บทความเกี่ยวกับศาสนา-ภาษา-สังคม

การไม่กินเนื้อสัตว์กับวิธีให้เหตุผล

การไม่กินเนื้อสัตว์กับวิธีให้เหตุผล

——————————–

เรื่องที่จะเขียนต่อไปนี้เกี่ยวกับค่านิยมหรือหลักปฏิบัติของคนไม่กินเนื้อสัตว์ จะเรียกว่ามังสวิรัติ กินเจ หรือจะเรียกอย่างไร ก็แล้วแต่จะเรียก แต่หมายถึงคนไม่กินอาหารที่เป็นเนื้อสัตว์

ขอบอกไว้เลยนะครับว่า เรื่องนี้ไม่ใช่จะมาวิจารณ์ว่าไม่กินเนื้อสัตว์ดีหรือไม่ดี กินเนื้อสัตว์ดีหรือไม่ดี พูดกันตรงๆ ไม่มีปัญหากับคนกินเนื้อสัตว์หรือไม่กินเนื้อสัตว์ 

ใครกินเนื้อสัตว์ก็กินต่อไป ตามสบาย ไม่ได้ไปตำหนิติเตียน

ใครไม่กินเนื้อสัตว์ก็ไม่กินต่อไป ตามสบาย ไม่ได้ไปกระแหนะกระแหน

จะขอชวนให้พิจารณาเฉพาะ “เหตุผลที่อ้าง” ในการชื่นชมการไม่กินเนื้อสัตว์ และในการตำหนิติเตียนการกินเนื้อสัตว์เท่านั้น

ที่ยกเรื่องนี้ขึ้นมาชวนคิดก็เพราะผมรู้สึกว่า เหตุผลบางข้อฟังดูทะแม่งๆ

……………………………………………..

“ทะแม่งๆ” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “มีลักษณะลับลมคมในหรือมีอะไรเคลือบแฝงอยู่ทําให้น่าสงสัย”

……………………………………………..

เช่น การไม่กินเนื้อสัตว์แสดงถึงมีเมตตา

ในทางตรงกันข้าม การกินเนื้อสัตว์ ก็ถูกมองว่า ขาดเมตตา มองว่าเป็นยักษ์เป็นมารไปโน่นเลยก็มี

การไม่กินเนื้อสัตว์เป็นการช่วยให้สัตว์ไม่ตาย เคยเห็นคำยกย่องว่า “หนึ่งชีวิตไม่กิน หมื่นชีวิตรอด” – แบบนี้ก็มี 

คำว่า “เมตตา” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๕๔ บอกความหมายว่า “ความรักและเอ็นดู, ความปรารถนาจะให้ผู้อื่นได้สุข, เป็นข้อ ๑ ในพรหมวิหาร ๔ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา”

พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต บอกไว้ว่า “เมตตา” คือ ความรัก, ความปรารถนาให้เขามีความสุข, แผ่ไมตรีจิตคิดจะให้สัตว์ทั้งปวงเป็นสุขทั่วหน้า”

จะเห็นได้ว่า “เมตตา” คือการตั้งอารมณ์ให้สรรพชีวิตเป็นสุขทั่วหน้า เมตตาเป็นงานทางใจ และที่สำคัญ เงื่อนไขของเมตตาไม่ได้อยู่ที่-ต้องไม่กินเนื้อสัตว์จึงจะมีเมตตาได้ หรือคนที่กินเนื้อสัตว์มีเมตตาไม่ได้

เพราะเอาเมตตาไปผูกเข้ากับการไม่กินเนื้อสัตว์ คนไม่กินเนื้อสัตว์ก็เลยเข้าใจว่า แค่ไม่กินเนื้อสัตว์ก็เท่ากับมีเมตตาแล้ว โดยไม่คำนึงว่าได้ตั้งอารมณ์ให้สรรพสัตว์เป็นสุขทั่วหน้า-ตามความหมายของเมตตา-ด้วยหรือเปล่า 

ความหมายของเมตตาก็เลยคลาดเคลื่อน

คำว่า “เมตตา” มีความหมายอย่างเดียวกับมิตร ไมตรี ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เมตตาก็คือการมองสรรพชีวิตด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” 

มองกันแค่นี้ คนส่วนมากก็ทำไม่ได้แล้ว ทำได้ก็ยากมาก เหตุผลก็คือ-คนส่วนมากเป็นคนที่เราไม่รู้จัก ก็เมื่อเราไม่รู้จัก จะไปคิดว่าเขาเป็นเพื่อนรักของเราได้อย่างไร ใช่หรือไม่ 

แม้ในจำนวนคนที่เรารู้จักนั่นเอง ต้องเป็นคนที่เรารัก เราจึงจะคิดว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” คนที่เรารู้สึกเฉยๆ ไม่รัก หรือบางคนเราเกลียดด้วยซ้ำ คนแบบนี้เราก็คิดไม่ได้ว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ใช่หรือไม่

จะเห็นได้ว่า เนื้อตัวแท้ๆ ของเมตตาอยู่ที่-ตั้งอารมณ์มองสรรพชีวิตด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” ทำอารมณ์แบบนี้ได้จริงจนเป็นพื้นอารมณ์ เป็นพื้นของจิตใจ เป็นนิสัยหรือถึงกับเป็นสันดานคือฝังรากลึกลงไปในชีวิตจิตใจ นี่คือมีเมตตา 

ไม่ได้เกี่ยวกับใครกินอะไรหรือไม่กินอะไรแต่ประการใดเลย ใช่หรือไม่

………………

คราวนี้มามองในแง่-ช่วยให้รอดชีวิต ตามคำแสดงอานิสงส์ที่ว่า “หนึ่งชีวิตไม่กิน หมื่นชีวิตรอด”

การที่สัตว์จะรอดชีวิต-ถ้าไม่ตายตามอายุขัย-ก็คือ การไม่ถูกทำให้ตาย จะทำให้ด้วยสาเหตุใดๆ ก็ตาม ถ้าสัตว์ไม่ถูกทำให้ตาย สัตว์ก็รอดชีวิต

แต่ที่กำลังเพ่งเล็งในกรณีกินหรือไม่กินเนื้อสัตว์ ก็คือตายด้วยการถูกฆ่า พูดสั้นๆ ตรงๆ – หมื่นชีวิตจะรอด เหตุผลตรงที่สุดก็คือ-เพราะไม่ถูกฆ่า ไม่ใช่เพราะคนไม่กินเนื้อสัตว์

เหตุผลที่เห็นได้ง่ายๆ-แต่มักจะถูกมองข้าม-ก็คือ สัตว์ไม่ได้ถูกฆ่าเพราะจะเอามากินอย่างเดียว แต่ถูกฆ่าเพราะวัตถุประสงค์อื่นๆ อีกสารพัด จะว่าไปแล้ว ถูกฆ่าเพราะเรื่องกินน้อยกว่าถูกฆ่าเพราะเรื่องอื่น 

…………………………………………….

เมื่อมองข้อเท็จจริงที่ว่า สัตว์ไม่ได้ถูกฆ่าเพื่อกินอย่างเดียว แต่ถูกฆ่าอีกสารพัดเหตุ ก็จะไม่ต้องมาตั้งข้อสงสัยหรือข้อตำหนิว่า ห้ามฆ่า แต่ทำไมไม่ห้ามกิน 

หรือตั้งประเด็นว่า การไม่ห้ามกินเนื้อสัตว์ย่อมขัดแย้งกับการห้ามฆ่าสัตว์

หรือสรุปเอาเองว่า เพราะมีคำสอนห้ามฆ่า พระพุทธศาสนาที่ถูกต้องจึงต้องห้ามกินเนื้อสัตว์ด้วย

ถ้าอ้างเหตุผลเช่นนั้น ก็จะไม่ใช่เฉพาะเรื่องกินเนื้อสัตว์อย่างเดียวที่ต้องห้าม แต่จะต้องห้ามเรื่องอื่นๆ อีกมากมาย 

ผ้าไหม 

ผ้าขนสัตว์ 

พรมขนสัตว์ 

ของใช้ที่ทำด้วยหนังสัตว์ 

ยาและเวชภัณฑ์ที่ใช้ผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นส่วนผสม

ฯลฯ

ปัจจัยสี่รอบตัวมนุษย์มีอะไรอีก ลองช่วยกันทำบัญชีรายการดูเถิด

สิ่งเหล่านี้ พระพุทธศาสนาจะต้องห้ามใช้ทั้งหมด จึงจะถูกต้อง ใช่หรือไม่

…………………………………………….

