บาลีวันละคำ

ศรี-ราศี (บาลีวันละคำ 596)

ศรี-ราศี

อ่านว่า สี / รา-สี

ศรี” บาลีเป็น “สิริ” อ่านว่า สิ-ริ และเป็น “สิรี” (สิ-รี) ก็มี

ราศี” บาลีเป็น “ราสิ” อ่านว่า รา-สิ

– ๑ สิริศรี

สิริ” แปลตามรากศัพท์ว่า “สิ่งอันผู้ทำความดีไว้ได้สัมผัส” หรือ “สิ่งที่อาศัยอยู่ในบุคคลผู้ทำความดีไว้

สิริ” ในภาษาไทยนิยมออกเสียงว่า สิ-หฺริ รูปสันสกฤตเป็น “ศรี” (สี)

สิริศรี” มีความหมายว่า มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, โชค, ความมีเดช, ความรุ่งเรือง และเป็นนามของเทพธิดาแห่งโชคลาภ (splendour, beauty, luck, glory, majesty, prosperity) (ดูเพิ่มเติมที่ “สิริธมฺม” บาลีวันละคำ (105) 21-8-55)

ในภาษาไทยใช้ทั้ง “ศรี” และ “สิริ

พจน.54 บอกความหมายของ “ศรี” ไว้ดังนี้ –

1. มิ่ง, สิริมงคล, ความรุ่งเรือง, ความสว่างสุกใส, ความงาม, ความเจริญ, เช่น ศรีบ้าน ศรีเรือน ศรีเมือง

2. ใช้นำหน้าคำบางคำเป็นการยกย่อง เช่น พระศรีรัตนตรัย วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

3. พลู. (คำมลายู); (ราชาศัพท์) หมากพลู เรียกว่า พระศรี

4. ผู้หญิง (คำเขมร = สี)

5. (คำที่ใช้ในบทกลอน) ลักษณนามใช้แก่คน เช่น พระปิตุราชมาตุรงค์ทรงพระสรวล เห็นสมควรคู่ครองกันสองศรี (จากเรื่องพระอภัยมณี)

และบอกความหมายของ “สิริ” ไว้ดังนี้ –

1. ผสม เช่น สามีภรรยาสิริอายุเข้าด้วยกัน 150 ปี, รวม เช่น สิริอายุได้ 72 ปี

2. (ความหมายข้อนี้เป็น “สิรี” ด้วย) ศรี, มิ่งขวัญ, มงคล, เช่น สิริราชสมบัติ, มักใช้เข้าคู่กับคำ มงคล เป็น สิริมงคล; สวย, งาม, เช่น ทรงมีพระสิริโฉม

– ๒ ราสิราศี

ราสิ” แปลตามรากศัพท์ว่า “หมู่ที่ยินดี คือมารวมกันด้วยความยินดี” ในบาลีใช้ในความหมายดังนี้ต่อไปนี้ –

1. กอง, ฝูง, หมู่ (heap, quantity, mass)

2. คลังสมบัติ, ทรัพย์สินเงินทอง (store of wealth, riches)

3. เครื่องหมายของจักรราศีทั้ง 12 (a sign of the Zodiac)

4. (คำเฉพาะในตรรกวิทยา) กลุ่ม, การรวมเป็นกลุ่ม, ชนิด, กอง, หมู่ (group, aggregate, category, congery)

ราสิ” ในภาษาไทยเขียน “ราศี” พจน.54 บอกความหมายไว้ดังนี้ –

1. กอง, หมู่, เช่น บุญราศี ว่า กองบุญ

2. ชื่อมาตราวัดจักรราศี คือ 30 องศา เป็น 1 ราศี, ถ้ากลุ่มดาวใดอยู่ในช่วงจักรราศีนั้น ก็เรียกชื่อราศีตามกลุ่มดาวนั้น เช่น ราศีเมษ ราศีกรกฎ, อาทิตย์โคจรรอบจักรวาลผ่านหมู่ดาว 12 หมู่ และดาวหมู่หนึ่ง ๆ เรียกว่า ราศีหนึ่ง

3. ความสง่างาม, ลักษณะดีงามของคน, เช่น หน้าตามีราศี, โดยปริยายหมายความว่า ความอิ่มเอิบ

4. ความภาคภูมิ, เช่น ได้ตำแหน่งดี ดูมีราศีขึ้น

5. สิริมงคล เชื่อกันว่าเวลาเช้าราศีอยู่ที่หน้า เวลากลางวันราศีอยู่ที่หน้าอก เวลากลางคืนราศีอยู่ที่เท้า

ข้อสังเกต :

1. “ราศี” มักเขียนผิดเป็น “ราศรี” เนื่องจากเราคุ้นกับคำว่า “ศรี” แต่ไม่คุ้นกับ “-ศี” (ในกรณีเป็นชื่อเฉพาะ เช่นคนชื่อ “ราศรี” ไม่ถือว่าผิด เพราะชื่อเฉพาะย่อมสะกดตามความประสงค์ของเจ้าของชื่อหรือผู้ตั้ง)

2. ศัพท์เดิม “ศรี” บาลีเป็น “สิริ” : ศรี จึงต้องมี เรือ

ราศี” บาลีเป็น “ราสิ” :  ราศี จึงไม่ต้องมี เรือ

3. หลักการจำง่ายๆ คือ –

ถ้ามี “รา--ศี ไม่มี

ถ้า “ศรี” คำเดียว ศรี-มี

หรือจำสั้นๆ “ไม่มีเรือ เมื่อมีรา, มีเรือมา ราไม่มี

———————-

เตรียมชีวิตให้มีศรี –

: ฝากโชคชะตาไว้กับจักรราศี (ดวงกำเนิดและการเคลื่อนย้ายของดวงดาว)

ก็ดี แต่ไม่ปลอดภัย

: ฝากโชคชะตาไว้กับบุญราศี (การสั่งสมคุณงามความดีโดยไม่ประมาท)

ดีด้วย ปลอดภัยด้วย

2-1-57

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย