สวัสดี (บาลีวันละคำ 595)
สวัสดี
อ่านว่า สะ-หฺวัด-ดี
บาลีเป็น “สุวตฺถิ” อ่านว่า สุ-วัด-ถิ
“สุวตฺถิ” มาจาก สุ (= ดี, งาม) + อตฺถิ (= มี, เป็น)
“อตฺถิ” เป็นคำกริยา รากศัพท์มาจาก อสฺ (ธาตุ = มี, เป็น) ลบที่สุดธาตุ + ติ (วิภัตติอาขยาต ปฐมบุรุษ เอกพจน์) แปลง ติ เป็น ตฺถิ
: อสฺ > อ + ติ > ตฺถิ (= อ + ตฺถิ) = อตฺถิ แปลว่า ย่อมมี, ย่อมเป็น
สุ + อตฺถิ :
สุ แผลงเป็น สุว + อตฺถิ หรือ สุ + ว (คำประเภท “อาคม”) + อตฺถิ : สุ + ว + อตฺถิ = สุวตฺถิ (สุ-วัด-ถิ)
(ลองออกเสียง สุ–อัตถิ เร็วๆ จะได้เสียง สุ-วัด-ถิ หรือ สฺวัด-ถิ)
“สุวตฺถิ” สันสกฤตเป็น “สฺวสฺติ” เราเขียนอิงสันสกฤต จึงเป็น “สวัสดี”
“สุวตฺถิ – สฺวสฺติ – สวัสดี” แปลตามศัพท์ว่า “มีดี” หรือ “เป็นดี” เราแปลทับศัพท์ว่า “ความสวัสดี” หมายถึง ความเจริญสุข, ความดีงาม, การอยู่ดี, ความปลอดภัย, ความรุ่งเรือง, การได้รับพร, ความสำเร็จ, ความสมหวัง, ความสงบเย็น
สวัสดิคาถา-คาถาเพื่อความสวัสดี :
นาญฺญตฺร โพชฺฌา ตปสา
นาญฺญตฺร อินฺทฺริยสํวรา
นาญฺญตฺร สพฺพนิสฺสคฺคา
โสตฺถึ ปสฺสามิ ปาณินํ.
โพชฌะ-ปัญญาหยั่งรู้ทันรู้เท่า-หนึ่ง
ตบะ-พากเพียรแผดเผาความชั่วร้าย-หนึ่ง
อินทรียสังวร-สติระวังใจกายเมื่อรับอารมณ์-หนึ่ง
นิสสัคคะ-ยกใจมิให้จมอยู่กับความยึดอยาก-หนึ่ง
ผิว่าปราศจากธรรมทั้งสี่ประการดังกล่าวมา
ตถาคตไม่เห็นว่าปวงประชาจะมีความสวัสดีได้เลย
(สังยุตตนิกาย สคาถวรรค ๑๕/๒๖๕)
สิทธิการิยะ :
ท่านว่าเสกทุกวัน ปฏิบัติทุกวัน สวัสดีนักแล
1-1-57