คนกลัวเมีย
คนกลัวเมีย
———–
เรื่องนี้ผมได้แรงบันดาลใจมาจากการสนทนากับเพื่อนอนุศาสนาจารย์ทหารบกท่านหนึ่ง
เพื่อนอนุศาสนาจารย์ทหารบกท่านนี้เล่าว่า อาจารย์ท่านหนึ่งในหมู่อนุศาสนาจารย์ทหารบกท่านชอบวิจารณ์การบรรยายธรรมของเพื่อนอนุศาสนาจารย์ด้วยกัน
รูปแบบการวิจารณ์ของท่านก็คือ –
อนุศาสนาจารย์ท่านนี้บรรยายดี แต่มีข้อบกพร่องตรงนั้น
อนุศาสนาจารย์ท่านนั้นบรรยายดี แต่มีข้อบกพร่องตรงโน้น
วิจารณ์มาถึงอนุศาสนาจารย์ท่านหนึ่งซึ่งท่านบรรยายธรรมดีมาก หาข้อบกพร่องไม่ได้เลย อาจารย์นักวิจารณ์ท่านนั้นก็ยังวิจารณ์ว่า –
อาจารย์ท่านนั้นบรรยายดี เสียแต่ว่าเป็นคนกลัวเมีย
—————
เพื่อนอนุศาสนาจารย์ทหารบกที่เล่าเรื่องนี้ท่านเล่าด้วยลีลาที่จะให้เห็นว่าเป็นคำวิจารณ์ที่คมคาย แต่ผมฟังแล้วเห็นว่าเป็นคำวิจารณ์ที่น่าขบขันมากกว่า
ญาติมิตรฟังแล้วคงจะเห็นตรงกันว่า ข้อบกพร่องที่ยกขึ้นมาอ้างนั้นมันไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับการบรรยายธรรม
ทำนองเดียวกับมีคนวิจารณ์ท่านนายกฯ ประเทศสารขัณฑ์ ว่าท่านบริหารงานดีทุกอย่าง เสียอย่างเดียว-ชอบกินปาท่องโก๋
แต่คำว่า “เสียแต่ว่าเป็นคนกลัวเมีย” ก็จุดความคิด ทำให้ผมสงสัยว่า ที่พูดกันว่า “กลัวเมีย” นั้นหมายถึงอะไร
คือ “อะไร” ที่ทำให้เราตัดสินกันว่า ผู้ชายคนนั้นคนนี้เป็นคนกลัวเมีย และการเป็นคนกลัวเมีย (ตามความหมายที่มักเข้าใจกัน) นั้น เป็นข้อเสียหายอย่างไรหรือจึงถูกมองว่าเป็นความบกพร่องอย่างหนึ่งถึงกับนำไปตำหนิเชิงล้อเลียนกันอยู่เนืองๆ
—————
หลวงวิจิตรวาทการท่านเขียนไว้ในหนังสือเล่มหนึ่ง ผมจำไม่ได้ว่าเป็นนิยายเรื่อง “ห้วงรักเหวลึก” หรือว่านิยายเรื่อง “มรสุมแห่งชีวิต”
แวะนิดนะครับ
“ห้วงรักเหวลึก” เป็นนิยายเรื่องยาว พิมพ์เป็นเล่มขนาดพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๔๙๓ ถึง ๓ เล่มหรือ ๕ เล่ม ไม่แน่ใจ แต่ยาวเหยียดทีเดียว อ่านสนุก ให้คติชีวิตดีมากๆ
ส่วน “มรสุมแห่งชีวิต” เป็นนิยายเล่มเดียวจบ น่าอ่านเช่นเดียวกัน (เขียนมาถึงบรรทัดนี้ชักไม่ค่อยแน่ใจว่า เรื่องนี้เป็นนิยายของหลวงวิจิตรฯ หรือเปล่า ญาติมิตรท่านใดแม่น ขอคำรับรองหน่อยนะครับ)
เอาเป็นว่า หลวงวิจิตรวาทการท่านเขียนไว้ก็แล้วกัน ท่านเขียนเป็นใจความว่า ชายที่มีภรรยาขอให้ทำใจไว้เสมอว่า –
…………..
ตอนเช้า ท่านต้องยอมให้ภรรยาท้วงติงแนะนำถึงข้อบกพร่องของท่านทุกเช้าไป
ตอนกลางวัน ท่านต้องยอมฟังคำบ่นว่าของภรรยาว่าท่านทำเรื่องนั้นไม่ถูก ทำเรื่องนี้ไม่ควร
ตอนเย็น ท่านต้องยอมให้ภรรยาตำหนิถึงความบกพร่องที่เกิดขึ้นในบ้านในวันนั้น และขอให้ยอมรับว่าเกิดจากความบกพร่องของท่านแต่เพียงผู้เดียวเท่านั้น
…………..
ถ้อยคำสำนวนอาจจะไม่ตรงตามนี้นะครับ แต่ใจความหลักๆ เป็นอย่างที่ว่านี้
หลวงวิจิตรวาทการท่านเป็นนักคิดนักเขียน ท่านจะต้องได้ผ่านโลกและเห็นสัจธรรมของชีวิต-โดยเฉพาะชีวิตในครัวเรือน-มาแล้วอย่างกระจ่างแจ้ง
หมายความว่าท่านไม่ได้คาดเดาเอาเองว่าชีวิตสามีภรรยาน่าจะเป็นอย่างนั้น แต่ท่านจะต้องได้ประสบกับตัวเองมาแล้วอย่างนั้นแน่นอน ท่านจึงเขียนบอกไว้เช่นนั้น
ลองคำนึงกันดูนะครับว่า ทำไมท่านจึงแนะนำให้สามี “ทำใจ” เช่นนั้น
—————
ในหลักธรรมเรื่องทิศหก มีคำสอนเรื่องที่สามีควรปฏิบัติต่อภรรยาไว้ด้วย ขออนุญาตยกข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอไว้ ณ ที่นี้
…………
ก. สามีพึงบำรุงภรรยา ผู้เป็นทิศเบื้องหลัง ดังนี้
1) ยกย่องให้เกียรติสมกับฐานะที่เป็นภรรยา
2) ไม่ดูหมิ่น
3) ไม่นอกใจ
4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้
5) หาเครื่องประดับมาให้เป็นของขวัญตามโอกาส
In five ways a husband should serve his wife as the western quarter:
a) by honouring her.
b) by being courteous to her.
c) by being faithful to her.
d) by handing over authority to her.
e) by providing her with ornaments.
ที่มา: พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต ข้อ [265]
…………
ขอให้ดูข้อ 4) มอบความเป็นใหญ่ในงานบ้านให้ [d) by handing over authority to her.]
ข้อนี้ต้นฉบับบาลีพระไตรปิฎกท่านใช้คำว่า “อิสฺสริยโวสฺสคฺเคน” (อิสสะริยะโวสสัคเคนะ) แปลตามศัพท์ว่า “ด้วยสละความเป็นใหญ่ให้”
อรรถกถาของพระสูตรนี้ คือคัมภีร์สุมังคลวิลาสินี ภาค ๓ หน้า ๒๓๓ ขยายความไว้ว่า –
…………
อิสฺสริยโวสฺสคฺเคนาติ อิตฺถิโย หิ มหาลตาปสาธนสทิสํปิ อาภรณํ
ลภิตฺวา ภตฺตํ วิจาเรตุํ อลภมานา กุชฺฌนฺติ ฯ กฏจฺฉุํ หตฺเถ
ฐเปตฺวา ตว รุจิยา กโรหีติ ภตฺตเคเห วิสฏฺเฐ สพฺพํ อิสฺสริยํ
วิสฏฺฐํ นาม โหติ ฯ เอวํ กรเณนาติ อตฺโถ ฯ
คำว่า อิสฺสริยโวสฺสคฺเคน ด้วยสละความเป็นใหญ่ให้ หมายความว่า ธรรมดาว่าสตรีทั้งหลายแม้จะได้เครื่องประดับเทียบเท่ากับเครื่องมหาลดาประสาธน์ แต่ถ้ายังไม่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบเรื่องอาหารการกิน ก็ยังไม่พอใจอยู่นั่นเอง ต่อเมื่อสามีส่งทัพพีให้แล้วบอกว่า แม่จงทำตามชอบใจของแม่เถิด ดังนี้ แล้วมอบครัวให้ นั่นแหละจึงจะชื่อว่ามอบความเป็นใหญ่ทั้งหมดให้ เป็นอันได้ความว่า สามีพึงทำอย่างนั้นเถิด
…………
เครื่องประดับมหาลดาประสาธน์ที่เอ่ยถึงนี้ ว่ากันว่าในโลกนี้มีสตรีแค่ ๓ คนเท่านั้นที่ได้เป็นเจ้าของ
ลองนึกดูเถิด แม้จะได้เป็นเจ้าของเครื่องประดับที่เลอเลิศขนาดนั้น สตรีก็ยังไม่ภาคภูมิใจเท่ากับได้เป็นใหญ่ในครัวเรือน
เหตุผลแบบนี้นับวันจะเข้าใจยากยิ่งขึ้น
สมัยก่อนโน้น ผู้หญิงกับการบ้านการเรือนอันมี “การครัว” เป็นประธาน เป็นของคู่กัน กล่าวได้ว่า การครัวคือชีวิตของสตรี
กล่าวล้อสำนวนทางยุทธศาสตร์ก็ว่า “สตรีใดครองครัวได้ สตรีนั้นครองชีวิตคนได้”
นักประวัติศาสตร์บอกว่า การที่พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์เสด็จสวรรคตนั้น เบื้องหลังที่แท้จริงมีต้นเหตุมาจากเสวยพระกระยาหารไม่ถูกพระโอษฐ์อันเนื่องมาจากทรงมี “ปัญหาเล็กๆ น้อยๆ” กับพระมเหสีจนไม่ถวายเครื่องเสวยอย่างที่เคย
ท่านผู้ใดอยากทราบรายละเอียดก็จงไปสืบค้นจดหมายเหตุพงศาวดารดูเถิด
ที่ว่า-เหตุผลแบบนี้นับวันจะเข้าใจยากยิ่งขึ้น-ก็เพราะวิถีการครองชีพของผู้คนเปลี่ยนแปลงไป ผมเข้าใจว่าสตรีไทยที่มีวัยประมาณ ๓๐ ปีลงมา บัดนี้เริ่มจะหุงข้าวทำกับข้าวไม่เป็นมากขึ้น
ได้ยินว่าสามีภรรยาสมัยใหม่หลายครอบครัวไม่มีหม้อข้าวเตาไฟกันแล้ว อาหารทุกมื้อซื้อกินสะดวกกว่า
เชื่อว่าอีกไม่เกินครึ่งศตวรรษ สตรีที่หุงข้าวทำกับข้าวไม่เป็นจะถือว่าเป็นเรื่องปกติ ไม่เป็นข้อเสียหายใดๆ ทั้งสิ้น
—————
ย้อนไปข้างต้น
เมื่อครองครัวได้ ก็เท่ากับได้ความเป็นใหญ่ภายในบ้าน มิใช่เฉพาะภายในครัวอย่างเดียว แต่รวมถึงกิจการทุกอย่างภายในบ้านด้วย
เมื่อสามีตกลงยกความเป็นใหญ่ภายในบ้านให้ภรรยาแล้วเช่นนี้ บรรยากาศภายในบ้านก็ย่อมเป็นไปตามที่ภรรยาเป็นผู้กำหนด
เริ่มตั้งแต่ตัวสามีจะได้กินอะไร
คนในบ้านจะได้กินอะไร – เป็นต้นไป
ขยายออกไปถึงว่า ภายในบ้านจะมีอะไร หรือจะต้องไม่มีอะไร
อาจคลุมไปถึงว่า เวลาไหนใครจะทำอะไร หรือจะต้องเลิกทำอะไร ก็ขึ้นอยู่กับกติกาที่ฝ่ายภรรยาเป็นผู้กำหนด
การที่-อะไรๆ ก็แล้วแต่ภรรยา “ผู้เป็นใหญ่ในบ้าน” เป็นผู้กำหนด – เช่นนี้เอง บุคลิกที่เรียกกันว่า “คนกลัวเมีย” ก็จึงเริ่มปรากฏในตัวสามี
จะเห็นได้ว่าเหตุผลที่แท้จริงไม่ใช่กลัวหรือไม่กลัว
เหตุผลที่แท้จริงอยู่ที่-มันเป็นหลักการ
หลักการก็คือ เมื่อมอบความเป็นใหญ่ในบ้านให้แล้ว ทีนี้ก็-หน้าที่ใครหน้าที่มัน ไม่พึงก้าวก่ายหน้าที่ของกันและกัน
เมื่อคนหนึ่งใหญ่แล้ว ก็ต้องไม่มีใครมาใหญ่เป็นคนที่สอง ซึ่งจะกลายเป็นแข่งกันใหญ่ และจะนำไปสู่ความขัดแย้ง
ผิดหลักการอย่างร้ายแรง
จึงไม่ใช่เรื่องผิดปกติ
ไม่ใช่เรื่องใครกลัวใคร
ไม่ใช่เรื่องเสียศักดิ์ศรี
ที่มีปัญหา เท่าที่ได้ฟังกันทั่วไปนั้น มักเกิดมาจากฝ่ายภรรยาไม่เข้าใจขอบเขตแห่งอำนาจหน้าที่
คือเมื่อได้เป็นใหญ่ภายในบ้านแล้ว ก็เลยขยายความเป็นใหญ่ออกไปนอกบ้านด้วย
หนักเข้าก็ขยายออกไปถึงหน้าที่การงานของสามี
แล้วเลยกลายเป็นว่า ขยายความเป็นใหญ่เหนือชีวิตของสามีไปเลย
ปัญหาเกิดจากตรงนี้
ผมเชื่อว่าภรรยาส่วนมากลืมนึกความเป็นจริงข้อนี้ แต่เข้าใจไปว่าตนมีสิทธิ์ที่จะเป็นใหญ่เหนือชีวิตสามีด้วย
—————
ปัญหาสามีมีเมียน้อยก็เกิดจากจุดนี้ด้วย
ธรรมชาติของมนุษย์-โดยเฉพาะมนุษย์ที่เป็นสามี-ย่อมต้องการ “ความนับถือ”
เมื่อใดสามีรู้สึกว่าไม่ได้รับความนับถือจากภรรยา
เมื่อนั้นเขาจะเริ่มมองหาความนับถือจากคนอื่น
เคล็ดลับที่จะไม่ให้สามีมีเมียน้อยจึงอยู่ที่ตรงนี้-ตรงที่-จงให้ความนับถือสามีตามควรแก่ฐานะ ไม่ว่าท่านจะเห็นว่าสามีของท่านโง่เขลาเบาปัญญา หรือฉลาดน้อยกว่าท่านขนาดไหนก็ตาม
แต่ถ้านับถือแล้ว และนับถือเป็นอย่างดีด้วย แต่เขาก็ยังมี..
ถึงตอนนั้นท่านย่อมได้สิทธิ์ที่จะทำอะไรก็ได้ตามที่เห็นสมควร รวมทั้งการที่จะไม่ให้ความนับถืออีกต่อไป-แต่ต้องหลังจากทบทวนถ้วนถี่แล้วว่ามันเกิดจากอะไรกันแน่
เพราะตัวแปรอาจมีมากกว่าหนึ่ง
อนึ่ง สามีที่ไม่ได้รับความนับถือจากภรรยา อาจเป็นคนประเภทที่ไม่ต้องการความนับถือจากใครอื่นอีก ก็เป็นได้
ถ้าเป็นอย่างนี้ เขาก็จะไม่ไปมีบ้านเล็กบ้านน้อยที่ไหน เขาคงอยู่กับภรรยาตามปกติ แต่เขาจะมีโลกส่วนตัวตามแต่เขาจะสามารถมีหรือสร้างขึ้นได้
นี่คือที่มาของการอยู่กันแบบ-ต่างคนต่างอยู่ ไม่แยกทาง แต่ก็ไม่ร่วมทาง
กรณีเช่นนี้ภรรยาก็อาจจะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง คืออยากรู้ว่าโลกส่วนตัวของสามีเป็นอย่างไร แต่เข้าไปไม่ได้
– นอกจากจะใช้ความนับถือเป็นกุญแจไขประตู
ถึงตรงนี้ขอย้ำว่า-อย่าลืม “ความนับถือ”
—————
อนึ่ง การถูกเข้าใจว่าสามีเป็นคนกลัวเมีย อาจนำมาซึ่งความเข้าใจผิดอย่างแรงจากฝ่ายภรรยา คือเข้าใจผิดไปว่า ที่ยังไม่เกิดสงครามก็เพราะ “คุณกลัวฉัน”
อันที่จริง การที่ยังไม่เกิดสงคราม อาจไม่ใช่เพียงเพราะฝ่ายหนึ่งกลัวอีกฝ่ายหนึ่ง แต่อาจเป็นเพราะมีฝ่ายหนึ่งที่รักสงบ ยอมเสียสละ ยอมเป็นผู้แพ้ หรือยอมให้ถูกมองว่าเป็นผู้แพ้ สู้เข้าไม่ได้ เพื่อแลกกับความสงบสุข
มุมมองแบบนี้ ผมเห็นว่า เราพลาดกันมาก-พลาดตรงที่มองไม่เห็นมุมนี้
ผู้ชนะ ร้อยทั้งร้อยมีแต่แสดงอำนาจ ลิงโลด อหังการอยู่เหนือผู้แพ้
ผู้ชนะ ร้อยทั้งร้อยไม่เคยเฉลียวใจว่า ที่ตนชนะได้ก็เพราะมีผู้ยอมแพ้
ผู้ชนะ ร้อยทั้งร้อยจึงไม่เคยนึกถึงความดีของผู้แพ้
ถ้าไม่มีลูกน้อง ท่านจะใหญ่กับใคร
ถ้าไม่มีผู้ยอมแพ้ ท่านจะชนะได้อย่างไร
เพราะฉะนั้น เห็นครอบครัวไหนอยู่กันมายั่งยืน โปรดอย่าลืมเฉลียวใจคิดกันบ้างนะครับว่า นั่นอาจเป็นผลมาจาก-ใครบางคนที่ยอมให้สังคมเย้ยหยันว่าเป็น “คนกลัวเมีย”
นาวาเอก ทองย้อย แสงสินชัย
๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๙
๑๕:๓๑
——–