ความล้มเหลวเกิดเพราะเรานี่เอง
ความล้มเหลวเกิดเพราะเรานี่เอง
———————————-
บทแถมท้ายในชุด: การศึกษาเพื่อการรักษาพระศาสนา
เช้าวันหนึ่ง ผมไปสนทนาธรรมกับหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ ราชบุรี ตามเคย
ตอนหนึ่งท่านโพล่งออกมาว่า – ประกาศไปเลย “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ” ไม่รู้ว่ากลัวอะไรกัน
ใครจะเป็นคนประกาศละขอรับหลวงพ่อ?
ผมไม่ได้ถามตอนนั้นหรอก แต่ถามตัวเองระหว่างเดินกลับบ้าน
หลวงพ่อท่านก็คงพูดไปตามความคิดความปรารถนา-อยากให้เป็นอย่างนั้น อยากให้เป็นอย่างโน้น เหมือนกับที่เราส่วนมากก็อยากกันแบบนั้น
แต่ที่เรามักมองข้าม ลืมคิด หรือไม่ทันได้คิดก็คือ ความเป็นจริง หรือข้อเท็จจริง หรือช่องทางที่จะเป็นไปได้จริง
เราส่วนมากไม่ได้มองตรงนั้น
วันนี้ผมอยากจะชวนให้มอง
………………..
อันดับแรกคือ ต้องเข้าใจว่าบ้านเมืองเราจะทำอะไรต้องมีกฎหมายรองรับ ภาษาวิชาการรัฐศาสตร์เรียกว่า เราเป็น “นิติรัฐ”
พูดสั้นๆ ใครอยากให้อะไรเป็นอะไร ต้องออกเป็นกฎหมาย
ออกเป็นกฎหมายได้ ก็เป็นได้อย่างที่เราอยาก
ถ้ายังไม่ได้ออกเป็นกฎหมาย อยากยังไงๆ ก็เป็นไม่ได้
ปากเราก็บอกกันว่า เป็นห่วงพระพุทธศาสนา เราจะปกป้องพระพุทธศาสนา เราจะไม่ยอมให้ใคร-โดยเฉพาะต่างศาสนา-มาเบียดเบียน มาลิดรอน หรือมารุกรานเรา มาแย่งที่เรา
แต่ตัวตัดสินคือ เราได้ทำอะไรลงไปบ้างแล้วหรือยัง-ที่ว่าจะปกป้องพระพุทธศาสนาน่ะ
หรือว่าได้แต่ตะโกนปาวๆ ว่าเรารักพระพุทธศาสนา เราห่วงพระพุทธศาสนา เราจะปกป้องพระพุทธศาสนา
แต่ยังไม่ได้ทำอะไร นอกจากบอกหรือบ่นว่า มันน่าจะยังงั้น มันน่าจะยังงี้ แต่ทำอย่างไรมันจึงเป็นยังงั้นยังงี้ ไม่รู้
พระสงฆ์องค์เณรศึกษาพระธรรมวินัย ปฏิบัติตามพระธรรมวินัย
ฆราวาสญาติโยมอุปถัมภ์บำรุงตามกำลัง ปฏิบัติธรรมไปตามกำลัง
อย่างนั้นถูกต้องแล้ว จงทำกันต่อไป อย่าหยุด และอย่าย่อหย่อน
แต่ในส่วนที่จะปกป้องระดับชาติ อุปถัมภ์บำรุงระดับชาติ หรือจะให้ศาสนาพุทธเป็นศาสนาประจำชาติ อย่างมีหลักมีฐานเป็นทางการ นั่นต้องทำตามหลักนิติรัฐ คือต้องออกเป็นกฎหมาย
พูดแต่ปาก รักแต่ปาก เป็นห่วงแต่ปากอย่างเดียว ไม่เกิดผลอะไร
ตรงจุดที่-ต้องดำเนินการทางกฎหมายนี่แหละ ที่เราชาวพุทธยังอ่อนหัดกันแทบจะสิ้นเชิง
“อ่อนหัด” หมายความว่าทำไม่เป็น ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน
แต่ที่น่าห่วงที่สุดก็คือ ไม่เคยมีความคิดที่จะทำ คือไม่เคยมีความคิดที่จะใช้ช่องทางกฎหมาย
และมีอยู่เป็นจำนวนมากที่ยังคงละเมออยู่ว่า ศาสนาพุทธของเรามั่นคง ไม่จำเป็นจะต้องมีกฎหมายหรือใช้กฎหมายอะไรมาทำอะไรให้ยุ่งยาก เราก็มั่นคงอยู่แล้ว จะต้องมาทำให้ยุ่งทำไม
จำได้ไหมครับ สมัยที่รณรงค์ให้เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่าพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ
คนไทยเป็นจำนวนมากวางเฉย และมีจำนวนมากที่ออกมาพูดว่า ตามความเป็นจริง ตามวัฒนธรรมประเพณี เรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว จะต้องบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญอีกทำไม
มีหลายคนที่บอกว่าในรัฐธรรมนูญกำหนดไว้แล้วว่าพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ นั่นก็แสดงว่าเรามีพระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติอยู่แล้ว จะต้องไปบัญญัติอะไรกันอีก
แสดงว่าพวกเราเองก็ยังตามไม่ทัน รู้ไม่ทัน คิดไม่ทันว่าความหมายของนิติรัฐนั้นคืออะไร
ไม่ผิดอะไรกับภรรยาที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส มั่นใจว่าฉันเป็นเมียเขา ฉันอยู่กินกับเขามาตั้งแต่ไหนแต่ไร จะต้องไปจดทะเบียนเหมือนวัวเหมือนควายอะไรกันอีก
จนกระทั่งถึงวันที่สามีตาย แล้วสมบัติตกเป็นของภรรยาที่จดทะเบียนตามกฎหมาย-นั่นแหละจึงรู้สึก
แต่ก็สายเสียแล้ว
พระพุทธศาสนาก็กำลังจะ-สายเสียแล้ว-แบบนั้นเหมือนกัน
———————–
ศาสนาที่เขาตั้งเป้าหมายจะมาแทนที่เรา เขารู้ความจริงข้อนี้ เขาจึงดำเนินยุทธวิธีโดยกลไกทางกฎหมาย โดยที่เราไม่ได้ระวังระแวง
ทำไมเวลาคนที่นับถือศาสนาของเขาไปแสวงบุญในประเทศที่เป็นต้นกำเนิดศาสนาของเขา รัฐบาลไทยจึงต้องสนับสนุนตั้งแต่ไปจนกลับ
ก็เพราะมีกฎหมาย (จะเรียกว่ากฎหมาย หรือระเบียบ หรือกฎกระทรวง หรือข้อกำหนดอะไรก็ตามทีเถิด มันก็รวมอยู่ในคำว่า law นั่นแหละ) กำหนดไว้ว่า เมื่อคนของเขาไปแสวงบุญ หน่วยงานต่างๆ ของรัฐต้องสนับสนุน
หน่วยงานของรัฐบาลไทยปฏิบัติงานตามกฎหมาย
เมื่อมีกฎหมายกำหนดไว้เช่นนั้น เขาก็ต้องทำ จะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยก็ต้องทำ
ถ้าไม่ทำก็ผิดกฎหมาย
ฝ่ายศาสนานั้นเขาก็อ้างได้เต็มปากว่า-ก็กฎหมายเขียนไว้อย่างนั้น จะมาว่าเขาได้อย่างไร จะมาอิจฉาเขาได้อย่างไร
คุณอยากให้รัฐบาลสนับสนุนบ้างเวลาพวกคุณไปไหว้พระที่อินเดีย คุณก็ไปออกกฎหมายเอาสิ
เห็นกันหรือยัง นี่คือความหมายของนิติรัฐ
และตรงนี้แหละที่พวกเราส่วนมากยังไม่รู้ตัว ยังไม่ตระหนัก เพราะยังไม่ตื่น
สมัยที่รณรงค์เรื่องศาสนาประจำชาตินั่นเอง ยังจำได้หรือไม่ ผู้นำศาสนาของเขาเดือดร้อนอย่างหนัก หาหนทางขัดขวางยับยั้งเต็มที่
จำได้ไหม คำที่พูดกันว่า ถ้าบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติ เลือดจะนองท่วมท้องช้าง – ก็เกิดมาจากแนวคิดที่จะต้องขัดขวางยับยั้งนี่แหละ
ทำไม?
