อังคุตรนิกาย (บาลีวันละคำ 4,142)
อังคุตรนิกาย
หมวดที่รวมพระสูตรเรียงลำดับตามจำนวนหัวข้อธรรม
…………..
พระไตรปิฎกมี 3 ส่วน คือ พระวินัยปิฎก พระสุตตันตปิฎก พระอภิธรรมปิฎก
พระสุตตันตปิฎกแบ่งเป็น 5 หมวด เรียกว่า “นิกาย” คือ –
(สะกดตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554)
(1) ทีฆนิกาย
(2) มัชฌิมนิกาย
(3) สังยุตนิกาย
(4) อังคุตรนิกาย
(5) ขุทกนิกาย
…………..
“อังคุตรนิกาย” อ่านว่า อัง-คุด-ตะ-ระ-นิ-กาย
ประกอบด้วยคำว่า อังคุตร + นิกาย
(๑) “อังคุตร”
เขียนแบบบาลีเป็น “องฺคุตฺตร” อ่านว่า อัง-คุด-ตะ-ระ แยกศัพท์เป็น องฺค + อุตฺตร
(ก) “องฺค” อ่านว่า อัง-คะ รากศัพท์มาจาก องฺคฺ (ธาตุ = ไป, ถึง, เป็นไป; รู้) + อ (อะ) ปัจจัย
: องฺคฺ + อ = องฺค แปลตามศัพท์ว่า (1) “ร่างที่เดินได้” (2) “เหตุเป็นเครื่องรู้ที่เกิด” คือทำให้รู้ต้นกำเนิด (3) “ส่วนอันเขารู้ว่าเป็นอวัยวะ”
“องฺค” (นปุงสกลิงค์) ในบาลีหมายถึง ส่วนของร่างกาย, แขนขา, ชิ้นส่วน, ส่วนประกอบ, เหตุ, เครื่องหมาย (part of the body, a limb, part, member, cause, reason, status symbol); ส่วนประกอบของทั้งหมด หรือของระบบ หรือขององค์ (a constituent part of a whole or system or collection)
“องฺค” ในภาษาไทยใช้เป็น “องค์” พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(๑) ส่วนของร่างกาย, อวัยวะ, (ราชาศัพท์) ตัว (ใช้แก่หม่อมเจ้า) เช่น รู้สึกองค์ แต่งองค์.
(๒) ส่วนย่อยที่เป็นองค์ประกอบ เช่น มรรคมีองค์ ๘.
(๓) ในราชาศัพท์ใช้เป็นลักษณนามเรียกอวัยวะ สิ่งของ หรือคำพูด เป็นต้น ของกษัตริย์หรือเจ้านาย เช่น พระทนต์ ๑ องค์ (ฟัน ๑ ซี่) พระสุพรรณภาชน์ ๑ องค์ พระศรี ๑ องค์ (หมาก ๑ คำ) พระที่นั่ง ๑ องค์ พระบรมราโชวาท ๒ องค์.
(๔) ลักษณนามใช้เรียกสิ่งที่เคารพบูชาบางอย่างในทางศาสนา เช่น พระพุทธรูป ๑ องค์ พระเจดีย์ ๒ องค์, (ภาษาปาก) ลักษณนามใช้เรียกภิกษุสามเณร เช่น ภิกษุ ๑ องค์.
(ข) “อุตฺตร” อ่านว่า อุด-ตะ-ระ รากศัพท์มาจาก อุ (คำอุปสรรค = ขึ้น, นอก) + ตรฺ (ธาตุ = ข้าม) + อ (อะ) ปัจจัย, ซ้อน ตฺ ระหว่างอุปสรรคกับธาตุ
: อุ + ตฺ + ตรฺ = อุตฺตรฺ + อ = อุตฺตร แปลตามศัพท์ว่า “สิ่งเป็นเครื่องข้ามขึ้นไป”
“อุตฺตร” ใช้เป็นคุณศัพท์ มีความหมายดังนี้ –
(1) สูงกว่า, ดีกว่า, ยอดกว่า, เหนือกว่า (higher, high, superior, upper)
(2) ทางทิศเหนือ (northern)
(3) ภายหลัง, หลังจาก, ถัดออกไป (subsequent, following, second)
(4) เกินกว่า, เหนือไปกว่า (over, beyond)
บาลี “อุตฺตร” ในภาษาไทยใช้เป็น “อุตดร” “อุตร-” (มีคำอื่นมาสมาสข้างท้าย) และ “อุดร”
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) อุตดร, อุตร– : (คำนาม) อุดร. (ป., ส. อุตฺตร).
(2) อุดร : (คำนาม) ทิศเหนือ ใช้ว่า ทิศอุดร; ข้างซ้าย. (ป., ส. อุตฺตร).
องฺค + อุตฺตร = องฺคุตฺตร (อัง-คุด-ตะ-ระ) แปลว่า “ยิ่งด้วยองค์” หมายถึง พระสูตรที่เรียงลำดับเพิ่มขึ้นไปตามจำนวนหัวข้อธรรม (“องค์” ในที่นี้หมายถึง หัวข้อธรรม) เริ่มจากพระสูตรที่มี 1 หัวข้อธรรม 2 หัวข้อธรรม 3 หัวข้อธรรม เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ
(๒) “นิกาย”
บาลีอ่านว่า นิ-กา-ยะ แสดงรากศัพท์ตามนัยแห่งหนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ ของ พระมหาโพธิวงศาจารย์ (ทองดี สุรเตโช ป.ธ.๙, ราชบัณฑิต) ดังนี้ –
(1) นิกาย ๑ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = เข้า, ลง) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ย ปัจจัย, แปลง จิ เป็น กา
: นิ + จิ = นิจิ + ย = นิจิย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “ที่อันเขามุงบัง” หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่
(2) นิกาย ๒ รากศัพท์มาจาก นิ (คำนิบาต = ไม่มี, ออก) + จิ (ธาตุ = สะสม) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ, แผลง อิ ที่ จิ เป็น เอ, แปลง เอ เป็น อาย (จิ > เจ > จาย), แปลง จ เป็น ก
: นิ + จิ + ณ = นิจิณ > นิจิ > นิเจ > นิจาย > นิกาย (ปุงลิงค์) แปลตามศัพท์ว่า “หมู่ที่สะสมส่วนย่อยทั้งหลายไว้โดยไม่ต่างกัน” ( = พวกที่ไม่ต่างกันมารวมอยู่ด้วยกัน) หมายถึง นิกาย, ฝูง, กลุ่ม, หมู่, คณะ, กอง
พจนานุกรมบาลี-อังกฤษ แปล “นิกาย” ว่า collection, assemblage, class, group (การรวบรวม, การประชุม, ชั้น, กลุ่ม, พวก, หมู่) ไม่มีคำแปลที่หมายถึง เรือน, ที่พัก, ที่อยู่ ดังที่หนังสือ ศัพท์วิเคราะห์ แสดงความหมายของ นิกาย ๑
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“นิกาย : (คำนาม) น. หมู่, พวก, หมวด, ใช้เกี่ยวกับศาสนา ในกรณีเช่นคณะนักบวชในศาสนาเดียวกัน ที่แยกออกไปเป็นพวก ๆ เช่น มหานิกาย ธรรมยุติกนิกาย นิกายโรมันคาทอลิก นิกายโปรเตสแตนต์; เรียกคัมภีร์พระสุตตันตปิฎกที่แยกออกเป็น ๕ หมวดใหญ่ คือ ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตนิกาย อังคุตรนิกาย ขุทกนิกาย. (ป., ส.).”
ขยายความแทรก :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต อธิบายคำว่า “นิกาย” ไว้ดังนี้ –
…………..
นิกาย : พวก, หมวด, หมู่, ชุมนุม, กอง;
1. หมวดตอนใหญ่แห่งพุทธพจน์ในพระสุตตันตปิฎก ซึ่งแยกเป็น ทีฆนิกาย มัชฌิมนิกาย สังยุตตนิกาย อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย;
2. คณะนักบวช หรือศาสนิกชนในศาสนาเดียวกันที่แยกเป็นพวกๆ; ในพระพุทธศาสนามีนิกายใหญ่ที่เรียกได้ว่าเป็นนิกายพุทธศาสนาในปัจจุบัน ๒ นิกาย คือ มหายาน หรือนิกายฝ่ายเหนือ (อุตรนิกาย) พวกหนึ่ง และ เถรวาท หรือนิกายฝ่ายใต้ (ทักษิณนิกาย) ที่บางทีเรียก หีนยาน พวกหนึ่ง;
ในประเทศไทยปัจจุบัน พระภิกษุสงฆ์ในพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทด้วยกัน แยกออกเป็น ๒ นิกาย แต่เป็นเพียงนิกายสงฆ์ มิใช่ถึงกับเป็นนิกายพุทธศาสนา (คือแยกกันเฉพาะในหมู่นักบวช) ได้แก่ มหานิกาย และ ธรรมยุติกนิกาย ซึ่งบางทีเรียกเพียงเป็นคณะว่า คณะมหานิกาย และ คณะธรรมยุต
…………..
องฺคุตฺตร + นิกาย = องฺคุตฺตรนิกาย อ่านแบบบาลีว่า อัง-คุด-ตะ-ระ-นิ-กา-ยะ ในภาษาไทยใช้เป็น “อังคุตรนิกาย” (ตัด ต ตัวสะกดออกตัวหนึ่ง) อ่านว่า อัง-คุด-ตะ-ระ-นิ-กาย
พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
“อังคุตรนิกาย : (คำนาม) ชื่อคัมภีร์นิกายที่ ๔ แห่งพระสุตตันตปิฎก แสดงหลักธรรมโดยแบ่งเป็นหมวด เรียงลำดับตามจำนวนหัวข้อธรรมะตั้งแต่ ๑ หัวข้อถึง ๑๑ หัวข้อ.”
ขยายความ :
พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ ของท่าน ป.อ. ปยุตฺโต ที่คำว่า “อังคุตตรนิกาย” (ต 2 ตัว) บอกไว้ดังนี้ –
…………..
อังคุตตรนิกาย : ชื่อนิกายที่ ๔ ในบรรดานิกาย ๕ แห่งพระสุตตันตปิฎก เป็นที่ชุมนุมพระสูตรซึ่งจัดเข้าลำดับตามจำนวนหัวข้อธรรม เป็นหมวด ๑ (เอกนิบาต) หมวด ๒ (ทุกนิบาต) เป็นต้น จนถึงหมวด ๑๑ (เอกาทสกนิบาต); ดู ไตรปิฎก (เล่ม ๒๐ – ๒๔)
…………..
ที่คำว่า “ไตรปิฎก” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฯ บอกความหมายไว้ดังนี้ –
…………..
ไตรปิฎก : “ปิฎกสาม”; ปิฎก แปลตามศัพท์อย่างพื้นๆ ว่า กระจาดหรือตะกร้าอันเป็นภาชนะสำหรับใส่รวมของต่างๆ เข้าไว้ นำมาใช้ในความหมายว่า เป็นที่รวบรวมคำสอนในพระพุทธศาสนาที่จัดเป็นหมวดหมู่แล้ว โดยนัยนี้ ไตรปิฎก จึงแปลว่า “คัมภีร์ที่บรรจุพุทธพจน์ (และเรื่องราวชั้นเดิมของพระพุทธศาสนา) ๓ ชุด” หรือ “ประมวลแห่งคัมภีร์ที่รวบรวมพระธรรมวินัย ๓ หมวด” กล่าวคือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และ อภิธรรมปิฎก
… … …
…………… ๔. อังคุตตรนิกาย ชุมนุมพระสูตรที่จัดรวมเข้าเป็นหมวดๆ เรียกว่านิบาตหนึ่งๆ ตามลำดับจำนวนหัวข้อธรรม รวม ๑๑ นิบาต หรือ ๑๑ หมวดธรรม มี ๙,๕๕๗ สูตร
…………..
ในส่วน “สุตตันตปิฎก” พจนานุกรมพุทธศาสน์ ฉบับประมวลศัพท์ฯ ขยายความไว้ดังนี้ –
…………..
ข. พระสุตตันตปิฎก ๒๕ เล่ม
๔. อังคุตตรนิกาย ๕ เล่ม
เล่ม ๒๐ เอก–ทุก–ติกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑, ๒, ๓ รวมทั้งเรื่องเอตทัคคะ
เล่ม ๒๑ จตุกกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๔
เล่ม ๒๒ ปัญจก–ฉักกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๕, ๖
เล่ม ๒๓ สัตตก–อัฏฐก–นวกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๗, ๘, ๙
เล่ม ๒๔ ทสก–เอกาทสกนิบาต ว่าด้วยธรรมหมวด ๑๐, ๑๑
ในอังคุตตรนิกายมีข้อธรรมหลากหลายลักษณะ ตั้งแต่ทิฏฐธัมมิกัตถะ ถึงปรมัตถะ ทั้งสำหรับบรรพชิต และสำหรับคฤหัสถ์ กระจายกันอยู่โดยเรียงตามจำนวน
…………..
นี่คือเค้าโครงของ “อังคุตรนิกาย” ในพระไตรปิฎกส่วนที่เป็นพระสุตตันตปิฎกหรือพระสูตร
รายละเอียดต่างๆ ของพระสูตรใน “อังคุตรนิกาย” พึงศึกษาจากพระไตรปิฎกเล่ม 20-21-22-23-24 นั้นเทอญ
…………..
ดูก่อนภราดา!
: เพิ่มบาป ขาดทุน
: เพิ่มบุญ ได้กำไร
#บาลีวันละคำ (4,142)
15-10-66
…………………………….
…………………………….