บาลีวันละคำ

กาล (บาลีวันละคำ 594)

กาล

ภาษาไทยอ่านว่า กาน

บาลีอ่านว่า กา-ละ

กาล” แปลตามศัพท์ว่า “เครื่องนับประมาณอายุเป็นต้น” “ถูกนับว่าล่วงไปเท่านี้แล้ว” “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” หมายถึง เวลา, คราว, ครั้ง, หน

กาล” ที่หมายถึง “เวลา” (time) ในภาษาบาลียังใช้ในความหมายที่ชี้ชัดอีกด้วย คือ

1. เวลาที่กำหนดไว้, เวลานัดหมาย, เวลาตายตัว (appointed time, date, fixed time)

2. เวลาที่เหมาะสม, เวลาที่สมควร, เวลาที่ดี, โอกาส (suitable time, proper time, good time, opportunity)

ในภาษาบาลี “กาล” ยังมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง คือ “ความตาย” ในความหมายนี้ “กาล” แปลตามศัพท์ว่า “ยังอายุของเหล่าสัตว์ให้สิ้นไป” “ทำตามเวลา” (เมื่อถึงเวลาก็ต้องทำสิ่งนั้น หรือเมื่อถึงเวลา สิ่งนั้นก็มาทำหน้าที่)

กาล” ที่หมายถึง “ตาย” คำศัพท์เป็น “กาลกิริยา” (กา-ละ-กิ-ริ-ยา) แปลตามศัพท์ว่า “การทำกาละ”= ความตาย

ถ้าเป็นรูปประโยค (ปฐมบุรุษ (= ผู้ที่ถูกพูดถึง), เอกพจน์) เป็น “กาลํ กโรติ” แปลตามศัพท์ว่า “เขาทำกาละ” ฝรั่งตีความหมายประโยคนี้ว่า “he does his time = he has fulfilled his time” = “เขาอิ่มต่อเวลา” เหมือนคนกินอาหาร อิ่มแล้วก็หยุดกิน คนกินเวลา อิ่มแล้วก็หยุด คือเลิกมีชีวิตอยู่ต่อไป

คนเก่าผูกเป็นปริศนาธรรมว่า –

มีพญายักษ์ตนหนึ่งนา มีนัยน์ตาสองข้าง

ข้างหนึ่งสว่าง ข้างหนึ่งริบหรี่

มีปากสิบสองปาก มีฟันไม่มาก ปากละสามสิบซี่

กินสัตว์ทั่วปัฐพี พญายักษ์ตนนี้นามใด

พุทธภาษิต :

กาโล  ฆสติ  ภูตานิ  สพฺพาเนว  สหตฺตนา

(กา-โล / คะ-สะ-ติ / พู-ตา-นิ / สับ-พา-เน-วะ / สะ-หัด-ตะ-นา)

(มูลปริยายชาดก ทุกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๗ ข้อ ๓๔๐)

แปลโดยพยัญชนะ (ยกศัพท์) –

กาโล อันว่ากาลเวลา

ฆสติ ย่อมกิน

ภูตานิ ซึ่งสัตว์ทั้งหลาย

สพฺพาเนว ทั้งปวงนั่นเทียว

(สหตฺตนา > สห + อตฺตนา)

สห พร้อมทั้ง

อตฺตนา กับตัวเอง

แปลโดยอรรถ –

กาลเวลาย่อมกินสรรพสัตว์พร้อมทั้งตัวเอง

————–

: เมื่อใดกินเวลาได้

: เมื่อนั้นไม่ถูกเวลากิน

ขอจงยังประโยชน์ตนและประโยชน์ของมวลมหาประชาชนให้สำเร็จ

ด้วยความไม่ประมาทเทอญ

31-12-56

ดูโพสต์ในเฟซบุ๊กของครูทองย้อย