ก็เพราะถ้ามีการบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเช่นนั้นจริงๆ ข้อบัญญัตินั้นก็จะกลายเป็นภูเขาลูกมหึมาขวางเส้นทางที่ศาสนาของเขาจะเข้ามาแทนที่ของเราทันที
รัฐธรรมนูญร่างได้ก็ฉีกทิ้งได้มิใช่หรือ?
ก็จริง แต่เมื่อใดถ้าได้กำหนดไว้เช่นนั้นในรัฐธรรมนูญแล้ว เมื่อนั้นมันจะกลายแบบแผนหรือหลักการที่ไม่อาจจะละเลยได้อีกต่อไป
ขอให้นึกถึงรัฐธรรมนูญมาตราที่ว่า-ประเทศไทยเป็นราชอาณาจักรอันหนึ่งอันเดียว จะแบ่งแยกมิได้
และมาตราที่ว่า-พระมหากษัตริย์ทรงเป็นพุทธมามกะ
จะฉีกรัฐธรรมนูญมากี่ฉบับ พอร่างใหม่ก็ต้องมีมาตรานี้ด้วยเสมอไป
เรื่องศาสนาประจำชาตินี่ก็เช่นเดียวกันนั่นแหละ
เพราะฉะนั้น วิธีเดินเกมที่ดีที่สุดก็คือต้องตีกันไว้ทุกวิถีทาง-อย่าให้บัญญัติได้เป็นอันขาด
ความข้อนี้โปรดตราไว้ แล้วตามไปดูเถิด-ถ้าเกิดมีใครรณรงค์จะให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติขึ้นมาอีก ก็จะถูกตีกันอีกทุกทีไป
แผนของเขาก็คือ เมื่อถึงเวลาที่ประเทศไทยมีประชาชนนับถือศาสนาของเขาเป็นเปอร์เซ็นต์ที่คาดไว้ว่าจะไม่น่าเกลียดจนเกินไปแล้ว ก็จะมีการเสนอให้บัญญัติว่าศาสนาของเขาเป็นศาสนาประชาติไทย
ถึงตอนนั้นโอกาสที่จะสำเร็จก็อยู่แค่เอื้อม เพราะเขาสามารถเข้ากุมกลไกทางกฎหมายไว้ได้มากพอแล้ว
ถึงตอนนั้น ประวัติศาสตร์ในมาเลเซียจะมาซ้ำรอยในประเทศไทย
เมืองไทยของเรานี้ ชาวพุทธมีถึง ๙๕ เปอร์เซ็นต์ ไม่สามารถบัญญัติให้พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติได้
แต่ในเมืองไทยของเรานี้นี่แหละ เมื่อผู้นับถือศาสนาของเขามีสักแค่ ๔๐ เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ก็สามารถบัญญัติให้ศาสนาของเขาเป็นศาสนาประจำชาติได้
เวลานี้เท่าที่ได้สดับจากผู้คนในพื้นที่หลายแห่ง มีสิ่งบอกเหตุว่ากระบวนการเพิ่มจำนวนผู้นับถือศาสนาของเขาในประเทศไทยกำลังดำเนินไปอย่างเงียบกริบและได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
คาดว่า ราวๆ อีกครึ่งศตวรรษหรือนานกว่านั้นก็คงไม่เท่าไร แต่น่าจะไม่เกิน ๑ ศตวรรษต่อจากนี้ พลเมืองไทยที่นับถือศาสนาของเขาจะเพิ่มขึ้นจนได้ตัวเลขที่เป็นเปอร์เซ็นต์พอที่จะเดินหน้าไปสู่ความเป็นศาสนาประจำชาติได้แล้ว-อย่างสบายๆ
———————–
ในท่ามกลางแห่งความเป็นไปดังว่ามานี้ ชาวพุทธเราก็ยังคงร้องตะโกนว่า เรารักพระพุทธศาสนา เราเป็นห่วงพระพุทธศาสนา และเราจะปกป้องพระพุทธศาสนา-กันอยู่เสมอมิได้ขาด
แต่ไม่มีใครเลยที่มีความคิดและมีความสามารถที่จะเข้าไปกุมกลไกทางกฎหมายได้อย่างมีประสิทธิภาพ
เรามีคนที่รู้กฎหมายเยอะแยะ คนวัด-คนที่ไปจากวัดและรู้กฎหมายก็มีเยอะแยะ คนที่เก่งทางกฎหมายและเกี่ยวข้องกับวัด เป็นคนของวัดก็มีเป็นจำนวนมาก เป็นกรรมการวัด เป็นไวยาวัจกร เป็นผู้อุปถัมภ์วัด ก็มีเป็นอันมาก
แต่ไม่มีแม้แต่คนเดียวที่จะมีอุดมคติหรือมีความมุ่งมั่นที่จะใช้กลไกทางกฎหมายปกป้องและอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา-ตามระบอบนิติรัฐ
ภาพที่พระพุทธศาสนายังรุ่งเรือง ผ้าเหลืองยังปลิวไสว ซึ่งเป็นภาพลวงตาได้กลายเป็นม่านบังใจ บังความคิด ไม่ให้เห็นความจำเป็นเร่งด่วนที่จะต้องมีกลไกและใช้กลไกทางกฎหมายมาสนับสนุนพระพุทธศาสนาแต่ประการใด
กล่าวตามหลักธรรม ก็คือยังตกอยู่ในความประมาทกันโดยทั่วหน้า
ชาวพุทธที่ปฏิบัติงานอยู่ในหน่วยงานทางกฎหมายหรือสายงานยุติธรรมเล่า?
คนเหล่านั้นทั้งหมดเป็นพวกที่มุ่งทำงานตามหน้าที่ และในหน้าที่นั้นก็ไม่ได้ระบุว่าพวกเขามีหน้าที่จะต้องคิดหาทางใช้กฎหมายช่วยเหลือพระพุทธศาสนาแต่ประการใด
เพราะฉะนั้นจึงไม่ต้องหวังอะไรจากพวกเขา
แล้วชาวพุทธเราที่อยู่ในสภาล่ะ?
ชาวพุทธที่พวกเราเลือก (หรือใครจะเลือกก็ช่างเถิด) ให้เข้าไปอยู่ในสภานั้น ร้อยละร้อยเป็นพวกที่ทำงานเพื่อกระเป๋าตัวเองและพวกพ้อง แม้ตามทะเบียนบ้านเขาจะเป็นพุทธ แต่เขาจะไม่เห็นความจำเป็นใดๆ ทั้งสิ้นที่จะต้องเข้าไปยุ่งเกี่ยวหรือทำอะไรเพื่อพระพุทธศาสนา พวกเขาจะเข้าไปเกี่ยวข้องเฉพาะเรื่องที่เขามีช่องทางจะได้ผลประโยชน์เท่านั้น และโดยปกติแล้วพระพุทธศาสนาไม่มีผลประโยชน์อะไรที่เขาจะกอบโกยเอาได้
เพราะฉะนั้นก็ไม่ต้องหวังอะไรอีกเช่นกัน
ข้อนี้จะแตกต่างอย่างยิ่งกับคนในศาสนานั้นที่ได้เข้าไปอยู่ในสภา คนของเขาที่อยู่ในสภาล้วนแต่มีเป้าหมายในการทำงานเพื่อศาสนาของเขาทั้งสิ้น เพราะในระบบของเขา ศาสนากับการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน นักการเมืองของเขามีฐานะเป็นนักการศาสนาอยู่ด้วยในตัว การทำงานของพวกเขาจึงเป็นการทำงานเพื่อศาสนาแทบจะโดยตรงๆ เต็มๆ
แต่นักการเมืองที่เป็นชาวพุทธ ไม่ใช่
นักการเมืองของเราทำงานเพื่อกระเป๋า
นักการเมืองของเขาทำงานเพื่อศาสนา
———————–
ทั้งหลายทั้งปวงที่ว่ามานี้ ถ้ากล่าวตามหลักอริยสัจสี่ ก็อยู่ในขั้นทุกข์-ตัวปัญหา และสมุทัย-สาเหตุของปัญหา
นิโรธ-เป้าหมายคือหมดปัญหา และมรรค-วิธีปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมาย ยังไม่ได้เอ่ยถึงเลย
นิโรธ-เป้าหมายของพวกเราก็คือ ต้องการให้พระพุทธศาสนาดำรงมั่นคงอยู่ในแผ่นดินไทยเพื่อชี้ทางปฏิบัติที่ถูกต้องซึ่งเมื่อปฏิบัติตามแล้วคนในแผ่นดินนี้ไม่ว่าจะนับถือศาสนาใดๆ จะอยู่กันอย่างร่มเย็นเป็นสุขสืบไปชั่วกาลนาน
ไม่ต้องมีศาสนาไหนอันตรธานไปจากแผ่นดินไทย-แบบว่า “มีกู ต้องไม่มีมึง”
แล้วมรรค-วิธีปฏิบัติให้บรรลุเป้าหมายคืออย่างไร?
ข้อคิดข้อเสนอของผมก็คือ
ต้องเริ่มยุทธวิธีใช้กลไกทางกฎหมาย คือเจาะเข้าหากระบวนการทางกฎหมาย แล้วเข้ากุมกลไกทางกฎหมายให้เอื้ออำนวยช่องทางแก่การที่จะออกกฎหมายทั้งปวงเพื่อปกป้องและอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา
พูดอย่างนี้คือหลักการ
พูดได้ พูดง่าย แต่ทำยาก
คือต้องตื่นจากความประมาทมัวเมา ตื่นจากการไม่เห็นความสำคัญและความจำเป็นทางกฎหมาย มัวไปเพลิดเพลินชื่นชมกับภาพลวงตา
หันมาสนใจให้ความสำคัญกับกระบวนการทางกฎหมายกันได้แล้ว
โปรดระลึกไว้เถิดว่า
ไม่ว่าจะรักพระพุทธศาสนาขนาดไหน
ไม่ว่าจะห่วงขนาดไหน
ไม่ว่าจะหวังดีขนาดไหน
ถ้ายังแปรรูปสิ่งเหล่านั้นออกมาเป็นกฎหมายไม่ได้
ก็ขอให้รู้เถิดว่า
ความหวังดีปรารถนาดีเหล่านั้น
ก็ยังมีค่าเป็นศูนย์อยู่นั่นเอง
คือจะไม่ช่วยรับประกันความมั่นคงอะไรได้เลยแม้แต่น้อย
แล้วใครจะทำ?
ใครจะเป็นคนทำหน้าที่แปรรูปสิ่งเหล่านี้ออกมาเป็นกฎหมาย?
ตรงนี้คือจุดอ่อนที่สุดของชาวเรา
เราจะตายจะหมดสิ้นทุกสิ่งทุกอย่างก็เพราะจุดอ่อนตรงนี้
คือรู้ว่าจะต้องทำอะไร
แต่ไม่รู้ว่าใครจะทำ
เรามีแต่คนที่คิดว่า ไม่ใช่กู ไม่ใช่หน้าที่ของกู พระพุทธศาสนาไม่ใช่ของกูคนเดียว
ขอประทานโทษเถิด แม้แต่คณะสงฆ์เอง ตลอดจนพระสงฆ์องค์เณรของเราซึ่งเป็นผู้ได้รับผลกระทบตรงๆ เต็มๆ แท้ๆ ท่านก็คิดแบบนี้ทั้งนั้น-เป็นเรื่องของทางบ้านเมือง ไม่ใช่หน้าที่ของอาตมา
——————–
คำเสนอของผมก็คือ –
๑ ขอให้ทุกคนมองเข้ามาที่ตัวเองก่อนเป็นเบื้องต้น
๒ แล้วสำรวจดูว่า เราเป็นใคร มาจากไหน มาทำอะไรอยู่ตรงนี้ เป็นพระ เป็นเณร เป็นเจ้าคุณ เป็นมหา เป็นเจ้าคณะ และเป็นเหนือๆ ขึ้นอีก เป็นอุบาสกอุบาสิกา เป็นคนวัด ฯลฯ
เรามาอยู่ในฐานะนี้ตำแหน่งนี้ทำไม
เรามาเป็นเราอยู่ตรงนี้ทำไม
๓ บัดนี้ เรามีความรู้ความสามารถอะไรบ้าง เราถนัดอะไรบ้าง เราทำอะไรได้บ้าง ทำเพื่อตัวเองได้เท่าไร ทำเพื่อพระศาสนาได้แค่ไหน สำรวจตัวเองให้เห็นชัดๆ
๔ ต่อไป ก็มองไปข้างหน้า แล้วถามตัวเองว่า ถ้าเราจะปกป้องพระพุทธศาสนา ถ้าเราจะอุปถัมภ์พระพุทธศาสนา เราควรจะต้องมีคุณสมบัติอะไรบ้าง และเราควรจะทำอะไรได้บ้าง
……………………
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสังคมนิติรัฐ-ซึ่งทุกอย่างจะต้องมีกฎหมายรองรับ ถ้าจะออกกฎหมายเพื่อพระพุทธศาสนาสักฉบับ เราควรจะไปทำอะไรก่อน เราควรจะไปยืนอยู่ตรงไหน จึงจะเป็นกำลังช่วยได้ ไม่ว่าจะทางตรงหรือทางอ้อมก็ตาม
……………………
เมื่อเห็นภาพชัดแล้ว จงลงมือทำทันที ไม่ต้องรอใคร
จะชักชวนใครด้วยก็ได้ ถ้าเชื่อว่างานระดับนี้ต้องทำเป็นทีม
แต่ไม่ต้องรอ
จะไปขอความช่วยเหลือจากใครบ้างก็ได้ ในหมู่พวกเราคนที่วิ่งเต้นติดต่อเก่ง เข้าเจ้าเข้านายเก่ง ก็มีมาก
แต่ไม่ต้องหวังว่าจะมีใครมาช่วย
เราคนเดียวนี่แหละทำไปตามที่เราคิดว่าควรทำ ตามกำลังความสามารถที่เรามีและที่เราจะพยายามพัฒนาให้มีขึ้นต่อไป
และอย่าพูดว่า “เราจะต้องร่วมมือกัน” – ถ้าตัวเองไม่คิดจะทำอะไรเลย
โปรดระลึกว่า เราล้มเหลวกันมานักต่อนักก็เพราะมัวแต่รอความร่วมมือ มัวแต่หวังว่าคนนั้นคนนี้จะทำ พวกนั้นพวกนี้จะทำ
ความล้มเหลวไม่ได้เกิดเพราะคนนั้นไม่ทำ หรือเพราะพวกนั้นไม่ทำ
ความล้มเหลวเกิดเพราะเรานี่เอง-ที่ไม่ทำ
เพราะเราคนเดียวนี่แหละ-ที่ไม่ทำ
……………………
วันนี้จะมีคนกลุ่มหนึ่งพูดว่า “ถึงวันนั้นกูก็ตายไปนานแล้ว ศาสนาไม่ใช่ของกูคนเดียว คนอื่นไม่เห็นมีใครทำอะไร แล้วเรื่องอะไรกูจะต้องเหนื่อยอยู่คนเดียว”
และเมื่อถึงวันนั้น-วันที่ประเทศไทยมีศาสนาอื่นเป็นศาสนาประจำชาติ จะมีคนกลุ่มหนึ่งยืนเต๊ะท่าพูดว่า “นั่นไง กูว่าแล้ว”
เลือกเอาเถิดว่าท่านจะเป็นคนกลุ่มไหน
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๔ พฤษภาคม ๒๕๖๒
๑๑:๒๒