บาลีวันละคำ

นิมนต์บุคลิก (บาลีวันละคำ 4,131)

นิมนต์บุคลิก

ความรู้เรื่องการจัดพระไปในกิจนิมนต์

อ่านว่า นิ-มน-บุก-คะ-ลิก

ประกอบด้วยคำว่า นิมนต์ + บุคลิก

(๑) “นิมนต์” 

เขียนแบบบาลีเป็น “นิมนฺต” อ่านว่า นิ-มัน-ตะ รากศัพท์มาจาก นิ (คำอุปสรรค = เข้า, ลง; ไม่มี, ออก) + มนฺตฺ (ธาตุ = ปรึกษา

ถึงตอนนี้ควรเรียนหลักภาษาเพิ่มเติมขึ้นไปอีกหน่อยว่า “นิ” คำอุปสรรคที่เติมลงข้างหน้าในคำว่า “นิมนฺต” นี้ ท่านเรียกว่า “อุปสรรคเบียนธาตุ” หมายความว่า ลงแล้วทำให้ความหมายของธาตุเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเล็กน้อย คือ “นิมนฺต” แปลว่า นิมนต์, เชื้อเชิญ (invite) 

อุปสรรคบางตัวท่านเรียกว่า “อุปสรรคสังหารธาตุ” เช่น “อา” = ทั่วไป, ยิ่ง, กลับความ เมื่อลงหน้าธาตุบางตัวก็ฆ่าความหมายของธาตุตัวนั้นให้ตายไป แล้วสร้างความหมายขึ้นมาใหม่ เช่น 

คมฺ ธาตุ “ไป” ลง อา เป็น “อาคม” ความหมายกลายเป็น “มา” 

ทา ธาตุ “ให้” ลง อา เป็น “อาทา” ความหมายกลายเป็น “เอา” 

แต่ “นิ” ในคำว่า “นิมนฺต” นี้ไม่ถึงกับสังหารธาตุ เป็นแต่เบียนธาตุ คือทำให้ความหมายเพี้ยนไปจากเดิม คือจาก “ปรึกษา” กลายเป็น “เชื้อเชิญ” ซึ่งอาจอธิบายแบบลากเข้าความว่า การเชื้อเชิญนั่นแหละคืออาการอย่างหนึ่งของการปรึกษา เช่นอาจเริ่มต้นปรึกษาว่า ข้าพเจ้าอยากจะให้ท่านไปทำกิจอย่างหนึ่ง ณ ที่โน้น ท่านจะเห็นเป็นประการใด – เช่นนี้ จะว่าปรึกษาหรือจะว่าเชื้อเชิญก็ฟังได้ทั้งสองอย่าง

นิมนฺต” ในบาลี เมื่อใช้ในประโยคข้อความ เปลี่ยนรูปไปตามหน้าที่ เช่น กริยาอาขยาตสามัญ เป็น “นิมนฺเตติ” แปลว่า “ย่อมเชื้อเชิญ” ลง ปัจจัย เป็น “นิมนฺติต” ลง ตฺวา ปัจจัย เป็น “นิมนฺเตตฺวา” ลง อนฺต ปัจจัยเป็น “นิมนฺเตนฺต” เป็นคำนาม ลง ยุ ปัจจัย (แปลง ยุ เป็น อน) เป็น “นิมนฺตน” 

ในภาษาไทย เอาคำว่า “นิมนฺต” มาใช้เป็น “นิมนต์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

นิมนต์ : (คำกริยา) เชิญ, เชื้อเชิญ, (ใช้แก่พระภิกษุและสามเณร). (ป. นิมนฺต; ส. นิมนฺตฺร).”

(๒) “บุคลิก” 

อ่านว่า บุก-คะ-ลิก บาลีเป็น “ปุคฺคลิก” ตัดมาจากคำเต็มว่า “ปาฏิปุคฺคลิก” อ่านว่า ปา-ติ-ปุก-คะ-ลิ-กะ แยกศัพท์เป็น ปาฏิ + ปุคฺคลิก 

(ก) “ปาฏิ” รูปคำเดิมเป็น “ปฏิ-” (ปะ-ติ) 

ความรู้เกี่ยวกับคำว่า “ปฏิ-” :

ปฏิ-” (ขีด – ข้างหลังหมายความว่าไม่ใช้ตามลำพัง แต่ใช้นำหน้าคำอื่นเสมอ) เป็นศัพท์จำพวกที่ภาษาไวยากรณ์เรียกว่า “อุปสรรค” 

นักเรียนบาลีท่องจำคำแปลกันมาว่า “ปฏิ : เฉพาะ ตอบ ทวน กลับ

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

ปฏิ– : คําอุปสรรคในภาษาบาลีใช้นําหน้าศัพท์อื่น แปลว่า เฉพาะ เช่น ปฏิทิน, ตอบ เช่น ปฏิพากย์, ทวน เช่น ปฏิโลม, กลับ เช่น ปฏิวัติ. (ป.; ส. ปฺรติ).”

พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ บอกความหมายของ “ปฏิ-” ว่า back (to), against, towards, in opposition to, opposite (กลับ, ตอบ, เฉพาะ, มุ่งไปยัง, ตรงกันข้าม, กลับกัน)

ปฏิ-” เมื่อประกอบกับคำว่า “ปุคฺคลิก” ทำกรรมวิธีทางไวยากรณ์โดยใช้สูตร “ทีฆะต้นศัพท์” คือ อะ ที่ -(ฏิ) เป็น อา 

ปฏิ– จึงกลายเป็น ปาฏิ

(ข) “ปุคฺคลิก” บาลีอ่านว่า ปุก-คะ-ลิ-กะ รากศัพท์มาจาก ปุคฺคล + อิก (อิ-กะ) ปัจจัย

ปุคฺคล” (ปุก-คะ-ละ) แปลตามรากศัพท์ได้หลายนัย คือ –

(1) “ผู้เคลื่อนไปสู่นรก” 

(2) “ผู้กินอาหารคือของบูดเน่า” 

(3) “ผู้กินอาหารที่ยังอายุของสัตว์ให้เต็มเป็นไป” (คือต้องกินจึงจะมีชีวิตอยู่ได้) 

(4) “ผู้ทำหมู่สัตว์โลกให้เต็มและเคลื่อนไปสู่ธรรมดาคือจุติและอุบัติ” (คือเกิดมาทำให้โลกเต็มแล้วก็ตาย)

ปุคฺคล” ในบาลีหมายถึง –

(1) ปัจเจกชน, บุคคล, คน (an individual, person, man) 

(2) สัตว์, สัตว์โลก (being, creature)

ปุคฺคล” ใช้ในภาษาไทยว่า “บุคคล” (อ่านว่า บุก-คน, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้ายอ่านว่า บุก-คะ-ละ-, บุก-คน-ละ-) 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) คนซึ่งสามารถมีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า บุคคลธรรมดา; กลุ่มบุคคลหรือองค์กรซึ่งกฎหมายบัญญัติให้เป็นบุคคลอีกประเภทหนึ่ง ที่ไม่ใช่บุคคลธรรมดา และให้มีสิทธิและหน้าที่ตามกฎหมาย เรียกว่า นิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้คำนิยามเหลือเพียง –

บุคคล, บุคคล– : (คำนาม) คน (เฉพาะตัว); (คำที่ใช้ในกฎหมาย) บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล. (ป. ปุคฺคล; ส. ปุทฺคล).”

ปุคฺคล + อิก = ปุคฺคลิก แปลตามศัพท์ว่า “เป็นของเฉพาะบุคคล” หมายถึง เป็นของบุคคลคนเดียว, เฉพาะคน, ต่างหาก (belonging to a single person, individual, separate)

ปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “บุคลิก” อ่านว่า บุก-คะ-ลิก, ถ้ามีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย อ่านว่า บุก-คะ-ลิก-กะ-

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –

บุคลิก, บุคลิก– : (คำวิเศษณ์) จําเพาะคน. (ป. ปุคฺคลิก).”

ปฏิ + ปุคฺคลิก = ปฏิปุคฺคลิก > ปาฏิปุคฺคลิก 

ปาฏิปุคฺคลิก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ปาฏิบุคลิก” 

พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า – 

ปาฏิบุคลิก : (คำแบบ) (คำวิเศษณ์) เฉพาะบุคคล, ไม่ทั่วไป. (ป. ปาฏิปุคฺคลิก).”

หมายเหตุ: คำว่า “คำแบบ” หมายถึง คำที่ใช้เฉพาะในหนังสือ ไม่ใช่คำพูดทั่วไป

ขยายความแทรก :

คำว่า “ปาฏิบุคลิก” เป็นศัพท์วิชาการ พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต สะกดตามบาลีเป็น “ปาฏิปุคคลิก” บอกความหมายไว้ว่า –

ปาฏิปุคคลิก : เฉพาะบุคคล, ไม่ทั่วไป, ถวายเป็นส่วนปาฏิปุคคลิก คือถวายเจาะจงบุคคลไม่ใช่ถวายแก่สงฆ์.”

ขยายความว่า “ปาฏิบุคลิก” ใช้ในการถวายทาน เรียกเต็มว่า “ปาฏิบุคลิกทาน” (ปา-ติ-บุก-คะ-ลิ-กะ-ทาน) คู่กับ “สังฆทาน” 

ปาฏิบุคลิกทาน = ถวายเจาะจงบุคคล ของที่ถวายตกเป็นของภิกษุที่รับถวายแต่เพียงรูปเดียว 

สังฆทาน = ถวายแก่สงฆ์ คือ ถวายเป็นกลางๆ ไม่จำเพาะเจาะจงภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง ของที่ถวายตกเป็นของสงฆ์ ถ้าเป็นลหุภัณฑ์ คือของใช้ประจำตัวหรือใช้หมดเปลือง แล้วแต่สงฆ์จะตกลงแบ่งแจกกัน ถ้าเป็นครุภัณฑ์ คือไม่ใช่ของใช้ประจำตัวโดยเฉพาะ ก็เก็บไว้เป็นของส่วนกลางเพื่อใช้เป็นส่วนรวม

ปาฏิบุคลิก” ในที่นี้ พูดตัดคำเหลือเพียง “บุคลิก” และเป็นที่เข้าใจกันว่าตัดมาจากคำเต็มว่า “ปาฏิบุคลิก

นิมนต์ + บุคลิก = นิมนต์บุคลิก เป็นคำประสมแบบไทย แปลจากหน้าไปหลัง คือแปลว่า “นิมนต์แบบบุคลิก

ขยายความ :

นิมนต์แบบบุคลิก” คือนิมนต์อย่างไร?

เมื่อชาวบ้านจัดการบำเพ็ญกุศลและมีการนิมนต์พระไปเจริญหรือสวดพุทธมนต์ในพิธี ระเบียบปฏิบัติที่อิงอาศัยหลักพระธรรมวินัยคือ วัดจะมอบหมายให้ภิกษุรูปหนึ่งทำหน้าที่จัดพระไปในกิจนิมนต์ ภิกษุที่ทำหน้าที่นี้เรียกตามภาษาวินัยว่า “ภัตตุเทศก์

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ที่คำว่า “ภัตตุทเทสกะ” ว่า –

…………..

ภัตตุทเทสกะ : ผู้แจกภัตต์, ภิกษุที่สงฆ์สมมติ คือแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่จัดแจกภัต, นิยมเขียน ภัตตุเทศก์, เป็นตำแหน่งหนึ่งในบรรดา เจ้าอธิการแห่งอาหาร 

…………..

พระภัตตุเทศก์จะมีบัญชีรายชื่อพระที่จำพรรษาในวัดนั้นทั้งหมดเรียงตามลำดับพรรษาหรือตามลำดับที่สงฆ์ในวัดนั้นเห็นชอบร่วมกัน เมื่อมีผู้มานิมนต์พระไปในงานกี่รูป ก็จะจัดไปตามลำดับในบัญชี

เช่น มีพระในบัญชี 25 รูป งานที่ 1 นิมนต์พระ 9 รูป ก็จัดพระลำดับที่ 1 ถึง 9 งานที่ 2 นิมนต์พระ 9 รูป ก็จัดลำดับที่ 10 ถึง 18 เรียงไปตามลำดับดังนี้ หมดลำดับแล้วก็เวียนไปขึ้นลำดับที่ 1 ใหม่

แต่บางงาน เจ้าภาพเจาะจงพระรูปใดรูปหนึ่งเป็นพิเศษ กรณีเช่นนี้ แม้พระรูปนั้นจะไม่อยู่ในลำดับที่จะถูกจัดไป ก็จะต้องจัดเข้าไปอยู่ในลำดับ เช่น นิมนต์พระ 9 รูป เจาะจงพระมหาทองย้อย 1 รูป สมมุติว่าพระที่จะถูกจัดคือลำดับที่ 1 ถึง 9 แต่พระมหาทองย้อยอยู่ในลำดับที่ 10 ยังไม่ถึงลำดับ แต่เนื่องจากเจ้าภาพเจาะจง ก็ต้องจัดพระมหาทองย้อยเข้าในจำนวน 9 รูป นั่นคือตัดลำดับที่ 9 ออกไปอยู่ในชุดที่จะได้รับนิมนต์ครั้งต่อไป

การนิมนต์เจาะจงเช่นนี้แหละเรียกว่า “นิมนต์บุคลิก” อย่างกรณีตามสมมุติก็เรียกรู้กันสั้นๆ ว่า “บุคลิกมหาทองย้อย”

ครั้นพอถึงการนิมนต์ครั้งต่อไป เช่นนิมนต์พระ 9 รูป พระที่จะถูกจัดไปคือพระลำดับที่ 9 ถึง 17 พระมหาทองย้อยอยู่ในลำดับที่ 10 ก็ต้องจัดเข้าลำดับด้วยตามปกติ จะเว้นเสียโดยอ้างว่าครั้งที่แล้วไปมาแล้ว ดังนี้ หาได้ไม่ เพราะครั้งที่แล้วเป็นการนิมนต์บุคลิก แต่ครั้งนี้เป็นสิทธิ์ตามลำดับที่มาถึงเข้า

นี่เป็นธรรมเนียมจัดลำดับพระไปในกิจนิมนต์ตามหลักพระวินัยอย่างหนึ่งที่ชาวบ้านควรรู้

…………..

ดูก่อนภราดา!

: ศึกษาหลักพระธรรมวินัย

: คือหัวใจของการรักษาพระศาสนา

#บาลีวันละคำ (4,131)

4-10-66 

…………………………….

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

…………………………….

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *