บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

ก็แค่สัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง

ก็แค่สัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง

———————-

เมื่อวันจันทร์ก่อนผมมีกิจต้องเข้ากรุงเทพฯ 

ขับรถจากราชบุรีไปจอดที่ทำงานเก่าที่ศาลายา แล้วก็ขึ้นรถเมล์สาย ๕๑๕ ต่อไป 

ป้ายที่ผมขึ้นเป็นช่วงต้นทาง คนว่าง มีที่นั่งสบาย 

รถเมล์ปรับอากาศสายนี้ (เข้าใจว่าน่าจะทุกสาย) ที่นั่งใกล้กับประตูหน้าเป็นที่นั่งสำรองสำหรับพระภิกษุ ที่นั่งหลังคนขับเป็นที่นั่งสำรองสำหรับผู้สูงอายุ 

“สำรอง” แปลว่า สิ่งที่เตรียมเผื่อไว้ 

พระขึ้น จะได้มีที่นั่ง

คนแก่ขึ้น ก็จะได้มีที่นั่ง

ถ้าไม่มีพระขึ้น ไม่มีคนแก่ขึ้น ใครจะนั่งก็ได้

ถ้ามีพระขึ้น คนแก่ขึ้น ต้องลุก

รถเมล์ธรรมดาในกรุงเทพฯ สมัยก่อน ที่นั่งแถวหลังสุดเป็นที่นั่งสำหรับพระภิกษุสามเณร แม้ไม่มีป้ายติดไว้ก็เป็นที่รู้ทั่วกัน พระภิกษุสามเณรขึ้นรถเมล์จะต้องนั่งเบาะหลังเท่านั้น นั่งที่อื่นไม่ได้ ใครนั่งเบาะหลัง ถ้ามีพระภิกษุสามเณรขึ้น ต้องลุกให้ท่านนั่ง 

ทำไมจึงต้องมีที่นั่งสำรองไว้ให้พระภิกษุสามเณร? 

ต้องนึกไปให้ถึงแนวคิดของผู้บริหารรถเมล์หรือผู้มีอำนาจในการกำหนดให้มีที่นั่งสำรอง 

แนวคิดนี้มาจากสังคมไทยให้ความเคารพนับถือพระสงฆ์สามเณร 

………………..

ทำไมสังคมไทยจึงให้ความเคารพนับถือพระสงฆ์สามเณร? 

ก็ต้องศึกษาให้รู้เข้าใจถึงเป้าหมายของการบวชในพระพุทธศาสนา 

ทำนองเดียวกับการทำบุญให้ทาน ว่าตามหลักก็จัดอยู่ในกลุ่ม “ทานมัย” แปลเป็นไทยว่า บุญที่สำเร็จด้วยการให้ 

ให้คนขอทาน ก็เป็นทานมัย

ให้พระสงฆ์สามเณร ก็เป็นทานมัย 

แต่ทำไมคนไทยนิยมใส่บาตรแก่พระสงฆ์สามเณรกันทุกเช้า

ทำไมไม่นิยมให้อาหารแก่คนขอทานกันทุกเช้า-เหมือนใส่บาตร

——————–

ถึงตรงนี้ควรแวะศึกษารากเหง้าเค้าเดิมของการใส่บาตรให้รู้ว่าชาวพุทธใส่บาตรกันทำไม

พระพุทธศาสนามีเป้าหมายอยู่ที่-ให้มนุษย์ปฏิบัติขัดเกลาตนเองจนพ้นจากทุกข์

ทุกข์ที่เป็นรากเหง้าของทุกข์ทั้งปวงก็คือวัฏทุกข์ แปลว่า ทุกข์คือการเวียนตายเวียนเกิด

เพราะเวียนตายเวียนเกิด ทุกข์อื่นๆ จึงเกิดมีตามมา

ถ้าปฏิบัติขัดเกลาจิตจนพ้นจากกิเลสทั้งปวงก็จะไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด

เมื่อไม่ต้องเวียนตายเวียนเกิด ก็ไม่ต้องทุกข์ คือทุกข์อะไรๆ ก็เกิดมีแก่ผู้นั้นไม่ได้

คนที่เห็นภัยในวัฏทุกข์ก็จึงตั้งเป้าหมายแห่งชีวิตว่าจะต้องปฏิบัติขัดเกลาตนเองตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้า

การปฏิบัติขัดเกลาตนเองตามแนวทางคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ถ้ายังอยู่ครองเรือนก็ทำได้ยาก คนพวกนี้ก็จึงสละบ้านเรือนครอบครัวออกบวช

นี่คือเหตุผลที่ถูกต้องแท้จริงของการบวชในพระพุทธศาสนา 

ใครออกบวชได้ คนที่มีความเห็นเป็นสัมมาทิฐิตรงกันก็พลอยชื่นชม 

อุปมาเหมือนคนสมัครเป็นทหารออกรบ คนที่ยังไม่พร้อมจะไปรบก็พลอยชื่นชม สนับสนุนด้วยวิธีการต่างๆ

พูดให้เห็นภาพก็ว่า-ใครออกบวชได้คนหนึ่งก็เฮกันลั่น พรั่งพรูกันสนับสนุนด้วยปัจจัยสี่

ถอดเป็นคำพูดก็เหมือนกับพูดว่า อย่าเป็นห่วงเรื่องทำมาหากินเลย ชาวบ้านจะเลี้ยงเอง ตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติไปให้เต็มที่เถิด ไปให้ถึงฝั่งให้ได้นะ

พระพุทธเจ้าจึงทรงบัญญัติพระวินัยให้พระออกบิณฑบาตหากินวันต่อวัน ไม่ให้เก็บสะสมอาหาร ทั้งนี้เพื่อให้ปลอดกังวล เสียเวลากับเรื่องกินให้น้อยที่สุด เพื่อจะได้มีเวลาปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้ได้มากขึ้น

ชาวบ้านใส่บาตรให้พระก็ด้วยจุดประสงค์นี้ คือสนับสนุนให้พระมีกำลังปฏิบัติขัดเกลาตนเองให้บรรลุถึงความพ้นทุกข์

ส่วนการใส่บาตรเพื่ออุทิศส่วนบุญให้ผู้ล่วงลับไปแล้ว เช่นที่พูดกันว่าใส่บาตรให้พ่อใส่บาตรให้แม่ พึงทราบว่านั่นเป็นผลพลอยได้ ไม่ใช่ผลที่ประสงค์ ทำบุญอะไรก็อุทิศให้พ่อแม่ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่อุทิศได้เฉพาะทำบุญใส่บาตร

เมื่อรู้รากเหง้าของการใส่บาตรเช่นนี้แล้ว มองตามไปก็จะเห็นได้ว่า ข้าวปลาอาหารที่ญาติโยมใส่บาตรมานั้นเขามีเจตนาจะให้พระฉันเพื่อให้มีกำลังศึกษาปฏิบัติธรรม

ที่คนไทยนิยมใส่บาตรแก่พระสงฆ์สามเณรกันทุกเช้า เคารพนับถือพระสงฆ์สามเณร จนถึงกับสำรองที่นั่งไว้บนรถโดยสารประจำทางเป็นต้น ก็มีเหตุผลอันเป็นรากเหง้าดังว่ามานี้

——————–

ถ้าตอบปัญหานี้ไม่ได้ หรือตอบไม่ตรงกับเหตุผลที่แท้จริง การที่นิยมใส่บาตรก็ดี ปฏิบัติต่อท่านเสมือนว่าเป็นการให้อภิสิทธิ์ก็ดี ก็ถือว่าเลื่อนลอย คือทำโดยไม่รู้เหตุผลที่ถูกต้อง

ทำไมสังคมไทยจึงให้ความเคารพนับถือพระสงฆ์สามเณร – ต้องหาคำตอบที่ถูกต้อง อย่าคิดเอาเอง เข้าใจเอาเอง 

หาไม่แล้ว เราก็จะพากันหลงทาง คือมองการบวชในพระพุทธศาสนาคลาดเคลื่อนไปจากเป้าหมายที่ถูกต้อง 

เหมือนกับที่ในช่วงเวลานี้มีการบวชสามเณรภาคฤดูร้อนกันทั่วไป คนส่วนหนึ่ง-ซึ่งกำลังจะกลายเป็นคนส่วนมาก-มองเห็นสามเณรตัวเล็กๆ เป็นสิ่งที่น่ารักน่าเอ็นดู 

แล้วก็เลยเข้าใจไปว่า บวชเณรก็เพื่อให้มีสามเณรองค์เล็กๆ เอาไว้ให้ชื่นใจ-ดูน่ารักดี เท่านั้น

หาได้ตระหนักไปถึงการอบรมสั่งสอนฝึกหัดขัดเกลาอันเป็นหัวใจของการบวชไม่ 

จนเวลานี้เริ่มจะพูดกันมากขึ้นทุกทีว่า เณรก็คือเด็ก จะเอาอะไรกันนักหนา

“จะเอาอะไรกันนักหนา” เป็นคำพูดที่อันตรายมาก เพราะทำให้ประมาท และทำให้คนเห็นด้วยกับความประมาทนั้น ไม่เห็นภัยของการปล่อยปละละเลย

พร้อมกันนั้นก็เห็นการอบรมสั่งสอนฝึกหัดขัดเกลาเป็นเรื่องเกินจำเป็น เกินความสามารถที่จะทำได้ ก็จึงไม่ตั้งใจทำ และในที่สุดก็ไม่คิดจะทำ

และนั่นคือการทำให้คุณค่าของการเป็นพระสงฆ์สามเณรลดลงไปเรื่อยๆ 

………………..

ขอบคุณแทนพระภิกษุสามเณรที่ ณ เวลานี้สังคมยังคิดถึงและยังเห็นคุณค่าของท่านอยู่ 

แต่ในอนาคต ไม่แน่ 

………………..

วันนั้นคนแน่นมาก พอข้ามสะพานกรุงธนไปถึง ม.สวนดุสิต คนลงกันเยอะ คนที่ยังไม่ลงก็หาที่ว่างนั่ง แต่คนที่ยืนก็ยังมี 

ที่นั่งสำรองพระภิกษุมีคนนั่งอยู่ก่อนแล้ว พอคนนั้นลง สุภาพสตรีคนหนึ่งก็เข้าไปนั่งแทน 

พอดีว่าป้ายนั้นมีพระรูปหนึ่งรอขึ้นรถ 

สุภาพสตรีที่เข้าไปนั่งแทน พอนั่งเรียบร้อย เหลือบไปเห็นพระยืนรอขึ้น เธอก็รีบลุกขึ้นแล้วเดินหลบไปทางอื่น 

สุภาพสตรีอีกคนหนึ่งซึ่งกำลังรอที่นั่งวางอยู่เหมือนกัน พอเห็นคนลุกไปก็เข้าไปนั่งแทน 

ตอนนั้นคนลงหมดแล้ว พระรูปนั้นก็ก้าวขึ้นมาบนรถ 

สุภาพสตรีที่เข้าไปนั่งแทนเป็นคนที่สองรีบลุกขึ้นทันทีเช่นเดียวกัน 

ผมนึกขอบคุณสุภาพสตรีทั้งสองคนนั้นอยู่ในใจ 

ที่ใช้คำว่า “ขอบคุณ” ก็เพราะ-สมัยนี้เราไม่อาจคาดหวังได้ว่ายังจะมีใครมองเห็นพระกันอยู่อีกหรือไม่ 

ใจจริงเธออาจจะไม่อยากลุก แต่เพราะติดด้วยกติกาสังคม จึงจำใจต้องลุก 

แต่ถึงกระนั้น ผมก็ยังต้องขอบคุณเธอทั้งสองอยู่นั่นเอง-ที่เธอยังมีใจเคารพกติกาสังคม-อันเป็นกติกาที่เกี่ยวกับพระสงฆ์ 

ผมเคยเจอ ที่นั่งสำรองพระภิกษุมีคนนั่งอยู่ มีพระภิกษุรอจะขึ้น ครั้นท่านเห็นมีคนนั่ง ท่านก็ไม่กล้าขึ้น คนที่นั่งก็นั่งอย่างที่เรียกว่า “ทองไม่รู้ร้อน” 

ผมเคยนั่งถัดจากที่นั่งสำรองพระภิกษุ แล้วก็มีคนเข้าไปนั่งที่นั่งสำรองนั้น กรณีอย่างนี้ผมตั้งใจไว้ว่า ถ้ามีพระภิกษุขึ้น แล้วมนุษย์ผู้นั้นนั่งเป็นทองไม่รู้ร้อน ผมจะบอกให้เขาลุกมานั่งที่นั่งผมเพื่อให้พระท่านได้นั่งตามสิทธิ์ของท่าน ผมยินดียืน ทั้งๆ ที่อายุมากแล้วนี่แหละ 

ยังไม่เคยเกิดกรณีเช่นว่าครับ 

——————–

จำกันได้ไหมครับ ทางสื่อออนไลน์นี้แหละเคยมีสุภาพสตรีท่านหนึ่งเขียนความคิดเห็นเกี่ยวกับพระภิกษุ ซึ่งประมวลความแล้วก็คือจะบอกว่า พระก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น 

“พระก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น” 

อ่านว่า “พระก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น” 

แปลว่า “พระก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น” 

ญาติมิตรฟังแล้วคิดอย่างไร?

…………………..

ถ้าไม่รีบจัดกระบวนความคิดให้เป็นระเบียบ ไม่รับรู้ถึงวัฒนธรรม ประเพณี ค่านิยมของสังคม สถานะของพระพุทธศาสนาในสังคมไทย ตลอดจนศรัทธาอันมีต่อพระสงฆ์สามเณร – 

ถ้าไม่ทำความเข้าใจเรื่องเหล่านี้ให้ดี ให้ถูกต้อง คำสรุปที่ว่า “พระก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น” จะมีคนเห็นด้วยมากขึ้น 

นั่นคือผู้คนจะมองพระสงฆ์สามเณรเท่ากับคนธรรมดาคนหนึ่ง 

และยิ่งถ้าพระสงฆ์สามเณรในปัจจุบันทำอะไรต่อมิอะไรเหมือนชาวบ้านเขาทำกันมากขึ้น-ดังคำที่ว่า “สมณวิสัย” ใกล้ไปทาง “ฆราวาสวิสัย” มากขึ้น พระพุทธศาสนาในบ้านเราจะยิ่งสั่นคลอน

ต่อจาก “พระคือผู้ชายธรรมดาที่ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ” แนวความคิดอาจขยายวงกว้างออกไปอีก 

การปฏิบัติต่อกันด้วยความเคารพนับถือ เลื่อมใสเพราะเห็นคุณค่า ถูกตีราคาเท่ากับการให้อภิสิทธิ์ 

นั่นคือเราแยกแยะความแตกต่างไม่ออก 

สุภาพสตรีที่ประกาศว่า “พระก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น” นั้น ถ้าคุณพ่อของเธอยังอยู่ เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่า วันหนึ่งเธอจะไม่ลุกขึ้นมาประกาศว่า 

“พ่อก็คือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ ทั้งสิ้น”

……………………

จะเป็นอย่างไรถ้าต่อไป ลูกๆ ทั้งหลายพากันคิดว่า “พ่อคือผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งที่ไม่ควรจะได้รับอภิสิทธิ์ใดๆ”

แล้วถ้าแนวคิดนี้ยังเบรกไม่หยุด จะเป็นอย่างไร-ถ้าต่อไปคนจะมองเห็นคนทุกคนเป็นแค่ “สัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง” แล้วปฏิบัติต่อกันเหมือนกับที่สัตว์ต่อสัตว์ปฏิบัติต่อกัน 

ไม่รับรู้ว่าใครเป็นใคร

ชอบกันก็สมสู่กันไม่เลือกหน้า

โกรธกันก็กัดกันไม่เลือกหน้า

หิวก็แย่งกันกินไม่เลือกหน้า

อยากได้ก็แย่งเอาไม่เลือกหน้า 

ถ้าเรามองไม่เห็นคุณค่าของความเคารพนับถือ

ในอนาคต เราก็จะเป็นแค่สัตว์ธรรมดาตัวหนึ่ง 

นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย

๑๐ เมษายน ๒๕๖๒

๑๘:๑๙

——–

ความคิดเห็นท้ายโพสต์

อกาลิโก แปลว่าไม่ประกอบด้วยกาล 

เรื่องพระขึ้นรถนี่ผมไม่เห็นด้วยเลย เพราะเป็นการส่งเสริมให้ทำลายพระพุทธศาสนา ซึ่งตามพระวินัย ถ้าภิกษุไม่อาพาธนั้นห้ามขึ้นยานหรือรถเด็ดขาด แม้แต่อาพาธถ้าพอเดินได้ก็ให้เดิน 

ความเสื่อมมันมาถึงขนาดซ้อนขึ้นอีกชั้นว่า รถโดยสารต้องมีที่นั่งสำกรับพระ ใครไม่ลุกก็มีความผิด แต่ความจริงที่ผิดเต็มๆน่ะพระนั่นเอง คนโดยสารไม่ลุกให้สมควรแล้ว เพราะพระไม่ควรขึ้นตั้งแต่ทีแรก

การที่คนขาดการศึกษาโดยแยบคายจึงสร้างที่นั่งบนรถสำหรับพระ นี่ก็เป็นการหวัลดีาี่อันตรายต่อพระศาสนาคล้ายๆกับหวังดีแต่ทำลายเหมือนเอาเงินให้พระใช้

ส่วนใครจะคัดค้านว่าสมัยพุทธกาลไม่มีรถ ก็จอมห้ไปศึกษาให้ลึกซึ้ง อย่าว่าแต่รถเลย สมัยพุทธกาลมีเครื่องบินด้วยซ้ำไปครับ

และถ้าจะค้านอีก ก็จะยกข้อรับรองของวัดญาณเวศกวัณ ที่ท่านเจ้าคุณสมเด็จพุทธโฆษาจารย์มาแสดงเพื่อรับประกันว่าที่กล่าวมาทั้งหมดถูกต้องดีแล้ว

เมื่อเร็วๆนี้จีนค้นพบท่อเหล็กอายุ 150,000 ปี นั่นแสดงว่า สังคมมนุษย์มันล่มสลายและเริ่มต้นใหม่ทาไม่รู้กี่รอบหลังจากสิ้นพระพุทธเจ้าอวค์ที่ 3

ขอขอบคุณครูมากครับที่ทำให้ผมได้แสดงความจริงเพื่อความมั่นคงในพระพุทธศาสนา

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *