปุริสสรรพนาม) คือคำแทนชื่อ มี 3 บุรุษ คือ –

1. ปฐมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดถึง เช่น เขา มัน (he, she, they; it) บาลีใช้ศัพท์ว่า “” (ตะ) นิยมเรียก “-ศัพท์” 

2. มัธยมบุรุษ หมายถึงผู้ที่เราพูดด้วย เช่น แก เจ้า มึง (you) บาลีใช้ศัพท์ว่า “ตุมฺห” (ตุม-หะ) นิยมเรียก “ตุมฺห-ศัพท์” 

3. อุตตมบุรุษ หรือ อุดมบุรุษ หมายถึงเราซึ่งเป็นผู้พูด เช่น ฉัน ข้า กู (I, we) บาลีใช้ศัพท์ว่า “อมฺห” (อำ-หะ) นิยมเรียก “อมฺห-ศัพท์” 

(2) “วิเสสนสัพพนาม” (วิเสสนสรรพนาม) คือคำคุณศัพท์ทำหน้าที่ขยายคำนาม ในบาลีมีหลายคำ เช่น (ใด) อญฺญ (อื่น) ปร (อื่น) กตร (คนไหน, สิ่งไหน

ในที่นี้ “” เป็น “วิเสสนสัพพนาม” แปลว่า “นั้น” นิยมใช้ใน 2 ฐานะ คือ

๑ ใช้หมายถึงบุคคลสัตว์สิ่งของที่พูดถึงมาแล้วและต้องการกล่าวถึงอีกหรือต้องการย้ำว่าหมายถึงผู้นั้นตัวนั้นสิ่งนั้นแน่นอน ก็ใช้ -ศัพท์แทน

๒ เป็นคำที่คู่กับ “” (ยะ) แปลว่า “ใด” นิยมเรียกคู่กันว่า “ยะตะ” มีสูตรที่นักเรียนบาลีต้องจำได้ คือ “มีใด ต้องมีนั้น” คือ ถ้าความท่อนแรกมี “” ความท่อนหลังต้องมี “” เรียกกันว่า “รับยะ รับตะ”

ในบทนะโมนี้ -ศัพท์ใช้ในฐานะตามข้อ ๑ คือกล่าวย้ำว่ามุ่งถึงพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้นอย่างแน่นอน 

ในที่นี้คำว่า “พระผู้มีพระภาคเจ้า” คำบาลีว่า “ภควโต” (ภะคะวะโต) แจกด้วยวิภัตตินามที่สี่ (จตุตถีวิภัตติ) “-ศัพท์” ทำหน้าที่ขยาย “ภควโต” จึงเปลี่ยนรูปเป็น “ตสฺส” ตามกฎที่ว่า คำขยาย (วิเสสนะ) ต้องประกอบลิงค์ วจนะ วิภัตติ ตามคำที่ตนขยาย

อภิปรายขยายความ :

นะโม ตัสสะ” เป็นบทนมัสการพระพุทธเจ้า เรียกรู้กันทั่วไปว่า “บทนะโม” ข้อความเต็มๆ เป็นดังนี้ –

เขียนแบบบาลี:

……………………………………………….

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส

……………………………………………….

เขียนแบบคำอ่าน:

……………………………………………….

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมาสัมพุทธัสสะ

……………………………………………….

แปลโดยพยัญชนะ:

……………………………………………….

นโม = อันว่าความนอบน้อม

(อตฺถุ = จงมี)

ภควโต = แด่พระผู้มีพระภาคเจ้า

อรหโต = ผู้เป็นพระอรหันต์ (ผู้ไกลจากกิเลส)

สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส = ผู้ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

ตสฺส = พระองค์นั้น

……………………………………………….

แปลโดยโดยอรรถ:

……………………………………………….

ขอนอบน้อมพระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น ผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

……………………………………………….

ที่ยกคำว่า “นะโม ตัสสะ” มาเขียนเป็นบาลีวันละคำ ก็เนื่องจากได้เห็นในที่หลายแห่งเขียนคำนี้ติดกันเป็น “นะโมตัสสะ” 

ขอได้โปรดทราบทั่วกันว่า “นะโมตัสสะ” เขียนติดกันแบบนี้เป็นการเขียนที่ผิด เพราะ “นะโม” เป็นคำหนึ่ง “ตัสสะ” เป็นอีกคำหนึ่ง เป็นคำบาลี 2 คำ และคำบาลีนั้นเขียนแยกกันเป็นคำๆ แบบเดียวกับภาษาองกฤษ เพราะฉะนั้น คำขึ้นต้นบทนะโม จึงต้องเขียนแยกกันเป็น “นะโม ตัสสะ” ไม่ใช่ติดกันเป็น “นะโมตัสสะ” 

นะโม ตัสสะ” ถูก ✔

นะโมตัสสะ” ผิด ✘

ผู้ที่เผยแพร่คำนี้ตามเว็บไซต์ต่างๆ ถ้าจะกรุณาลบคำที่ผิดออกไป และเอาคำที่ถูกต้องมาขึ้นไว้แทน นอกจากจะเป็นการแสดงความรับผิดชอบแล้ว ยังเป็นการให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่สังคม นับเป็นมหากุศลอันควรแก่การอนุโมทนาอย่างยิ่ง

…………..

ดูก่อนภราดา!

: เขียนผิดก็ไม่ตกนรกนะจ๊ะคนสวย

: แต่ไม่ตกนรกด้วย เขียนถูกด้วย ดีกว่า

#บาลีวันละคำ (4,096)

30-8-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *