ดิลก (บาลีวันละคำ 4,138)
ดิลก
รอยเจิมที่หน้าผาก
อ่านว่า ดิ-หฺลก
“ดิลก” บาลีเป็น “ติลก” (ภาษาไทย ด เด็ก บาลี ต เต่า) อ่านว่า ติ-ละ-กะ รากศัพท์มาจาก –
(1) ติลฺ (ธาตุ = ไป, เป็นไป) + ณฺวุ ปัจจัย, แปลง ณฺวุ เป็น อก (อะ-กะ)
: ติลฺ + ณฺวุ = ติลณฺวุ > ติลก แปลตามศัพท์ว่า “รอยเจิมที่เป็นไป”
(2) ติล (เมล็ดงา) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ + ก สกรรถ (กะ-สะ-กัด)
: ติล + ณ = ติลณ > ติล + ก = ติลก แปลตามศัพท์ว่า “รอยเจิมที่เกิดขึ้นมีสัณฐานเหมือนเมล็ดงา”
“ติลก” (ปุงลิงค์) หมายถึง จุด, รอยเปื้อน, ไฝ, กระบนผิวหน้า (a spot, stain, mole, freckle)
บาลี “ติลก” สันสกฤตก็เป็น “ติลก”
สํสกฤต-ไท-อังกฤษ อภิธาน บอกไว้ดังนี้ –
(สะกดตามต้นฉบับ)
“ติลก : (คำวิเศษณ์) มีจุด, มีไฝตามตัว; spotted, freckled, having spots or moles on the body; – (คำนาม) บุทคลผู้มีไฝตามตัว; รอยเจิมที่แสกหน้าและหน้าผาก; a person having spots or moles on the body; a mark or marks made with coloured earths or unguents between the eye-brows and upon the forehead.”
บาลี “ติลก” ใช้ในภาษาไทยเป็น “ดิลก” (บาลี ต เต่า ภาษาไทย ด เด็ก)
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2542 บอกไว้ว่า –
“ดิลก : (คำนาม) รอยแต้มหรือเจิมที่หน้าผากเพื่อเป็นมงคล, เลิศ, ยอด, เฉลิม. (ป., ส. ติลก ว่า ไฝ, รอยตกกระที่ผิวหนัง).”
ต่อมา พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 ปรับแก้ใหม่เป็นดังนี้ –
“ดิลก : (คำวิเศษณ์) เลิศ, ยอด, เฉลิม, เช่น มหาดิลกภพนพรัตน์. (ป., ส. ติลก ว่า รอยแต้มหรือเจิมที่หน้าผากเพื่อเป็นมงคล).”
โปรดสังเกตว่า พจนานุกรมฯ ฉบับ 2542 บอกว่า “ดิลก” เป็นคำนาม แต่พจนานุกรมฯ ฉบับ 2554 บอกว่า “ดิลก” เป็นคำวิเศษณ์
แถม :
คำว่า “ติลก = ดิลก” มีในพระคาถาชินบัญชรบทหนึ่งว่าดังนี้ –
…………..
ปุณฺโณ องฺคุลิมาโล จ
อุปาลินนฺทสีวลี
เถรา ปญฺจ อิเม ชาตา
นลาเต ติลกา มม.
(ปุณโณ อังคุลิมาโล จะ
อุปาลินันทะสีวะลี
เถรา ปัญจะ อิเม ชาตา
นะลาเต ติละกา มะมะ.)
ขอเชิญพระปุณณะ พระองคุลิมาล พระอุบาลี
พระนันทะแลพระสีวลี
พระเถระทั้งห้าองค์นี้จงปรากฏเกิด-
เป็นดิลกรอยเจิมที่หน้าผากของข้าพเจ้า
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เอาดิลกเจิมดวงหน้าเห็นถนัด
: อย่าลืมอัญเชิญคุณพระไตรรัตน์เจิมดวงใจ
#บาลีวันละคำ (4,138)
11-10-66
…………………………….
…………………………….