บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๒) 

การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา (๒) 

————————————

ศึกษาพระธรรมวินัยแบบบ้านๆ 

ในฐานะชาวบ้าน ถ้าจะศึกษาพระธรรมวินัยเพื่อช่วยกันรักษาพระศาสนา ผมขอเสนอแนวคิดว่า ควรแบ่งกรอบเรื่องที่จะศึกษาเป็น ๒ กรอบใหญ่ คือ 

(๑) เรื่องที่พระ “ห้ามทำ” 

(๒) เรื่องที่พระ “ต้องทำ” 

เรื่องที่พระ “ห้ามทำ” หมายถึงเรื่องที่พระทำไม่ได้ ทำแล้วผิด เนื้อหาหลักก็คือศีล ๒๒๗ ข้อ 

จำเป็นกฎก็ได้ว่า เรื่องที่ห้ามทำหลักๆ มี ๒๒๗ เรื่อง + เรื่องอื่นๆ 

วิธีศึกษา ไม่ใช่ว่าชาวบ้านจะต้องท่องจำศีล ๒๒๗ ข้อของพระให้ได้ 

เพียงแต่ขอให้ช่วยกันรู้เข้าใจว่า-เรื่องนี้พระ “ห้ามทำ”

ยกตัวอย่าง พระเณรฉันข้าวหลังเที่ยงวันไปแล้วไม่ได้ ที่พูดกันสั้นๆ ว่า ห้ามฉันข้าวเย็น – นี่คือเรื่องหนึ่งที่ “ห้ามทำ” 

เราไม่ต้องมานั่งท่องว่า ๑ พระห้ามฉันขาวเย็น 

แต่ระลึกรู้ได้โดยสามัญสำนึกว่า-นี่เรื่องหนึ่งละที่ “ห้ามทำ” 

เรื่องอะไรอีกที่ “ห้ามทำ” ก็ใช้หลักเดียวกันนี้

ต่อไป เรื่องที่ “ต้องทำ” มีอะไรบ้าง อันนี้อาจจะยากขึ้นมาหน่อย เพราะอยู่นอกศีล ๒๒๗ ข้อ แต่ก็ไม่เหลือวิสัย ค่อยๆ ศึกษาไป 

ใช้วิธีสอบถามจากผู้รู้ก็ได้ 

ผมยกตัวอย่างให้ก็ได้ สักเรื่องสองเรื่อง – 

(๑) “พระสงฆ์ต้องประชุมฟังพระปาติโมกข์ทุกวันพระใหญ่” 

ได้เรื่องหนึ่งละ ที่เรารู้ว่าพระสงฆ์ “ต้องทำ” ไม่ทำคือผิดพระธรรมวินัย

ใครยังเคยรู้ก็รู้ไว้ ว่า-นี่เป็นเรื่องหนึ่งที่พระสงฆ์จะ “ต้องทำ” 

ถึงวันพระใหญ่ พระที่วัดข้างบ้านไม่ลงโบสถ์ฟังพระปาติโมกข์ เราจะได้รู้ว่าท่านไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ

(๒) “เวลาเดินไปไหนมาไหนตั้งแต่ ๒ รูปขึ้นไป-เช่นเดินบิณฑบาต-พระจะต้องเดินเรียงแถวตามลำดับอาวุโส บวชก่อนเดินหน้า บวชทีหลังเดินตาม พระจะไม่เดินเป็นหน้ากระดาน” 

เห็นพระเดินเป็นหน้ากระดาน เราก็รู้ทันทีว่าท่านไม่ทำสิ่งที่ต้องทำ หรือจะว่าทำผิดแบบแผนของพระก็ได้ 

(๓) “เข้าไปในเขตสถูปเจดีย์วิหารลานอุโบสถ ถ้าครองจีวร ต้องห่มลดไหล่ ห้ามห่มคลุม” 

ห่มลดไหล่ ห่มคลุม คืออย่างไร หาความรู้ต่อไปอีก

นี่เป็นตัวอย่าง (อาจจะฟังดูปนๆ กันระหว่าง “ห้ามทำ” กับ “ต้องทำ”) 

เรียนรู้ไปวันละเรื่องสองเรื่อง ไม่ต้องโลภมาก 

เรียนไปเรื่อยๆ ถือหลัก-ยิ่งช้า ยิ่งแม่น ยิ่งแน่น ยิ่งดี 

เรียนรู้ไปวันละเรื่อง 

ปีหนึ่งมี ๓๖๕ วัน 

รู้เรื่องพระธรรมวินัยปีละ ๓๖๕ เรื่อง 

ใช้วิธีจดบันทึกไว้ด้วยก็ยิ่งดี 

แยกเป็นเรื่องที่ “ห้ามทำ” เล่มหนึ่ง 

เรื่องที่ “ต้องทำ” เล่มหนึ่ง 

ใครรู้เรื่องอะไรถูกต้องชัดเจนมาเรื่องหนึ่ง เอามาโพสต์เผยแพร่ความรู้ทางเฟซบุ๊กให้ผู้อื่นด้วย ก็ยิ่งเป็นมหากุศล 

เราไม่ได้เรียนเอาไปสอบนักธรรมบาลี เรียนเอาประโยคเอาใบประกาศ หรือเอาไปแข่งกับใคร 

แต่เรียนเพื่อช่วยรักษาพระศาสนา 

เรียนรู้ไว้ด้วยความหวังว่า เมื่อพระท่านรู้ว่าชาวบ้านเขารู้เรื่องอย่างนี้ ท่านจะได้มีกำลังใจ ไม่ฝืนทำสิ่งที่ “ห้ามทำ” และไม่ละเลยสิ่งที่ “ต้องทำ” 

เป็นการเรียนรู้เพื่อถวายกำลังใจให้พระ 

เรียนรู้ด้วยจิตอันประกอบด้วยเมตตา

เรียนรู้ด้วยกุศลจิต 

ไม่ใช่เรียนรู้เพื่อจับผิดพระ

แต่เรียนรู้เพื่อช่วยกันรักษาพระ 

ถ้ามีเวลาดูข่าว มีเวลาดูหนังดูละคร ดูเกมโชว์

ก็ควรจะมีเวลาศึกษาเรียนรู้พระธรรมวินัย-แบบบ้านๆ ดังที่เสนอแนะมานี้ 

———————-

สิ่งที่ควรระวังก็คือ ความคิดหรือคำพูดบั่นทอนกำลังใจ เช่น —

– เรื่องแบบนี้เป็นหน้าที่ของพระ เราเป็นชาวบ้าน ไปเกี่ยวอะไรด้วย 

– พระเองท่านยังไม่เรียน แล้วเราจะไปช่วยอะไรได้ 

– เราทำอยู่คนเดียว คนอีกเป็นแสนเป็นล้านเขาไม่ทำ จะมีประโยชน์อะไร 

– ศาสนาไม่ใช่ของเราคนเดียว

– เราอยู่อีกไม่เท่าไร เดี๋ยวก็ตายแล้ว จะต้องไปห่วงอะไรให้ลำบากทำไม

– ยังไงๆ ศาสนาก็ต้องเสื่อมสูญอยู่แล้ว จะต้องไปช่วยกันรักษาให้เหนื่อยทำไม เอาตัวรอดเฉพาะตัวเราก็ดีถมไปแล้ว

ฯลฯ 

ฯลฯ 

ถ้าจะทำหน้าที่ของชาวพุทธที่ดี ต้องพยายามเอาชนะมารพวกนี้ไม่ได้

ขอเสนอวิธีคิดของผม

๑ คนเราเกิดมาแล้วต้องตายทุกคน – นี่เป็นสัจธรรม รู้กันดี 

เพราะฉะนั้น เราก็ไม่ควรจะต้องทำอะไรให้เหนื่อยยาก นั่งๆ นอนๆ รอความตายสบายกว่า ใช่ไหม?

ขอประทานโทษ สัตว์เดรัจฉานมันยังไม่ทำเลย! 

ยังไงๆ ศาสนาก็ต้องเสื่อมสูญอยู่แล้ว เพราะฉะนั้น นั่งๆ นอนๆ รอให้ศาสนาสูญไปเองสบายกว่า 

ไม่อายสัตว์มันมั่งหรือ?

๒ พระมหาชนกเรือแตกกลางทะเล ว่ายน้ำอยู่ ๗ วันทั้งๆ ที่มองไม่เห็นฝั่ง 

เป็นการกระทำที่เปอร์เซ็นต์ความสำเร็จลบศูนย์ แต่ท่านก็ทำ 

ลองฟังเหตุผลของท่านดู — 

………….

อนโณ ญาตีนํ โหติ 

เทวานํ ปิตุนญฺจ โส 

กรํ ปุริสกิจฺจานิ 

น จ ปจฺฉานุตปฺปติ.

เมื่อได้ลงมือพยายามเต็มที่แล้ว แม้จะตาย

ญาติพี่น้อง พ่อแม่ หรือแม้เทวดาก็ตำหนิไม่ได้ 

เมื่อทำหน้าที่อย่างที่มนุษย์จะพึงทำแล้ว 

ย่อมไม่เสียใจในภายหลัง (ว่าเราไม่น่างอมืองอเท้าเลย!) 

อปารเณยฺยมจฺจนฺตํ 

โย วิทิตฺวาน เทวเต  

น รกฺเข อตฺตโน ปาณํ 

ชญฺญา โส ยทิ หาปเย

ผู้ที่รู้ว่างานที่ทำอาจจะไม่สำเร็จลุล่วง 

ถ้าเขาละความพยายามที่จะลงมือทำเสีย 

ก็ชื่อว่าไม่รักษาชีวิตของตน

เขาก็จะรู้ว่าความเกียจคร้านก่อให้เกิดผลอะไร 

อธิปฺปายผลํ เอเก 

อสฺมึ โลกสฺมิ เทวเต 

ปโยชยนฺติ กมฺมานิ 

ตานิ อิชฺฌนฺติ วา น วา

ในโลกนี้ยังมีคนบางพวก 

ที่เชื่อว่าความมุ่งหวังของตนจะต้องสำเร็จผล

เขาจึงลงมือทำสิ่งที่ควรทำ 

ไม่ว่างานที่ทำนั้นจะสำเร็จหรือไม่ก็ตาม 

โส อหํ วายมิสฺสามิ 

ยถาสตฺติ ยถาพลํ 

คจฺฉํ ปารํ สมุทฺทสฺส 

กสฺสํ ปุริสการิยํ

เราจักพยายามให้สุดกำลัง 

จักทำหน้าที่อย่างที่มนุษย์ควรทำ 

ไปให้ถึงฝั่งมหาสมุทรให้จงได้

ที่มา: มหาชนกชาดก พระไตรปิฎกเล่ม ๒๘ ข้อ ๔๔๕-๔๔๗

………….

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๒๕ เมษายน ๒๕๖๒

๑๙:๐๗

………….

ย้อนกลับ บทความเรื่อง การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *