เวทนา (บาลีวันละคำ 824)
เวทนา
อ่านว่า เว-ทะ-นา
“เวทนา” รากศัพท์มาจาก วิทฺ (ธาตุ = รู้, รู้อารมณ์) + ยุ ปัจจัย, แผลง อิ (ที่ วิทฺ) เป็น เอ, แปลง ยุ เป็น อน (อะ-นะ), ลง อา เครื่องหมายคำเพศหญิง
: วิทฺ > เวท + ยุ > อน = เวทน + อา = เวทนา แปลตามศัพท์ว่า “ผู้เสวยรสอารมณ์” หมายถึง ความรู้สึก, การออกอาการจากใจ (feeling, sensation)
เวทนา เป็นหนึ่งในห้าของธรรมชาติที่ประกอบขึ้นเป็นชีวิตมนุษย์ ที่เรียกว่า “ขันธ์ห้า” (the Five Groups of Existence; Five Aggregates) คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ขอนำข้อความจากพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต มาเสนอดังนี้ –
(ข้อ 216)
ขันธ์ 5
1. รูปขันธ์ (กองรูป, ส่วนที่เป็นรูป, ร่างกาย พฤติกรรม และคุณสมบัติต่างๆ ของส่วนที่เป็นร่างกาย – corporeality)
2. เวทนาขันธ์ (กองเวทนา, ส่วนที่เป็นการเสวยอารมณ์ – feeling; sensation)
3. สัญญาขันธ์ (กองสัญญา, ส่วนที่เป็นความจำได้หมายรู้ – perception)
4. สังขารขันธ์ (กองสังขาร, ส่วนที่เป็นความคิดปรุงแต่งจิตให้ดีหรือชั่วหรือเป็นกลางๆ – mental formations; volitional activities)
5. วิญญาณขันธ์ (กองวิญญาณ, ส่วนที่เป็นความรับรู้อารมณ์ เช่นการเห็น การได้ยิน เป็นต้น – consciousness)
ในทางธรรม “เวทนา” ที่มักกลาวถึง คือ เวทนา 3 และ เวทนา 5 พจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรม ของท่าน ป.อ.ปยุตฺโต แสดงไว้ดังนี้ –
(ข้อ 111)
เวทนา 3
1. สุขเวทนา (ความรู้สึกสุข สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม – pleasant feeling; pleasure)
2. ทุกขเวทนา (ความรู้สึกทุกข์ ไม่สบาย ทางกายก็ตาม ทางใจก็ตาม – painful feeling pain)
3. อทุกขมสุขเวทนา (ความรู้สึกเฉยๆ จะสุขก็ไม่ใช่ ทุกข์ก็ไม่ใช่ เรียกอีกอย่างว่า อุเบกขาเวทนา – neither-pleasant-nor-painful feeling; indifferent feeling)
(ข้อ 112)
เวทนา 5
1. สุข (ความสุข ความสบายทางกาย – bodily pleasure or happiness)
2. ทุกข์ (ความทุกข์ ความไม่สบาย เจ็บปวดทางกาย – bodily pain; discomfort)
3. โสมนัส (ความแช่มชื่นสบายใจ, สุขใจ – mental happiness; joy)
4. โทมนัส (ความเสียใจ, ทุกข์ใจ – mental pain; displeasure; grief)
5. อุเบกขา (ความรู้สึกเฉยๆ – indifference)
ในภาษาไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554 บอกไว้ว่า –
(1) เวทนา ๑ : [อ่านว่า เว-ทะ-นา] (คำนาม) ความรู้สึก, ความรู้สึกทุกข์สุข, (เป็นขันธ์ ๑ ในขันธ์ทั้ง ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ); ความเจ็บปวด, ทุกข์ทรมาน. (ป., ส.).
(2) เวทนา ๒ : [อ่านว่า เวด-ทะ-นา] (คำกริยา) สังเวชสลดใจ เช่น เรามักเวทนาผู้เคราะห์ร้าย เด็กคนนี้น่าเวทนา.
จริงไหม :
ความรู้ล้วนๆ ก็แข็งทื่อ
ความรู้สึกซื่อๆ ก็อ่อนไหว
ความรู้กับความรู้สึกได้สัดส่วน
ชีวิตทั้งมวลก็ละมุนละไม
———–
(หวังว่าคงจะตอบปัญหาของ Suchart Chermket ได้บ้างเป็นบางส่วน)
#บาลีวันละคำ (824)
20-8-57