โคตโม (บาลีวันละคำ 4,160)
โคตโม
“ผู้มีรัศมีสว่างที่สุด”
…………..
ในกัปปัจจุบันอันเรียกว่าภัทรกัป มีพระพุทธเจ้ามาตรัสรู้ 5 พระองค์ คือ
(1) กกุสันโธ = พระกกุสันธะ
(2) โกนาคมโน = พระโกนาคมน์
(3) กัสสโป = พระกัสสป
(4) โคตโม = พระโคดม
(5) เมตเตยโย = พระเมตเตยยะ (เรียกกันสามัญว่า พระศรีอารย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย)
พระพุทธเจ้าทั้ง 5 พระองค์นี้ คนไทยเรียกกันมาว่า “พระเจ้าห้าพระองค์”
…………..
“โคตโม” เป็นรูปคำบาลี อ่านว่า โค-ตะ-โม รูปคำเดิมเป็น “โคตม” (โค-ตะ-มะ) รากศัพท์มาจาก –
(1) โค (รัศมี, แสงสว่าง) + ตม ปัจจัย
: โค + ตม = โคตม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้มีรัศมีสว่างที่สุด”
(2) โคตม (มุนีชื่อโคตมะ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: โคตม + ณ = โคตมณ > โคตม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงเป็นเหล่ากอของมุนีชื่อโคตมะเพราะเกิดในวงศ์โคตมะ”
(3) โคตม (กษัตริย์วงศ์โคตมะ) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: โคตม + ณ = โคตมณ > โคตม แปลตามศัพท์ว่า “ผู้ทรงเป็นโอรสแห่งโคตมะ”
(4) โคตม (พระอาทิตย์) + ณ ปัจจัย, ลบ ณ
: โคตม + ณ = โคตมณ > โคตม แปลตามศัพท์ว่า “เหล่ากอของพระอาทิตย์”
“โคตม” แจกด้วยวิภัตตินามที่หนึ่ง (ปฐมาวิภัตติ) เอกวจนะ ปุงลิงค์ เปลี่ยนรูปเป็น “โคตโม” เขียนแบบไทยเป็น “โคดม” อ่านว่า โค-ดม เป็นพระนามพระพุทธเจ้า ใช้ว่า “พระโคดม”
ขยายความ :
“พระโคดม” เป็นนามพระพุทธเจ้าที่มาตรัสรู้ในภัทรกัปนี้เป็นองค์ที่ 4 คือพระพุทธเจ้าองค์ปัจจุบัน (ถ้านับพระพุทธเจ้าทั้งหมดในกัปต่างๆ เริ่มตั้งแต่พระทีปังกรเป็นต้นมา พระโคดมนับเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 25)
สรุปสาระสำคัญในประวัติของพระโคดม เป็นดังนี้
…………..
เมือง = กบิลพัสดุ์
พุทธบิดา = สุทโธทนะ
พุทธมารดา = มายาเทวี
ครองเรือน = 29 ปี
ปราสาท 3 ฤดู = สุจันทะ โกกนุทะ โกญจะ
สนมนารี = สี่หมื่นนาง
มเหสี = ยโสธรา
พระโอรส = ราหุล
พาหนะในวันออกบวช = อัศวราชยาน
บำเพ็ญเพียรก่อนตรัสรู้ = นาน 6 ปี
สถานที่ทรงแสดงปฐมเทศนา = อิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมืองพาราณสี
อัครสาวก = พระสารีบุตรเถระ และพระมหาโมคคัลลานเถระ
พุทธอุปัฏฐาก = พระอานนทเถระ
อัครสาวิกา = พระเขมาเถรี และพระอุบลวรรณาเถรี
อัครอุปัฏฐาก = จิตตคฤหบดี และหัตถกอุบาสกชาวเมืองอาฬวี
อัครอุปัฏฐายิกา= นันทมารดา และอุตราอุบาสิกา
ต้นไม้ตรัสรู้ = อัสสัตถะ (โพใบ)
พระรัศมีจากพระวรกาย = ด้านละวา สูง 16 ศอก
พระชนมายุ = 100 ปี (80 ปี)
พระองค์สูง = 18 ศอก
ประชุมสาวก = 1 ครั้ง จำนวนสาวก 1,250
แสดงธรรมครั้งสำคัญ = 3 ครั้ง
ครั้งที่ 1 จำนวนผู้บรรลุธรรม 18 โกฏิ
ครั้งที่ 2 จำนวนผู้บรรลุธรรม คำนวณนับมิได้
ครั้งที่ 3 จำนวนผู้บรรลุธรรม คำนวณนับมิได้
สถานที่ปรินิพพาน = สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา
พระบรมสารีริกธาตุ = แพร่หลายไปในประเทศต่างๆ
วันเดือนปีสำคัญของพระโคดม
1. เสด็จลงสู่พระครรภ์เมื่อเวลาใกล้รุ่ง วันพฤหัสบดี ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ปีระกา
2. ประสูติเมื่อเวลาสายใกล้เที่ยง วันศุกร์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีจอ
3. ตรัสรู้เมื่อวันพุธ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีระกา
4. เสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อวันอังคาร ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 ปีมะเมีย
ที่มา:
พุทธวงศ์ พระไตรปิฎกเล่ม 33 ข้อ 26
มธุรัตถวิลาสินี (อรรถกถาพุทธวงศ์) หน้า 486-538
…………..
แถม :
สัญลักษณ์สัตว์ประจำพระองค์พระโคดม ตามคติของคนไทยมักเข้าใจกันว่าเป็นโค ดังปรากฏในภาพพระเจ้าห้าพระองค์ที่เผยแพร่กันทั่วไป
เข้าใจว่า อาจเป็นเพราะพระนาม “โคตโม” หรือ “พระโคดม” มีคำว่า “โค” ซึ่งในภาษาบาลีแปลว่า โค ก็ได้ คนทั้งหลายจึงเข้าใจว่า “โค” ในพระนาม “โคตโม” หมายถึง โค คือวัว โคจึงถูกนำมาใช้เป็นสัตว์สัญลักษณ์ประจำพระองค์พระโคดม
โปรดทราบว่า คำว่า “โค” ในพระนาม “โคตโม” หรือ “พระโคดม” นี้ ท่านแปลว่า “พระอาทิตย์” หมายถึง แสงหรือรัศมีที่สว่างที่สุด และยังเป็นชื่อของมุนีและชื่อวงศ์กษัตริย์อีกด้วย รากศัพท์มีความเป็นมาดังแสดงข้างต้น
ตามคำอธิบาย “โคตโม” ท่านไม่ได้หมาย โคคือวัว ตามคติที่คนไทยมักเข้าใจกัน
หมายเหตุ :
สัตว์สัญลักษณ์ประจำพระเจ้าห้าพระองค์ดังที่ปรากฏนั้น ท่านผู้ใดมีหลักฐานว่ามีที่ไปที่มาเป็นประการใด ขอความกรุณานำมาเสนอเพื่อเป็นองค์ความรู้ร่วมกัน จะเป็นพระคุณอย่างยิ่ง ทั้งจะได้แก้ไขความเห็นของผู้เขียนบาลีวันละคำให้ถูกต้องต่อไปด้วย
…………..
ดูก่อนภราดา!
: สิ่งที่ตาเราเห็นอยู่ใกล้ๆ
มันยังไม่ใช่อย่างที่เราคิด
: เรื่องที่ยังอยู่ในดวงจิต
เราอาจจะเข้าใจผิดๆ ไปไต้ตั้งเท่าไร
#บาลีวันละคำ (4,160)
2-11-66
…………………………….
…………………………….