อย่างไรก็ตาม ไม่ถูกฆ่าเพราะเรื่องกิน ก็ยังต้องนับว่าดี ไม่ใช่ไม่ดี แต่เมื่อยกเอา “หมื่นชีวิตรอด” ขึ้นมาเป็นเหตุผล วิธีที่ตรงที่สุดก็คือ “ไม่ฆ่า” ไม่ใช่ “ไม่กิน” 

ไม่ฆ่า รอดแน่ 

ไม่กิน ไม่แน่ว่าจะรอด 

เพราะถึงจะไม่ตายเพราะถูกฆ่ากิน ก็อาจจะต้องถูกฆ่าเพราะเหตุอื่นๆ อีกสารพัด

ไม่กิน รอดได้หยิบมือเดียว เฉพาะส่วนที่จะถูกฆ่าเอามากิน

ไม่ฆ่า รอดได้ทั้งหมด

เพราะฉะนั้น ถ้าปรารถนาจะให้หมื่นชีวิตรอด ต้องพุ่งเป้าไปที่-ไม่ฆ่า ช่วยกันรณรงค์ไม่ให้มีการฆ่า ไม่ว่าจะฆ่าเพื่อ-หรือเพราะ-เหตุใดๆ ทั้งสิ้น ทำได้อย่างนี้ ไม่ใช่แค่หมื่นชีวิตรอด และไม่ใช่รอดเฉพาะชีวิตที่เอามากินได้ แม้ชีวิตที่กินไม่ได้ก็รอด คือสรรพชีวิตรอดได้ทั้งหมด

………………

และถ้าตามไปดูการฆ่าเพื่อเอามากิน จะเห็นว่าปัจจุบันนี้เป้าใหญ่ที่สุดก็คือมีการเลี้ยงเพื่อฆ่า ทำกันอย่างเป็นอุตสาหกรรม 

อาจกล่าวได้ว่า เนื้อสัตว์ส่วนมากที่สุดที่เรากินกันในชีวิตประจำวันมาจากสัตว์ที่เลี้ยงเพื่อฆ่า

เพราะฉะนั้น ถ้าจะตัดรากถอนโคนกันจริงๆ จะต้องห้ามเลี้ยงด้วย เพราะมีการเลี้ยงจึงมีการฆ่า-สูตรเดียวกับที่ชอบอ้างกันว่า เพราะมีคนกินจึงมีคนฆ่า

ห้ามเลี้ยง-กลายเป็นเรื่องใหญ่ระดับโลกทันที ใครล่ะจะห้ามได้?

………………

เพราะฉะนั้น ขอสรุปว่า 

(๑) ถ้ามุ่งจะให้มีเมตตา จงฝึกฝนตั้งอารมณ์มองสรรพชีวิตด้วยความรู้สึกว่า “นี่คือเพื่อนรักของเรา” จนเป็นความรู้สึกจริงใจ ไม่ใช่เพียงท่อง-สัพเพ สัตตา …

ไม่เกี่ยวกับ-ต้องไม่กินอะไรหรือต้องกินอะไร

(๒) ถ้ามุ่งจะให้สรรพชีวิตรอด จงช่วยกันเรียกร้องรณรงค์ให้เลิกฆ่า ไม่ว่าจะฆ่าเพื่ออะไร – ไม่ใช่เพ่งอยู่แต่เรื่องฆ่าเพื่อกิน 

ใครจะกินอะไรหรือไม่กินอะไร ก็ยังคงกินได้ตามอัธยาศัย

ย้ำนะครับ – เขียนเพื่อชวนให้คิดเท่านั้น

กรุณาอย่ามาทะเลาะกับผม

พลเรือตรี ทองย้อย แสงสินชัย

๑๓ มกราคม ๒๕๖๖

๑๗:๓๐

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *